ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย : ตลาดโลกเปิดกว้าง…ลู่ทางสดใส

การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา ส่วนผสมเพื่อแต่งกลิ่นในสินค้าอุปโภค เช่น ขนมขบเคี้ยว ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง(น้ำหอม และสิ่งปรุงแต่งสำหรับผม) ความต้องการใช้น้ำมันหอมระเหยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจสินค้าประเภทตกแต่งกลิ่นจากสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้นกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารตกแต่งกลิ่นสังเคราะห์

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง และมีการใช้น้ำมันหอมระเหยในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ แต่การขยายตัวของการส่งออกน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากตลาดน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์เป็นตลาดเฉพาะ นับว่ายังเป็นโอกาสของไทยในการเจาะโลก และผลักดันให้น้ำมันหอมระเหยของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้น

น้ำมันหอมระเหยในตลาดโลก

ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยได้จากการสกัด/สังเคราะห์จากพืชหรือสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3,000 ชนิด อย่างไรก็ตามมีน้ำมันหอมระเหยเพียง 200-300 ชนิดเท่านั้นที่มีการค้ากันอย่างกว้างขวางในตลาดโลก โดยน้ำมันหอมระเหยที่มีการผลิตและการค้าในตลาดโลกนั้นร้อยละ 50 ผลิตมาจากพืชที่มีการปลูกในเชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมและเก็บจากพืชพรรณป่า โดยน้ำมันหอมระเหยที่มีการผลิตและการค้ากันอย่างกว้างขวางในตลาดโลก 10 ประเภทแรกนั้น (น้ำมันหอมระเหยจากพืชตระกูลส้ม, Cornmint, ยูคาลิปตัส, Peppermint, เลมอน, ไม้ซีดาร์ ฯลฯ) ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ส่วนตลาดอีกร้อยละ 20 นั้นเป็นน้ำมันหอมระเหยอีกประมาณ 150 ชนิด ประเภทของน้ำมันหอมระเหยที่มีบทบาทสำคัญในการค้าในตลาดโลกที่น่าสนใจ คือ น้ำมันหอมระเหยจากพืชตระกูลส้ม(Citrus) โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยประเภทนี้กันอย่างมากในสหรัฐฯ บราซิล และเม็กซิโก ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่มีความสำคัญรองลงมาคือ มินต์(Mint) ซึ่งน้ำมันมินต์ที่นิยมในตลาดโลกมีอยู่ 3 ชนิด คือ Peppermint, Spearmint, Cornmint ซึ่งมินต์สองชนิดแรกมีการผลิตมากในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Peppermint มีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่า ส่วน Cornmint นั้นมีการผลิตมากในจีน อินเดีย และประเทศแถบอเมริกาใต้ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาว (Lemon Fragrance Oils)มีการใช้มากในอุตสาหกรรมสบู่ (Soaps and Detergents) มีการผลิตมากในจีน อินเดีย และประเทศแถบอเมริกาใต้ เนื่องจากประเทศในแถบนี้มีค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และน้ำมันยูคาลิปตัส(Eucalyptus) มีการผลิตมากในออสเตรเลีย บราซิล จีน และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ และน้ำมันไม้ซีดาร์(Cedarwood Oil) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดในประเทศแถบอเมริกาเหนือ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมไม้ อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียก็มีการผลิตน้ำมันประเภทนี้มากเช่นกัน

มูลค่าการค้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกในปี 2541 เท่ากับ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมูลค่าการค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการอุตสาหกรรมแต่งกลิ่นอาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องหอมที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาความต้องการน้ำมันหอมระเหยในตลาดโลกมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปี ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงคือ การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.9 การผลิตเคมีภัณฑ์จากพืชขยายตัวร้อยละ 9.8 และการผลิตหมากฝรั่ง เจลและโพลีเมอร์ขยายตัวร้อยละ 7.4 ซึ่งถ้ามูลค่าการค้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ยังรักษาอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.1 คาดว่าในปี 2547 มูลค่าการค้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์จะสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตหลักของน้ำมันหอมระเหย คือ บราซิล จีน สหรัฐฯ อียิปต์ อินเดีย เม็กซิโก กัวเตมาลา และอินโดนีเซีย จะเห็นได้ว่านอกจากสหรัฐฯแล้วประเทศต่างๆที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหอมระเหยของโลกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำ ส่วนประเทศที่มีการใช้น้ำมันหอมระเหยในตลาดโลก 3 อันดับแรกคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันหอมระเหยทั้งหมด รองลงมาคือ ประเทศในยุโรปตะวันตกร้อยละ 30 และญี่ปุ่น ร้อยละ 7

ต้นทุนและผลตอบแทนของน้ำมันหอมระเหยนั้นแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะประเภทของน้ำมันหอมระเหยซึ่งใช้เทคนิคและเครื่องมือในการสกัดที่แตกต่างกัน ราคาของน้ำมันหอมระเหยนั้นแตกต่างกันอย่างมากเช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่ราคาน้ำมันหอมระเหยจากส้ม 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลกรัม ไปจนถึงน้ำมันดอกกุหลาบที่ราคาสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ราคาของน้ำมันหอมระเหยจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงโดยตัวแปรสำคัญคือปริมาณการผลิตของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมันหอมระเหย

แนวโน้มการขยายตัวของตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยที่น่าจับตามอง มีดังนี้

1.ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตพืชที่ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยมีการขยายปริมาณการผลิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยในอุตสาหกรรมต่างๆเริ่มมีการติดต่อโดยตรงกับแหล่งผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยตามความต้องการทั้งในด้านปริมาณ ราคา และคุณภาพของสินค้า รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องความแน่นอนของสินค้าอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยกันอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต้องการน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติเฉพาะมากขึ้นทั้งนี้เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ

2.มีการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆของน้ำมันหอมระเหยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาตำแหน่งทางการตลาด และการคิดค้นน้ำมันหอมระเหยกลิ่นใหม่ๆ และสัดส่วนการผสมของน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ดังนั้นการทำข้อตกลงซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่างๆที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นวัตถุดิบนั้นจึงเป็นการสร้างความตื่นตัวอยู่เสมอในอันที่จะตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นวัตถุดิบในอนาคต

3.การคิดค้นผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยเพื่อตอบสนองตลาดเฉพาะส่วนมากขึ้น แม้ว่าในตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยนั้นจะเป็นการยากที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ใหม่ๆจากน้ำมันหอมระเหยนั้นต้องมีการวิจัยและค้นคว้าอย่างลึกซึ้งว่าน้ำมันหอมระเหยประเภทใดเป็นที่ต้องการและผู้บริโภคมีแนวโน้มชื่นชอบ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสามารถเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยบางประเภทนั้นมีข้อจำกัดในด้านมาตรฐานการผลิตซึ่งต้องการเครื่องมืออุปกรณ์ที่ซับซ้อนในการผลิต เช่น น้ำมันดอกกุหลาบ และน้ำมันบอโรเนีย(Boronia) เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีเงื่อนไขเหล่านี้ครบถ้วนก็มีแนวโน้มที่สามารถจะเจาะตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยได้ กรณีตัวอย่างคือการสร้างตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยเฉพาะประเภทเพื่อตอบสนองตลาดเสริมความงาม โดยเฉพาะตลาดสุคนธบำบัด(Aromatherapy) และตลาดนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากและมีการผลิตอย่างกว้างขวาง

ตลาดน้ำมันหอมระเหยในประเทศไทย

การผลิตน้ำมันหอมระเหยในประเทศไทย มีโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหยที่จดทะเบียนไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่ราว 51 โรงงาน(ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตน้ำมันไม้กฤษณา) ใช้แรงงานทั้งสิ้น 1,928 คน วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโดยส่วนใหญ่เป็น พืชและส่วนต่างๆของพืชที่หาได้ในประเทศ ส่วนสารเคมี/สารทำละลายยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โครงสร้างต้นทุนการผลิตแยกเป็นวัตถุดิบร้อยละ 53 (สัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศต่อวัตถุดิบนำเข้าร้อยละ 30-40:60-70) ค่าแรงร้อยละ 12 ค่าเสื่อมราคาร้อยละ 7 ดอกเบี้ยจ่ายร้อยละ 21 และต้นทุนการผลิตอื่นๆร้อยละ 7

สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตเครื่องจักรเพื่อสกัดน้ำมันหอมระเหยในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย การผลิตมีขั้นตอนที่ซับซ้อนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นในปัจจุบันจึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สำหรับกำไรเฉลี่ยในอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 3-5 ต่อยอดขาย ซึ่งจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมันหอมระเหย และคุณภาพของน้ำมันหอมระเหยที่ผลิตได้ ซึ่งจะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับราคาจำหน่ายของน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากการผลิตยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหอมจากต่างประเทศ ทั้งนี้ภาครัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในด้านบุคลากร และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรประเภทหนึ่งที่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ยา และเครื่องสำอาง และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ เป็นรายได้เสริมอีกด้วย

การค้าน้ำมันหอมระเหย…ยังต้องพึ่งพาการนำเข้า

ปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจมูลค่าของตลาดน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยเป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยด้วยทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคบางกลุ่ม ซึ่งทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในปี 2546 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์เท่ากับ 34,461 ตัน มูลค่า 14,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึงร้อยละ 58.7 ต่อปีและร้อยละ 76.3 ต่อปีตามลำดับ โดยแยกเป็น

-การนำเข้าน้ำมันหอมระเหย 1,764 ตัน มูลค่า 876 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึง 2.4 เท่าตัวและ 1.6 เท่าตัวตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าหลักของไทยคือ ฮ่องกง สหรัฐฯ จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย

-การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย 32,697 ตัน มูลค่า 13,924 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึงร้อยละ 56.2 และ 77.0 ตามลำดับ ซึ่งแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยนั้นจะแตกต่างกันตามประเภทของผลิตภัณฑ์ กล่าวคือของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมแหล่งนำเข้าหลักคือ สิงคโปร์ สหรัฐฯ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และญี่ปุ่น หัวน้ำหอมและน้ำหอมแหล่งนำเข้าหลักคือ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อังกฤษ อิตาลี จีน สเปน และอินโดนีเซีย สิ่งปรุงแต่งที่ใช้เสริมความงามและสิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผมแหล่งนำเข้าหลักคือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และสิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากแหล่งนำเข้าหลัก คือ เวียดนาม สหรัฐฯ จีน มาเลเซีย ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์

แม้ว่าไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยบางประเภทนั้นไทยไม่สามารถผลิตได้เอง และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยบางประเภทนั้นำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ไทยก็มีการส่งออกน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์เช่นกัน โดยทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ ในปี 2546 ปริมาณการส่งออกน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์เท่ากับ 148,220 ตัน มูลค่า 19,096 ล้านบาทเมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึง 1.4 และ 1.6 เท่าตัวตามลำดับ โดยแยกเป็น

-การส่งออกน้ำมันหอมระเหย 1,356 ตัน มูลค่า 1,280 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึง 7.0 เท่าตัวและ 3.4 เท่าตัวตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าหลักของไทยคือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น พม่า สหรัฐฯ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เม็กซิโก และเวียดนาม

-การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย 146,864 ตัน มูลค่า 17,816 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวถึง 1.4 เท่าตัว และ 1.6 เท่าตัวตามลำดับ ซึ่งแหล่งส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยนั้นจะแตกต่างกันตามประเภทของผลิตภัณฑ์ กล่าวคือของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมแหล่งส่งออกหลักคือ ออสเตรีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม พม่า สิงคโปร์ และมาเลเซีย หัวน้ำหอมและน้ำหอมแหล่งส่งออกหลักคือ เยอรมนี สเปน เบลเยี่ยม อังกฤษ สวีเดน โปแลนด์ และฝรั่งเศส สิ่งปรุงแต่งที่ใช้เสริมความงามและสิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผมแหล่งส่งออกหลักคือ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น กัมพูชา และสหรัฐอาหรับอิมิเรตต์ และสิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากแหล่งนำเข้าหลัก คือ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย

จะเห็นได้ว่าไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางส่วนเป็นตลาดเฉพาะ(Nich Market) ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมการผลิตน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและมีคุณภาพดีแล้ว นอกจากจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศในอนาคตได้แล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมการส่งออกทั้งน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์อีกด้วย

แนวโน้มในอนาคต

ตลาดน้ำมันหอมระเหยเป็นตลาดที่กว้าง เนื่องจากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆล้วนจำเป็นต้องใช้น้ำมันหอมระเหยแทบทั้งสิ้น และสามารถผลิตเพื่อการส่งออกได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่าประเทศไทยคงต้องพยายามเจาะตลาดโดยการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่ต่างประเทศไม่สามารถผลิตได้ โดยอาศัยวัตถุดิบภายในประเทศ เช่น กระชาย มะกรูด ใบเตย หญ้าแฝก ไม้ดอกเมืองร้อนประเภทต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่แปลกแตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ประเทศในแถบยุโรป สหรัฐฯ และจีน

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชชนิดต่างๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ ธัญพืช ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร เครื่องเทศ และไม้หอม ดังนั้นจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากพืชในทางการค้ามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านความหลากหลายของพันธุ์พืชที่สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ นอกจากนี้ทางกรมวิชาการเกษตรมีเทคโนโลยีในการผลิตน้ำมันหอมระเหยที่พร้อมจะถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในการผลิต

ซึ่งการลงทุนผลิตน้ำมันหอมระเหยในช่วงแรกอาจจะใช้ห้องทดลองของกรมวิชาการเกษตรในการผลิตไปก่อนเพื่อที่จะทดสอบความต้องการของตลาด เมื่อทราบความต้องการของตลาดแล้วจึงค่อยลงทุนสร้างโรงงาน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ นอกจากนี้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในการผลิตน้ำมันหอมระเหยให้แก่ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขยายผลในเชิงพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ที่สนใจลดต้นทุนการผลิตได้

เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยเทคโนโลยีการผลิต สามารถใช้ผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรไปเป็นต้นแบบในการผลิต ซึ่งแนวทางความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีการผลิตเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะมีส่วนผลักดันการส่งออกน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก