ดอลลาร์มั่นคง : ตลาดงงทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ

เงินดอลลาร์สหรัฐฯทะยานสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน เมื่อเทียบกับเงินยูโร เมื่อตลาดเงินคาดคะเนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยราวกลางปีนี้ การแถลงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯของนาย Alan Greenspan ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอเมริกันผ่านพ้นปัญหาเงินฝืดแล้ว และต้องจับตาภาวะเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์อ่อนแรงลงเล็กน้อยในเวลาถัดมา เมื่อรายงานตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯยังน่าวิตก ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น ได้คลายความเข้มแข็งลง เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงราว 108-109 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดเงินรอดูการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (G7) ซึ่งคาดว่าการประชุมครั้งนี้ เงินเยนคงไม่รับแรงกดดันเหมือนที่ผ่านมา เพราะทางการญี่ปุ่นได้ยุติการแทรกแซงตลาดเงินบ้างแล้ว

เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าเข้มแข็งในช่วงแรก เพราะความร้อนแรงของตัวเลขเศรษฐกิจปลุกกระแสคาดการณ์ว่าอังกฤษอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่เงินปอนด์มีค่าลดลงในเวลาถัดมา เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคมต่ำกว่าที่เก็งกันไว้ สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ หล่นลงผ่านแนวต้าน 400 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

เงินดอลลาร์อเมริกัน มีค่าอ่อนไหวเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากรายงานการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคสหรัฐฯเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ประจำเดือนเมษายนปรากฏว่าดัชนีอยู่ในระดับราว 93.2 ต่ำกว่าเดือนมีนาคมที่อยู่ในระดับ 96.5 ชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจแน่ชัดนัก ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมก็ลดลงเกินความคาดหมาย ล้วนตอกย้ำให้นักลงทุนชะลอการซื้อเงินดอลลาร์ลง

อย่างไรก็ตาม แรงเข้าซื้อเงินดอลลาร์หวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่นาย Alan Greenspan ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าขณะนี้ภาวะเงินฝืดของประเทศคลี่คลายลงแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มสดใส ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ตลาดแรงงานต่อไป แถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเงินคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำสุดในรอบ 46 ปี ณ อัตรา 1%

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจเยอรมัน ซึ่งดัชนีเดือนเมษายนลดลงอยู่ที่ 49.7 เทียบกับเดือนมีนาคมอยู่ในระดับสูงราว 57.6 ทำให้นักค้าเงินคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อพยุงเศรษฐกิจกลุ่มยูโรไว้ ส่งผลให้มีการเทขายเงินยูโรออกมา

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์ยังคงยืนหยัดอยู่ในอัตราเฉลี่ยราว 1.18 ดอลลาร์/ยูโร เนื่องจากการแถลงเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯของนาย Greenspan ในวันที่ 21 เมษายน ส่งผลให้นักลงทุนยังคงลังเลว่าธนาคารสหรัฐฯจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะ Greenspan ระบุว่าระดับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯยังคงปกติ ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยคงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน แต่มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ยิ่งไปกว่านั้น เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงสนับสนุนจากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีการปรับตัวเลขพยากรณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.1% โดยมีเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแกนนำด้วยอัตราเพิ่มราว 4.6% ขณะที่ญี่ปุ่นและกลุ่มยูโรมีอัตราการขยายตัวในปีนี้ราว 3.4% และ 1.7% ตามลำดับ

ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเล็กน้อย เมื่อตลาดเงินมองว่าสหรัฐฯอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯไม่ได้พุ่งมากดังที่คาดไว้ อีกทั้งภาวะการว่างงานสหรัฐฯกลับอึมครึมลงอีก ทำให้นักลงทุนลดการซื้อเงินดอลลาร์ และรอดูผลการประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 ในช่วงวันที่ 23-24 เมษายน ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นแนวทางการซื้อขายในตลาดเงินต่อไป

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่ามั่นคงอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 1.80 ดอลลาร์/ปอนด์ ในช่วงต้นสัปดาห์ เพราะผลการสำรวจเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยในอังกฤษสะท้อนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมมาก จนเกรงว่าจะร้อนแรงจนเกินไป อีกทั้งราคาสินค้าหน้าโรงงานก็ขยับสูงขึ้น ทำให้เก็งกันว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ดึงดูดความต้องการซื้อเงินปอนด์คึกคัก แต่ในที่สุด เงินปอนด์ก็ร่วงลงในเวลาต่อมา ซื้อขายอยู่ในช่วงเฉลี่ยราว 1.77 ดอลลาร์/ปอนด์ เนื่องจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้ออังกฤษต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการวางไว้มาก โดยทางการกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 2% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.1%

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ได้รับแรงสนับสนุนในช่วงแรกจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ช่วยพยุงราคาทองคำไว้เหนือระดับ 400 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่ม Hamas คนใหม่ ซึ่งเป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ส่งผลให้มีแรงซื้อทองคำไว้ในฐานะหลักทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำโน้มต่ำลงอย่างรวดเร็ว เคลื่อนไหวในช่วงแคบราว 393 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ทะยานสูงขึ้น และมีกระแสข่าวที่ว่าธนาคารกลางเยอรมันจะขายทองคำสำรองของประเทศ เพื่อหารายได้มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน กลายเป็นปัจจัยบั่นทอนราคาทองคำด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 19 เมษายน 2547 เทียบกับวันที่ 22 เมษายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2022 ดอลลาร์/ยูโร (1.1916 ดอลลาร์/ยูโร) 108.52 เยน (109.45 เยน) และ 1.8084 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7739 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 เท่ากับ 403.65 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 393.0 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547