เร่งจัดตั้งนิคมอาหารฮาลาล : แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้

เมื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อหาทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าแนวทางหนึ่งที่จะต้องดำเนินการคือแก้ความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ และหนึ่งในแนวทางนั้นคือ การผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าการจัดตั้งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลในจังหวัดปัตตานีนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตลาดอาหารฮาลาลนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้วตลาดส่งออกก็ยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มส่งออกแจ่มใส

สำหรับตลาดในประเทศของอาหารฮาลาลนั้นน่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันมีคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเกือบ 3 ล้านคน ส่วนตลาดฮาลาลในตลาดโลกในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ทำให้มีลู่ทางในการเจาะขยายตลาดได้อีกมาก สำหรับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนในระยะเริ่มแรกคาดว่าจะมีการส่งเสริมอย่างจริงจังในผลิตภัณฑ์ 6 กลุ่ม คือ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค เนื้อแพะ และเนื้อไก่ ผักและผลไม้แปรรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีการพัฒนาให้สามารถกลายเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลต่อไป ซึ่งความหวังในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าอาหารฮาลาล ต้องพิจารณาเป้าหมายผลิตภัณฑ์หลัก คือ

1.ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม

2.มีโอกาสในการกระจายตลาดที่มีอยู่แล้ว

3.มีโอกาสในการกระจายตลาดใหม่ โดยเน้นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยสินค้าอาหารฮาลาลสำคัญที่ไทยส่งออกได้แก่ กุ้งและผลิตภัณฑ์ ไก่และผลิตภัณฑ์และผลไม้กระป๋องและแปรรูป นอกจากนี้ตลาดผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค แพะและแกะ ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพส่งออกสูง

4.เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีโอกาสในการพัฒนาการส่งออกในระยะยาว ถ้ามีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโค แพะและแกะเพื่อป้อนตลาดมากขึ้นในอนาคต

การเลือกปัตตานีเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เนื่องจากปัตตานีมีศักยภาพพร้อมทั้งด้านภูมิประเทศ การขนส่งและวัตถุดิบ โดยปัตตานีมีท่าเรือประมงใหญ่เป็นอันดับต้นๆของภาคใต้ มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่น่าจะเป็นหน่วยสนับสนุนด้านวิชาการ ค่าจ้างแรงงานถูก นอกจากนี้ปัตตานียังเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม อันจะทำให้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก

ภายหลังจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จะเข้ามาช่วยเหลือยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันให้พัฒนาโรงงานเพื่อรับมาตรฐานสากลต่างๆที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าอาหาร ปัจจุบันมีทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศให้ความสนใจนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรี ซึ่งเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล คาดว่าพื้นที่เป้าหมายการจัดตั้งนิคมอยู่ที่บ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

โดยระยะแรกจะเข้าดำเนินการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ 933 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนโดยเฉพาะจากประเทศซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯ แล้วกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยซึ่งเป็นนักลงทุนในจังหวัดปัตตานีนั้น ขณะนี้เตรียมลงทุนแล้วเช่นกันโดยโครงการลงทุนลำดับแรกจะเป็นโครงการผลิตและส่งออกไก่แช่แข็งครบวงจรของบริษัท ฟาตอนี ชิคเก้น จำกัด เป็นการลงทุนตั้งแต่การเพาะเลี้ยงและแปรรูปเพื่อการส่งออกงบประมาณการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะมีการจ้างงานได้ถึง 10,000 ตำแหน่ง

“ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล”(HALAL Food)เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์อาหารของชาวมุสลิม ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลนับว่าจะช่วยเสริมให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกของไทยขยายตัวมากยิ่งขึ้น เพราะหากมองแนวโน้มตลาดผู้นำเข้ากลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีประชากรร่วม 1,500 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ใน 160 ประเทศทั่วโลกแล้ว รวมตัวเป็นองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference : OIC) มีประเทศสมาชิก 55 ประเทศ จากปัจจุบันที่มูลค่าตลาดรวมกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตลาดเป้าหมายหลักในการขยายสินค้าอาหารฮาลาลของไทยคือ แอลจีเรีย อียิปต์ อิหร่าน จอร์แดน คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี เยเมน อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และโปแลนด์ โดยประเทศเหล่านี้ที่นำเข้าอาหารฮาลาลมากที่สุด 6 ประเทศแรก คือ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ มาเลเซีย อิหร่าน แอลจีเรีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศต่างๆเหล่านี้มีคู่ค้าเดิมสินค้าอาหารแปรรูปอยู่แล้ว เท่ากับว่าถ้าผู้ส่งออกไทยจะเจาะตลาดเหล่านี้ก็ต้องแข่งขันกับคู่ค้าเดิมให้ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก โปแลนด์และออสเตรียต่างนำเข้าจากประเทศในกลุ่มเดียวกัน

ขณะที่อินเดีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และตุรกีนำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วโดยส่วนใหญ่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานมากกว่า และราคาถูกกว่าอันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า รวมทั้งระยะทางการขนส่งที่ใกล้กว่าด้วย ดังนั้นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของไทยน่าจะอยู่ที่ตลาดในเอเชีย คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีอนาคตทั้งในประเทศและการส่งออก แต่ยังมีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การสร้างความยอมรับในตลาดฮาลาลของไทย เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลนั้นจัดเป็นสินค้าพิเศษ มีหลักความเชื่อศาสนาเป็นตัวกำกับ ดังนั้นอาหารที่ผลิตออกมานั้นต้องมีความน่าเชื่อถือโดยจะต้องมีการควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า

แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ปัญหาในส่วนของผู้มีอำนาจออกใบรับรองตราอาหารฮาลาลให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว คือ คณะกรรมการกลางศาสนาอิสลาม และมีการร่างกฎระเบียบใหม่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นแล้วก็ตาม คาดว่ารัฐบาลยังต้องเร่งสร้างการยอมรับของตราฮาลาลของไทยโดยการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเชิญผู้นำเข้ามาตรวจดูมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลในประเทศไทย และการผลักดันให้มีการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาลให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญของไทยต่อไป นอกจากนี้การแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมผู้ผลิตอาหารฮาลาลทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารฮาลาลต้องเร่งปรับตัวรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่คาดว่าในระยะยาวแล้วผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์เนื่องจากผู้บริโภคจะมีความเชื่อถือในตราฮาลาลของไทยมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ