ไอทีวี ย้ำชัด ถูกรัฐบาลทักษิณปฎิเสธแก้สัญญาสัมปทาน ชนวนเหตุสู่การขอความเป็นธรรมในคณะอนุญาโตตุลาการ

ไอทีวีออกโรงแจงรายละเอียดกรณีพิพาทเรื่องสัญญาสัมปทาน ที่อยู่ระกว่างรอคำตัดสินชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ระบุคำร้องขอชดเชยค่าสัมปทานถูกจุดพลุมาตั้งแต่ปลายปี 2542 ก่อนหน้ากลุ่มชินคอร์ปเข้าถือหุ้นไอทีวีเกือบ 2 ปี ซ้ำยังถูกรัฐบาลปัจจุบันบอกปัดการแก้สัญญาถึงขั้นต้องร้องขอความเป็นธรรมแต่คณะอนุญาโตตุลาการ

นางสุจิตตรา คำดี ผู้อำนวยการ สำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ชี้งแจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระกว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยระบุว่ากระแสข่าวที่เกี่ยวหันกับกรณีพิพาทดังกล่าว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่มีความพยายามนำเอากรณีนี้ไปเชื่อมโยงเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง

“โดยความเป็นจริงแล้วกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างไอทีวีกับสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี มีชนวนเหตุมาจากการทำผิดสัญญาที่ปล่อยให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ และการมีโฆษณาในสถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดยรัฐด้วย ในขณะที่มีการต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยมีการจ่ายผลตอบแทนแก่เจ้าของสัมปทานในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานของไอทีวี ดังนั้น ผู้บริหารของไอทีวีจึงได้ทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาหามาตรการชดเชยความเสียหายแก่ไอทีวี โดยหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือเลขที่ ITV-BC026/43 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 มีคุณนพพร พงษ์เวช และคุณศรัณย์พร ชุติมา ลงนามร่วมกันในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของไอทีวีในขณะนั้น”

นางสุจิตรากล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นก่อนที่กลุ่มชินคอร์ปฯ จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวีถึงเกือบ 2 ปี และเมื่อกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรวมถึงเข้ามามีบทบาทในการบริหารไอทีวีในปี 2544 ก็เพียงแต่ติดตามผลในสิ่งที่คณะผู้บริหารชุดก่อนหน้านั้นได้ดำเนินไปเท่านั้นเอง มิได้เป็นผู้ริเริ่มการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

“ผลจากการถูกสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีปฏิเสธการพิจารณามาตรการชดเชยค่าสัมปทานเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ทำให้คณะผู้บริหารนำเรื่องนี้ไปร้องของความเป็นธรรมจากคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ตามครรลองที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน และคณะอนุญาโตตุลาการรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2545”

อย่างไรก็ตาม นางสุจิตตรา กล่าวในที่สุดว่า ผลการพิจารณาตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยดุลยพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่มีความเชื่อมั นในความเป็นธรรมที่จะได้รับจากการพิจารณากรณีนี้บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ด้วยความเป็นอิสระ ปราศจากอิทธิพลชี้นำใดๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการทุกท่าน