การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน : ธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม

การเลี้ยงไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ความนิยมของไก่พื้นบ้านนั้นแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ การบริโภคเนื้อไก่บ้าน การเลี้ยงในลักษณะไก่สวยงาม และการเลี้ยงไว้เพื่อกีฬาชนไก่ โดยลักษณะเด่นของไก่พื้นบ้านคือการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใสและเป็นธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม

ไก่พื้นบ้านในประเทศไทยจำแนกได้เป็น 4 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ไก่อูหรือไก่ชน ไก่แจ้ ไก่ตะเภา และไก่ลูกผสมหรือไก่กลายพันธุ์ ไก่พื้นเมืองไทยยังมีคุณลักษณะเด่นโดยเฉพาะเนื้อแน่น และรสชาติอร่อย ทำให้เป็นที่นิยมบริโภค ไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของพันธุ์ และสายพันธุ์ตามสภาพท้องที่ต่างๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงหลักคือ เพื่อป้อนตลาดไก่เนื้อและไข่ไก่ ซึ่งที่นิยมเลี้ยงกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ ไก่ที่มีผิวหนังสีเหลืองและสีขนดำ นอกจากนี้ความนิยมการเลี้ยงไก่พื้นบ้านบางส่วนนั้นเป็นการเลี้ยงในลักษณะไก่สวยงามเพื่อประกวดแข่งขันกัน และเลี้ยงไว้ในการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะไก่ชน

จากสถิติของกรมปศุสัตว์ จำนวนไก่พื้นเมืองในประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2545 เท่ากับ 57.76 ล้านตัว โดยมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองกระจายอยู่ทั่วประเทศ 6,785 ฟาร์ม แยกเป็นฟาร์มขนาดเล็ก(จำนวนไก่พื้นเมืองต่ำกว่า 1,000 ตัว)ร้อยละ 87.5 ฟาร์มขนาดกลาง(จำนวนไก่พื้นเมือง 1,001-2,000 ตัว) ร้อยละ 4.4 ฟาร์มขนาดใหญ่(จำนวนไก่พื้นเมืองมากกว่า 2,000 ตัว) ร้อยละ 8.1 โดยการเลี้ยงไก่พื้นเมืองมีการกระจายตัวในแต่ละภาคดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 43.5 ภาคเหนือร้อยละ 34.0 ภาคกลางร้อยละ 12.8 และภาคใต้ร้อยละ 9.8 ในจำนวนไก่พื้นบ้านทั้งหมดนั้นนอกจากส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงเพื่อป้อนตลาดในลักษณะเนื้อไก่และไข่ไก่แล้ว ไก่อูหรือไก่ชนนั้นก็เป็นไก่พื้นบ้านอีกประเภทหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงเพิ่มขึ้น

กรมปศุสัตว์มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองในเชิงอนุรักษ์และเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งโครงการอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองจัดให้มีจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในเรื่องของการสาธิตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองขึ้นในจังหวัดต่างๆเพื่อจะให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์ การเลี้ยง ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพในเรื่องของการตลาด ซึ่งโครงการนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมไก่พื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญยังจะช่วยให้สามารถรักษาสายพันธุ์ลักษณะดีไว้อย่างยั่งยืนอีกด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจแยกประเภทของไก่พื้นบ้านที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการบ่งชี้ถึงแนวโน้มของการผลิตและความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับไก่พื้นบ้านทั้งในด้านการผลิตและการตลาดนั้นมีรายละเอียดเฉพาะในเรื่องไก่ชน เนื่องจากความตื่นตัวในการเลี้ยงไก่ชนนั้นมีค่อนข้างมาก และมูลค่าเศรษฐกิจของธุรกิจไก่ชนนับว่ามหาศาลทีเดียว กรมปศุสัตว์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ชนไทย จึงพยายามนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ พร้อมกับการจัดทำยีนส์แบงก์หรือธนาคารน้ำเชื้อไก่ชนไทยที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะทำการรวบรวมน้ำเชื้อสายพันธุ์ต่างๆเอาไว้เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเปิดให้บริการน้ำเชื้อไก่ชนสายพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการ และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนไก่เพื่อรองรับสายพันธุ์อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจไก่ชนในอนาคต

โดยกรมปศุสัตว์คาดว่าผลของแผนการปรับปรุงพันธุ์ไก่ชนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 นี้จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไก่ชนพันธุ์ดีให้กับตลาดได้อีกถึงปีละ 63 ล้านตัว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจปริมาณไก่ชนในประเทศ แต่วงการค้าไก่ชนคาดว่ามีจำนวนไก่ชนในประเทศประมาณ 16-17 ล้านตัว อย่างไรก็ตามการผลิตในปัจจุบันนั้นยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด เนื่องจากยังไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ความต้องการไก่ชนนั้นแบ่งแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นิยมเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาชนไก่ กับกลุ่มที่นิยมกินเนื้อที่เรียกกันว่าไก่บ้านหรือไก่พื้นเมือง แม้ว่าราคาจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับไก่เนื้อทั่วๆไป แต่ความต้องการก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนเป็นอาชีพทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลักสามารถทำรายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงถือได้ว่าไก่ชนเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้ในปัจจุบันไก่ชนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตามอง แม้ว่ากีฬาไก่ชนถูกมองว่าเป็นการพนัน และการทรมานสัตว์ แต่อนาคตของธุรกิจการเลี้ยงไก่ชนยังน่าสนใจ

เนื่องจากมีการปรับปรุงกฎกติกาการแข่งขันไก่ชนสมัครเล่นให้เป็นสากลที่ไม่เป็นการทรมานสัตว์และป้องกันการบาดเจ็บของไก่ ทำให้ไก่ชนมีตลาดที่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่ยังคึกคักตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปถึงผู้มีอันจะกิน รวมทั้งตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากไก่ชนไทยสวย สง่า และมีความสามารถในเชิงกีฬา ทำให้ไก่ชนไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากในต่างประเทศ

จากความนิยมไก่ชนทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้อาชีพการเลี้ยงไก่ชนสร้างงานให้กับเกษตรกรทั้งในลักษณะเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมรายได้ รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดีอีกด้วย ในปัจจุบันการเลี้ยงไก่ชนแม้ว่าจะเป็นที่แพร่หลายมาก แต่ไก่ชนที่มีคุณภาพยังหาได้ไม่ง่ายนัก การพัฒนาไก่ชนจึงเป็นงานท้าทายสำหรับการเลี้ยงไก่ชนในเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนั้นกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด งดอนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่ ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้โดยเร็ว (กระทรวงมหาดไทยเคยมีคำสั่งวันที 6 มกราคม 2547ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตเล่นการพนันชนไก่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยการอนุมัติให้จัดการเล่นการพนันชนไก่เพิ่มขึ้นใหม่หรือการขอย้ายสถานที่เล่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ชน) ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ธุรกิจการเลี้ยงไก่ชนเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยนั้นได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง

ราคาไก่ชนโดยเฉลี่ยกำหนดราคาตามอายุไก่ ความพึงพอใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และการเจรจาต่อรองของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งมีตั้งแต่ระดับราคาตัวละไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงราคาตัวละเป็นหมื่นบาทหรือมากกว่านั้น ตลาดไก่ชนในประเทศมีอยู่ทั่วประเทศในทุกๆจังหวัด สามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในลักษณะปากต่อปาก จากผลงานของคนที่ซื้อไปแล้วนำไปชน อีกกลุ่มหนึ่งทราบข่าวจากสื่อต่างๆก็จะมีการสั่งซื้อทางโทรศัพท์โดยจะบอกขนาดและลักษณะไก่ที่ต้องการ หลังจากนั้นทางฟาร์มไก่ชนจะจัดส่งให้ โดยบางฟาร์มมีการจัดทำกล่องใส่เป็นการเฉพาะ มีตรายี่ห้อและชื่อของฟาร์มทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษระบุไว้ข้างกล่องด้วย

ส่วนการซื้อไก่ชนของลูกค้าในต่างประเทศจะมีนายหน้าเข้ามาติดต่อซื้อขาย โดยตลาดส่งออกสำคัญของไก่ชนส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากกีฬาไก่ชนเป็นกีฬาและวัฒนธรรมพื้นบ้านในประเทศแถบเอเชียมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามไก่ชนของไทยเริ่มมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และไต้หวัน อีกทั้งยังมีโอกาสในการส่งออกไปยังญี่ปุ่น เวียดนามและจีน เนื่องจากในญี่ปุ่นก็นิยมการชนไก่เช่นเดียวกัน ในเวียดนามกีฬาไก่ชนถือเป็นวัฒนธรรมและประเพณี และในจีนนั้นกีฬาไก่ชนนิยมแพร่หลายมากเช่นกัน

สถิติการส่งออกไก่ชนจากกรมปศุสัตว์ในปี 2545 เท่ากับ 5,666 ตัว มูลค่า 3,089,900 บาท เมื่อเทียบกับในปี 2544 แล้วปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 62.0 ทั้งนี้เนื่องจากราคาส่งออกไก่ชนเฉลี่ยในปี 2545 ลดลงเหลือเพียงตัวละ 545 บาท ในขณะที่ราคาเฉลี่ยในปี 2544 สูงถึงตัวละ 1,475 บาท โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียนั้นราคาเฉลี่ยตัวต่อนั้นลดลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการนำเข้าในลักษณะเป็นลูกไก่ชนมากกว่าการนำเข้าไก่ที่โตแล้ว โดยจำนวนฟาร์มเลี้ยงไก่ชนในอินโดนีเซียนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาสถิติการส่งออกไก่ชนในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการส่งออกไก่ชนมีแนวโน้มค่อนข้างดี

ตลาดส่งออกไก่ชนของไทยที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ อินโดนีเซียโดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 71.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือมาเลเซีย คูเวต และบาร์เรน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศที่มีการนำเข้าไก่ชนจากไทยอย่างสม่ำเสมอ คือ อินโดนีเซีย บรูไน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่จะเป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับการส่งออกไก่ชนของไทยต่อไปคือ ตลาดประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะคูเวต สหรัฐอาหรับอิมิเรต และบาร์เรน ส่วนตลาดในเอเชียที่น่าจับตามอง คือ มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามการส่งออกไก่ชนมีชีวิตนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจไก่พื้นบ้านเท่านั้น

อีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกเนื้อไก่บ้าน ซึ่งในช่วงที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเนื้อแน่น และเป็นไก่ที่เลี้ยงโดยธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรวบรวมสถิติแยกไว้ระหว่างไก่เนื้อและไก่พื้นบ้าน ทั้งปริมาณการบริโภคในประเทศ และการส่งออก ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการตลาดของธุรกิจไก่พื้นบ้านอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจะทำให้ธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านซบเซาลงไปบ้าง เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่พื้นบ้านบางส่วนอยู่ในข่ายที่ต้องทำลายไก่ที่เลี้ยงไว้ตามเงื่อนไขของการป้องกันการแพร่ระบาด และมีการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งการห้ามมีการเปิดบ่อนไก่ชน และยังมีผลกระทบต่อการส่งออกไก่พื้นบ้านทั้งในลักษณะไก่มีชีวิตและการส่งออกในลักษณะเนื้อไก่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสิ้นสุดลงแล้ว คาดว่าอนาคตของธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านจะสามารถพลิกกลับมาเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสได้เช่นเดิม

แต่เกษตรกรต้องหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตไก่พื้นบ้านให้มากขึ้นโดยการคงสภาพข้อดีของไก่พื้นบ้านโดยเฉพาะการเลี้ยงตามธรรมชาติ รสชาติดี และเนื้อแน่นเอาไว้ ขณะเดียวกันต้องแก้ไขข้อเสียของการเลี้ยงไก่พื้นบ้านรูปแบบเดิมโดยเฉพาะการปรับเทคนิคการเลี้ยงให้เป็นการเลี้ยงในลักษณะเดียวกับโรงเรือนแบบปิดทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาด โดยถือว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านต้องมีการปรับเทคนิคการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตไก่พื้นบ้านนั้นเพียงพอกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสำรวจปริมาณการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ในข้อมูลเชิงลึกโดยแยกประเภทของไก่พื้นบ้านอย่างละเอียด ส่วนข้อมูลการบริโภคในประเทศก็ต้องมีการสำรวจแยกปริมาณความต้องการบริโภคไก่พื้นบ้านด้วย สำหรับตลาดไก่สวยงามก็ควรจะมีการสำรวจสถานการณ์ด้านการตลาด นอกจากนี้ในการส่งออกนั้นควรต้องแยกพิกัดไก่พื้นบ้านออกมาต่างหาก ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลสภาพการผลิตและการตลาดของไก่พื้นบ้านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การคาดการณ์แนวโน้มและการส่งเสริมต่างๆของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น