วีซ่าเปิดตัว “วีซ่า เวฟ” บัตรชำระเงินที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องรูดบัตร

กรุงเทพฯ – วันนี้ วีซ่า เอเชีย แปซิฟิกได้เปิดตัว “วีซ่า เวฟ” (Visa Wave) บัตรสมาร์ทการ์ดใบแรกของวีซ่าที่สามารถใช้ชำระเงินโดยไม่ต้องมีการรูดหรือสอดบัตรเข้าไปในเครื่องรับบัตรและสามารถรองรับมาตรฐานบัตรสมาร์ทการ์ดสากลอีเอ็มวี (Global EMV Smart Card Standard) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ วีซ่า เวฟ มอบความสะดวกและรวดเร็วในการชำระเงิน เพียงแค่ผู้ถือบัตรยื่นบัตรผ่านเครื่องอ่านข้อมูลการชำระเงินอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการเซ็นชื่อกำกับหรือยื่นบัตรให้แคชเชียร์ บัตรวีซ่า เวฟ ออกใช้เป็นครั้งแรกในโลกโดย เอ็มบีเอฟ คาร์ดในมาเลเซีย โดยวันนี้ได้มีการทดลองใช้บัตรดังกล่าวเพื่อทำธุรกรรมเป็นครั้งแรกที่พิธีเปิดตัวบัตรวีซ่า เวฟ ที่จัดขึ้นในมาเลเซีย

วีซ่า เวฟ นับเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของบัตรชำระเงินที่ใช้ เทคโนโลยีแบบไม่ต้องใช้การรูดหรือสอดบัตรเข้าไปในเครื่องรับบัตร ซึ่งในการใช้งานต้องอาศัยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency) เหมือนที่ใช้กับระบบรับบัตรโดยสารในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยข้อมูลในบัตรวีซ่า เวฟจะถูกอ่านเมื่อผู้ถือบัตรยื่นบัตรผ่านเครื่องอ่านข้อมูลการชำระเงินที่ติดตั้งเป็นพิเศษ วีซ่า เวฟถูกออกแบบให้สามารถรองรับมาตรฐานบัตรสมาร์ทการ์ดสากลอีเอ็มวี ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยธนาคารจากทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก นอกจากนี้ บัตรวีซ่า เวฟ ยังสามารถใช้ชำระเงิน ณ เครื่องรูดหรือสอดบัตรแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อีกด้วย

เอ็มบีเอฟ คาร์ด ในมาเลเซียเป็นผู้ออกแบบบัตรวีซ่า เวฟ แห่งแรกของโลก โดยจะเริ่มออกบัตรวีซ่า เวฟประมาณ 200 บัตรในระยะทดลอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 สิงหาคม 2547 ผู้ถือบัตรวีซ่า เวฟสามารถใช้บัตรดังกล่าวเพื่อชำระสินค้าและบริการที่ร้านค้ากว่า 150 ร้านในกัวลาลัมเปอร์ เช่น เดลิฟร้านซ์ ดังกิ้นโดนัท และฮอลมาร์ค ซึ่งได้ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์รับบัตรวีซ่า เวฟ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการสังเกตและจดจำ และจำนวนร้านค้าที่รับบัตรวีซ่า เวฟจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างระยะทดลอง นอกจากนี้ วีซ่าวางแผนที่จะเปิดตัวบัตรวีซ่า เวฟในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ต่อไปหลังจากประเมินผลสำเร็จจากการออกบัตรในระยะทดลองขั้นต้นนี้

มร.กอร์ดอน คูเปอร์ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “การชำระเงินด้วยบัตรวีซ่า เวฟเป็นการผลักดันให้ระบบบัตรชำระเงินเข้าไปแทนที่การใช้เงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการซื้อสินค้าและบริการที่ต้องอาศัยความสะดวกและรวดเร็ว อาทิเช่น ร้านสะดวกซื้อ ปั้มน้ำมัน การซื้อบัตรโดยสารในระบบขนส่ง ร้านอาหารจานด่วน และโรงภาพยนตร์ โดยวีซ่าจะยังคงมุ่งมั่นค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ ที่สามารถตอบรับการชำระเงินด้วยบัตรวีซ่า เวฟได้อย่างลงตัวต่อไป”

ในปี 2546 วีซ่าได้ทำการวิจัยแบบโฟกัสกรุ๊ปในมาเลเซียเพื่อทดสอบความสนใจของลูกค้าอายุระหว่าง 20-35 ปีที่มีต่อผลิตภัณฑ์บัตรชำระเงินแบบไม่ต้องใช้การรูดหรือสอดบัตรเข้าไปในเครื่องรับบัตร ผลการวิจัยพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องการความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงินเพื่อการซื้อสินและบริการที่มีราคาไม่สูง ผลการวิจัยยังพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารฟาส์ตฟู้ดเป็นประเภทร้านค้าที่ผู้บริโภคเห็นว่าเหมาะกับการชำระเงินโดยไม่ต้องใช้ระบบรูดหรือสอดบัตรมากที่สุด

การชำระเงินด้วยวีซ่า เวฟ

ผู้ถือบัตรวีซ่า เวฟที่ต้องการชำระเงินสามารถยื่นบัตรผ่านเครื่องอ่านข้อมูลการชำระเงินอัตโนมัติในระยะห่างเพียง 4 เซนติเมตร โดยเครื่องรับสัญญาณซึ่งมีลักษณะเป็นลวดทองแดงเส้นบางๆ ที่บรรจุในบัตรวีซ่า เวฟ จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและปลอดภัยผ่านสัญญาณความถี่คลื่นวิทยุไปสู่เครื่องอ่านข้อมูลที่ติดตั้งอยู่ ณ จุดขาย จากนั้น ระบบการชำระเงินของวีซ่า ที่มีความน่าเชื่อถือจะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลการทำธุรกรรมนั้นๆ ด้วยวิธีการเดียวกับการชำระเงินด้วยเครื่องรูดบัตรทั่วไป

วีซ่า เวฟเป็นบัตรติดชิปที่สามารถใช้งานได้ทั้งกับเครื่องรับบัตรประเภทรูดหรือสอดบัตรหรือแบบที่ไม่ต้องสัมผัสกับเครื่องรับบัตร โดยผู้ถือบัตรสามารถชำระเงินได้ที่เครื่องอ่านข้อมูลบัตรวีซ่า เวฟแบบอัตโนมัติ และที่เครื่องรูดบัตรหรือเครื่องอ่านข้อมูลบัตรสมาร์ทการ์ดแบบสอดทั้ง 22 ล้านแห่งทั่วโลก รวมทั้งสามารถใช้บัตรวีซ่า เวฟเพื่อเบิกถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มทั้ง 870,000 แห่งทั่วโลกอีกด้วย

วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล

วีซ่าเป็นระบบชำระเงินชั้นนำของโลกโดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมดกว่า 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี และเป็นที่ยอมรับในประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก วีซ่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมในการชำระเงินเพื่อเอื้อประโยชน์แก่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกวีซ่ากว่า 21,000 แห่ง และแก่ผู้ถือบัตรด้วย นอกจากนี้วีซ่ายังเป็นผู้นำด้านธุรกิจชำระเงินบนอินเทอร์เน็ต และยังเป็นผู้ริเริ่มยู-คอมเมิร์ซ หรือยูนิเวอร์เซิล คอมเมิร์ซ ซึ่งมุ่งให้การซื้อขายสินค้าสามารถทำได้ทุกเวลาและทุกสถานที่