ไทย & มาเลเซีย : ร่วมผ่อนคลายไฟใต้ ต้อนรับค้าชายแดนสุกใส

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 12 เมษายน 2547 เพื่อประสานความร่วมมือในการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับพื้นที่ทางภาคเหนือของมาเลเซีย เหตุการณ์ไม่ปกติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยในพื้นที่ดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตใหม่ โดยเพิ่มความระมัดระวังเพื่อป้องกันภัยอันตรายมากขึ้น และลดพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงลง

ไม่ว่าจะเป็นการออกจากบ้านพักอาศัยในยามค่ำคืน การรับประทานอาหารค่ำนอกบ้าน การสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามร้านน้ำชา-กาแฟช่วงกลางคืน รวมถึงการพักผ่อนตามสถานเริงรมย์ การละเว้นวิถีชีวิตดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัตตาคารร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่มประเภทน้ำชา-กาแฟ สถานบันเทิงต่างๆ รวมทั้งร้านขายของเบ็ดเตล็ดทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพสวนยาง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยภาคใต้ส่วนใหญ่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยชาวสวนยางจะออกไปกรีดยางในตอนรุ่งสาง แทนการกรีดยางระหว่างเวลาตี 2 – ตี 3 อย่างที่เคยทำ ซึ่งเป็นช่วงเวลากรีดยางที่เหมาะสม เพราะต้นยางพาราผลิตน้ำยางจำนวนมากในช่วงนั้น การที่ชาวสวนยางจำเป็นต้องเลื่อนเวลาออกกรีดยาง โดยรอให้ฟ้าสว่างเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางพาราที่กรีดได้มีจำนวนน้อยกว่าปกติ โดยทั่วไป ผลผลิตน้ำยางพาราในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม จะมีจำนวนลดน้อยลงตามฤดูกาลอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ต้นยางผลัดใบ ทำให้ต้นยางพาราผลิตน้ำยางลดลง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเวลาการกรีดยาง จึงยิ่งทำให้ปริมาณการผลิตน้ำยางปีนี้น้อยลง

สถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการประกอบสัมมาอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทยภาคใต้ในขณะนี้ รวมทั้งมีผลเชื่อมโยงต่อความเป็นอยู่ของชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนที่ติดต่อกับตอนใต้ของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียครั้งนี้ คาดว่าน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศทั้งสอง ตลอดจนประสานความร่วมมือกันในการบรรเทาวิกฤตความไม่สงบบริเวณจังหวัดชายแดนไทยที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และประชาชนของทั้งสองประเทศกลับมาดำเนินชีวิตด้วยความสงบร่มเย็น ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – มาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย และเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยระดับแนวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการท่องเที่ยว ชาวมาเลเซียครองแชมป์นักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย ด้านการค้าทั่วไป ไทยส่งสินค้าไปขายในตลาดมาเลเซียมากอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน ทางด้านการค้าชายแดน มาเลเซียเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าขายชายแดนกับไทยมากเป็นอันดับ 1 สำหรับด้านการลงทุน มาเลเซียเป็นนักลงทุนในกลุ่มอาเซียนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยยืดเยื้อเรื้อรัง จะส่งผลบั่นทอนบรรยากาศการค้า และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียให้อึมครึมลง ขณะนี้เหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียแล้ว และคาดว่าจะกระทบต่อการค้าชายแดนไทย – มาเลเซียเช่นกัน สรุปได้ดังนี้

ผลกระทบท่องเที่ยวไทย – มาเลเซีย

สถานการณ์เปราะบางทางภาคใต้ของไทย ส่งผลให้ชาวมาเลเซียเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขตจังหวัดชายแดนไทย อย่างไรก็ตาม แหล่งท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจำนวนมากนิยมเดินทางเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในประเทศไทย มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวยังคงมีความสงบเรียบร้อย จึงคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียบางกลุ่มยังคงสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอำเภอหาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์กลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมักมาร่วมสนุกสนานสัมผัสบรรยากาศในวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของไทย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่จะเข้ามาร่วมเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คาดว่าคงไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านๆมา

นักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 1,200,000 คน/ปีในช่วงระหว่างปี 2544-2546 ประเทศไทยได้รับรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียราว 20,000 ล้านบาท/ปี

ถึงแม้ในระยะนี้การท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยอาจดูเงียบเหงาลงบ้าง แต่คาดว่าการพบปะหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย รวมถึงมาตรการต่างๆของรัฐบาลไทยที่พยายามกอบกู้คลี่คลายวิกฤตภาคใต้อย่างจริงจัง จะนำความสงบเรียบร้อยคืนสู่แผ่นดินภาคใต้โดยเร็ว ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวมาเลเซียให้รู้สึกปลอดภัยที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเช่นเดิม จึงคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวทางภาคใต้ของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2547 น่าจะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ผลกระทบการค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย

การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียในช่วงต้นปี 2547 ยังมิได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถกลับสู่ความสงบโดยเร็ว คาดว่าการค้าตามแนวชายแดนไทย–มาเลเซียอาจประสบภาวะซบเซาลงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนชาวไทยและชาวมาเลเซียส่วนใหญ่อาจเลื่อนการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ทำให้ความต้องการซื้อขายสินค้าลดน้อยลง จึงคาดว่าการค้าชายแดนไทย–มาเลเซียอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย

มาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยมากที่สุด โดย พม่า ตามมาเป็นอันดับ 2 ส่วน ลาวและกัมพูชา อยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 4 ตามลำดับ การค้าขายชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียสดใสอย่างมากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการค้าชายแดนรวม (ส่งออก+นำเข้า) สูงกว่า 100,000 ล้านบาทติดต่อกันในปี 2545-2546 เปรียบเทียบกับการค้าชายแดนไทย–พม่า มีมูลค่ารวมประมาณ 58,000 ล้านบาทในปี 2546 ขณะที่การค้าชายแดนไทย–ลาว และการค้าชายแดนไทย–กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ในระดับเฉลี่ยใกล้เคียงกันประมาณ 20,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ประเด็นการค้าชายแดนไทย–มาเลเซีย ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

– ส่งออกชายแดนไทยไปมาเลเซียพุ่ง การส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปมาเลเซียทำสถิติทะลุระดับ 100,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2546 โดยมีมูลค่าส่งออกชายแดน 132,968 ล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึง 53% การส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปมาเลเซียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ มูลค่าส่งออกชายแดนไทยไปมาเลเซียเพิ่มขึ้น 33% อยู่ในระดับ 23,941 ล้านบาทในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2547 ขณะที่การนำเข้าสินค้าชายแดนจากมาเลเซียขยายตัวรวดเร็วเช่นกัน มีมูลค่า 56,450 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่ม 33% ในปี 2546 และขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 17% เป็นมูลค่านำเข้าชายแดน 8,402 ล้านบาทในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2547

ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าชายแดนกับมาเลเซียมาโดยตลอด โดยมียอดเกินดุลการค้าชายแดน 76,518 ล้านบาทในปี 2546 และยอดเกินดุล 15,539 ล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรก 2547 ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า หากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยต้องยืดเยื้อออกไป อาจเป็นอุปสรรคบั่นทอนการค้าชายแดนไทย–มาเลเซียที่กำลังสดใส ให้กลับต้องซบเซาลงในช่วงที่เหลือของปีนี้

– สงขลาครองแชมป์ค้าชายแดนไทย–มาเลเซีย จังหวัดชายแดนไทยที่มีพรมแดนติดต่อกับมาเลเซีย ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และสตูล (จังหวัดปัตตานีไม่มีอาณาเขตติดต่อกับมาเลเซีย จึงไม่ได้การค้าชายแดนระหว่างกัน) จังหวัดชายแดนไทยทั้ง 4 จังหวัด ได้เปิดจุดผ่านแดนกับมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ขณะที่ประชาชนของทั้งสองประเทศประกอบกิจการค้าขายชายแดนระหว่างกันด้วย ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า สงขลา เป็นจังหวัดศูนย์กลางการค้าชายแดนกับมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับมาเลเซียมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 97% ของมูลค่าการค้าชายแดนกับมาเลเซียทั้งหมด

การค้าชายแดนของจังหวัดสงขลากับมาเลเซียผ่านทางจุดผ่านแดนสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ จุดผ่านแดนปาดังเบซาร์ และจุดผ่านแดนสะเดา ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้ายอดนิยมที่ชาวไทยและชาวมาเลเซียสนใจไปจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างมาก การส่งออกชายแดนผ่านทางจังหวัดสงขลาของไทยไปยังมาเลเซียมีมูลค่า 129,738 ล้านบาทในปี 2546 เทียบกับการค้าชายแดนของจังหวัดยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งมีมูลค่าการค้าชายแดนไม่สูงนัก โดยยะลาและนราธิวาสมีมูลค่าส่งออกชายแดนไปมาเลเซียเฉลี่ยราวจังหวัดละ 1,500 ล้านบาทในปี 2546 ส่วนจังหวัดสตูลมีมูลค่าส่งออกชายแดน 205 ล้านบาทในปี 2546

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดสงขลามีความสงบเรียบร้อย แต่เหตุการณ์ในจังหวัดใกล้เคียงที่ยังคงสับสนวุ่นวาย อาจทำให้บรรยากาศการค้าชายแดนโดยรวมในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยต้องอับเฉาลงได้ หากเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงอึมครึมต่อไป

อนึ่ง สินค้าที่ไทยส่งออกผ่านชายแดนไปยังตลาดมาเลเซีย ที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตผลจากยางพารา จำพวกน้ำยางข้น น้ำยางสด ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งของบริโภค เช่น ข้าวสาร น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง รวมทั้งอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ส่วนทางด้านสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียผ่านทางชายแดนส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือขุดเจาะ แอมโมเนียเหลวสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยางพารา พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก-เหล็กกล้า ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ผ้าโสร่งปาเต๊ะ ไม้แปรรูป หนังโคหมักเกลือ เศษกระดาษ ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

ประเทศไทยและมาเลเซียมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมทั้งยกระดับการพัฒนาของประเทศโดยรวมด้วย ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยและคณะรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียประสานความร่วมมือกันในการคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดทางภาคใต้ของไทย นับเป็นมาตรการเสริมอีกประการหนึ่งที่จะช่วยขจัดความขัดแย้งระหว่างบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่อาจมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อน ให้กลับมามีความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึงคาดว่าทางการไทยน่าจะกอบกู้วิกฤตการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เรียกขวัญและกำลังใจของชาวใต้กลับคืนมาเหมือนเดิม