บีเอสเอเครื่องร้อน เดินหน้าปราบละเมิดซอฟต์แวร์เถื่อนทางอินเตอร์เน็ตร่วมมือกับ บก.สศก.จับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ขายซอฟต์แวร์ผีบนเว็บอีกระลอก

กรุงเทพฯ – กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) สนองนโยบายรัฐ เร่งปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมซอฟต์แวร์ให้สิ้นซาก ล่าสุดจับมือตำรวจเศรษฐกิจทะลายแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเมืองไทยแห่งที่ 2 ระบุประสบความสำเร็จและพบเอกสาร ซอฟต์แวร์และซีดีเพลงด้วย

ผู้ละเมิดได้ใช้ที่อยู่ของตนเองเป็นสถานที่ทำการโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้ละเมิดได้โฆษณาธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์นี้บนสื่อออนไลน์และรับคำสั่งซื้อไปจนถึงการชำระเงินจากลูกค้าก่อนที่จะส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ให้กับผู้ซื้อต่อไป หลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าผู้ละเมิดได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ละเมิดสามารถทำรายได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่านั้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 ชุด พร้อมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เปล่าจำนวน 3 ชุด แผ่นซีดีก็อปปี้จำนวน 31 แผ่น ซึ่งล้วนบรรจุโปรแกรมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของสมาชิกบีเอสเอทั้งสิ้น ได้แก่ ไมโครซอฟท์ อะโดบี ออโตเด็สก์ แม็คโครมีเดีย และไซแมนเทค นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบหลักฐานอื่นๆ ด้วยเช่น ใบเสร็จรับเงิน และหมายเลขบัญชีของลูกค้า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ละเมิดแล้ว เนื่องจากในระหว่างการเข้าตรวจค้นจับกุม ผู้ละเมิดไม่ได้อยู่ ณ สถานที่เกิดเหตุ

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการทำซ้ำ หรือแจกจ่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า จะต้องระวางโทษปรับสูงสุด 800,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

มร.ทารุน ซอว์นี่ย์ ผู้จัดการฝ่ายปราบปรามประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบีเอสเอ เปิดเผยถึงรายละเอียดความสำเร็จของการบุกแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของบีเอสเอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (บก.สศก.) ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของบีเอสเอและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบุกทะลายแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทางอินเตอร์เน็ตได้ นับตั้งแต่ได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ของปีที่ผ่านมา

“ทั้งนี้ ในการจับกุมครั้งที่ผ่านมา เราพบว่าผู้ละเมิดไม่เพียงแต่ทำผิดด้วยการเสนอซอฟต์แวร์เถื่อนทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังมีการก็อปปี้เพลงและหนังประเภทลามกอนาจารเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกด้วย มร. ซอว์นี่ย์ กล่าวเสริม

“ถึงแม้คดีละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ตจะค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จากประสบการณ์ของบีเอสเอกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเซียแสดงให้เห็นว่า การละเมิดในรูปแบบดังกล่าวกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และจะต้องกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด ตอนนี้ทางบีเอสเอกำลังสืบสวนติดตามแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่อยู่นอกประเทศไทย” มร. ซอว์นี่ย์ กล่าวต่อ

เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าว บีเอสเอได้จัดให้มีสายด่วนหมายเลข 0 2971 4140 เพื่อรับแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรต่างๆ โดยจะเก็บข้อมูลผู้แจ้งไว้เป็นความลับหรือสำหรับสอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ บีเอสเอมีรางวัลถึง 200,000บาทสำหรับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกชิ้นที่นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีจนถึงที่สุด

“บีเอสเอขอขอบคุณ บก.สศก. อย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือมาโดยตลอดในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่บีเอสเอเดินหน้าปราบละเมิดซอฟต์แวร์เถื่อนทางอินเตอร์เน็ต การดำเนินการดังกล่าวของบีเอสเอและกลุ่มสมาชิกบีเอสเอจะปราศจากความสำเร็จหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์และกรมทรัพย์สินทางปัญญา” มร. ซอว์นี่ย์ กล่าว

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศที่ตระหนักถึงผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยในปี พ.ศ.2537 มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงถึง 87% นับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสามารถลดอัตราการละเมิดให้เหลือเพียง 77% ในปีที่ผ่านมา นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของไอดีซีพบว่า อุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทยสามารถสร้างรายได้ถึง 1,745 ล้านดอลลาร์ให้กับระบบเศรษฐกิจ สามารถสร้างงาน 29,520 อัตราและทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีในส่วนนี้ถึง 92.2 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมาด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ – บีเอสเอ (www.bsa.org) เป็นความร่วมมือของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกซึ่งมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตทั่วโลก นอกจากนี้ บีเอสเอยังเป็นตัวแทนในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกลุ่มผู้บริโภคในระดับนานาประเทศ กลุ่มสมาชิกที่ทางบีเอสเอเป็นตัวแทนมีการเติบโตในอุตสาหกรรมระดับโลกอย่างรวดเร็ว บีเอสเอได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบไซเบอร์

นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีโครงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมนโยบายส่งเสริมให้มีนวัตกรรมและโอกาสในการขยายตัวทางการค้า รวมถึงโครงการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สมาชิกบีเอสเอทั่วโลก ได้แก่ อะโดบี้, แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์, โอโตเด็สก์, เอวิท, เบนท์ลีย์ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, อินเทอร์เน็ต ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์, แม็คโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ทเวิร์ค แอสโซซิเอทส์, และไซแมนเทค

นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีกลุ่มสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทย บีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์