แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2547 … การเติบโตสูงขึ้นจากปัจจัยด้านการลงทุน

ภาวะอุตสาหกรรมในปี 2546 มีการเติบโตอย่างมาก โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ขณะที่ในด้านการลงทุน การลงทุนในภาคเอกชนขยายตัวได้ดีแต่การลงทุนของภาครัฐหดตัวลง ในปี 2547 ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อน การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวดีแต่อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยเทียบกับปีก่อนหน้า ในด้านความต้องการภายในประเทศมีเพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวดีแม้อาจชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่การลงทุนจะขยายตัวเร่งขึ้นและจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนของภาครัฐคาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สำคัญรัฐบาลยังได้มีการตั้งงบประมาณกลางปีในส่วนของงบลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท

ในปี 2547 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีในภาคอุตสาหกรรมจะมีมูลค่าสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เทียบกับ 2.08 ล้านล้านบาทในปี 2546 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5) หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาปีฐานที่ร้อยละ 12 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ MPI คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 13.5

การเติบโตของการผลิตจะทำให้ระดับอัตราการใช้กำลังผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยถ้าไม่มีการขยายกำลังเพิ่มจะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 76% แต่เนื่องจากในปีข้างหน้าคาดว่าหลายอุตสาหกรรมมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2547 น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 70% จากระดับ 66% ในปี 2546 ซึ่งเป็นระดับที่ปรับสูงขึ้นมาใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน

อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงเกิน 80% (ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะเกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต) มีเพียงประมาณร้อยละ 11 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป และถ้าไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามา อุตสาหกรรมที่จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเกินกว่า 80% จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 40 ในปี 2547 และอาจสูงกว่าร้อยละ 60 ในปี 2548

อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังผลิตสูง และมีความเป็นไปได้ที่น่าจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาภายในระยะ 2-3 ปีนับจากนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งหลายบริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมประเภทแผงวงจรไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ เหล็กแผ่นชุบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็น เหล็กลวด ปิโตรเคมีขั้นต้น กระจกแผ่น เยื่อกระดาษ เส้นใยสังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์นม เบียร์

ในด้านของราคาสินค้า ในปี 2547 มีโอกาสที่สินค้าจะทะยอยปรับราคาขึ้น จากการที่วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับกำลังผลิตส่วนเกินที่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเพิ่มขึ้นของระดับราคายังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินยังอยู่ในระดับสูง จึงน่าจะยังไม่มีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคธุรกิจและลดต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจได้

ปัจจัยพึงระวังสำหรับภาคอุตสาหกรรมในปี 2547 ได้แก่

• ความผันผวนของค่าเงิน โดยถ้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค การส่งออกของไทยคงถูกกระทบจากปัจจัยด้านค่าเงินไม่มากนัก แต่ถ้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนหรือแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคก็อาจกระทบต่อผลกำไรและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้
• ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น
• การที่วัตถุดิบและสินค้าปัจจัยการผลิต เช่น เหล็ก เคมีภัณฑ์ มีราคาสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต
• มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกบางรายการ เช่น สหรัฐอาจใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อกุ้งนำเข้า หรือมาตรการของกลุ่มสหภาพยุโรป โดยระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) จะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2547 นี้ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศผู้นำเข้าใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศคู่แข่งอาจทำให้สินค้าของไทยแข่งขันได้ดีขึ้น เช่น การที่สหรัฐเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเครื่องรับโทรทัศน์จากจีนและมาเลเซีย หรือการควบคุมโควต้านำเข้าสินค้าสิ่งทอบางรายการจากจีน
• การเปิดเขตการค้าเสรี แม้โดยเป้าหมายโดยรวมจะส่งผลดีต่อการขยายตลาดทางการค้าและดึงดูดการลงทุนมาสู่ประเทศ แต่ในฐานะผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวและปรับตัวรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่สินค้ามีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง
• ปัญหาการก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามที่จะเป็นอุปสรรคต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก
• ปัญหาโรคระบาดในปศุสัตว์ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศในเอเชียขณะนี้เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจถ้าการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น