8 มหาวิทยาลัยแนวหน้าระอุ ติวเข้มนักศึกษาคว้าแชมป์ FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl 2004 ประชันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

กรุงเทพมหานคร – 25 พฤษภาคม 2547 – ยิ่งใกล้วันแข่งขันรอบตัดเชือกของ FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl 2004 (โฟว์สแตท – เนสท์เล่ ควิซ โบว์ 2004) มากขึ้นเท่าไร นิสิต นักศึกษาจาก 8 สถาบันที่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายยิ่งทวีความเข้มข้นในการฝึกฝนความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะได้รับถ้วยเกียรติยศจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งทุนการศึกษาแล้ว ทีมชนะเลิศยังจะได้ไปท่องแดนลอดช่องเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในระดับนานาชาติ ณ ศูนย์วิจัย และพัฒนาระดับภูมิภาคของเนสท์เล่ ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรส และบะหมี่ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนียอีกด้วย

การแข่งขัน FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl 2004 (โฟว์สแตท – เนสท์เล่ ควิซ โบว์ 2004) เป็นเวทีประลองความรู้ความสามารถ เพื่อเฟ้นหาหัวกะทิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารเวทีแรก และเวทีเดียวในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด โดยมุ่งหวังที่จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถของนิสิตนักศึกษาด้านอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารอย่างต่อเนื่อง

คุณศักรินทร์ ภูมิรัตน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ผู้จัดการแข่งขันดังกล่าวเปิดเผยว่า “นับจากวันนี้อีกไม่ถึง 30 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันแข่งขันรอบชนะเลิศของ FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl โดยในปีนี้การแข่งขันมีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่จำนวนนิสิตนักศึกษาที่สมัครเข้าแข่งขันมีมากถึง 49 ทีม จากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยผู้แข่งขันทุกทีมต้องผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก เพื่อคัดสรรทีมที่มีความรู้ลึกซึ้งเพียง 8 ทีมเท่านั้นร่วมเข้าแข่งในรอบต่อไป”

“ในปีนี้ นิสิต นักศึกษาจาก 8 สถาบันที่สามารถผ่านเข้ารอบล้วนเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั้งสิ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งสามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายทุกปี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแชมป์เก่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นทุกทีมจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ฝึกฝน ความรู้และทักษะ เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ เวลา 9.00-16.00 น. ณ Bangkok International Trade & Exhibition Center (BITEC)” คุณศักรินทร์กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.วราพร ลักษณลม้าย คณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศกล่าวว่า “ในโลกการค้าเสรีที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรงนั้น สินค้าเกษตรไม่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสู่ประเทศได้อย่างเพียงพอ เนื่องด้วยปัญหาสินค้า ล้นตลาด ราคาสินค้าตกต่ำ การเก็บรักษาคุณภาพสินค้า ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐจึงหันมาสนับสนุนนโยบายการส่งออกสินค้าแปรรูปเพื่อรองรับ และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง รวดเร็ว และต่อเนื่อง ซึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาดังกล่าว ก็คือบุคลากรคุณภาพ ซึ่งมีแนวโน้มของความต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ตามข้อกฎหมายกำหนดให้โรงงานทุกโรง ต้องมีเจ้าหน้าที่ ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การอาหารประจำโรงงานอย่างน้อย 1 คน ”

“ปัจจุบันคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิตถือได้ว่าเป็นคณะที่มีความพร้อมทางด้านการเรียนการสอนอย่างสูง ได้รับการพัฒนาด้านการเรียนการสอนทั้งสาขาเทคโนโลยีอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอด 18 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ทฤษฎีขั้นพื้นฐาน ฝึกฝนทักษะในห้องปฏิบัติการอันทันสมัย และค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดหลักสูตร 4 ปี เพื่อพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นบุคลากรคุณภาพสูง ไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมอาหาร รับราชการในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ปัจจุบันทางคณะฯ ยังส่งเสริมนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองอีกด้วย

การแข่งขัน FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl เปรียบเสมือนประเพณีของคณะฯ เป็นการแข่งขันที่คณะฯ ให้ความ สำคัญมาก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการวัดมาตรฐานทางคุณภาพการเรียนการสอนของเราได้ ทำให้ทั้งอาจารย์ผู้สอน และนักศึกษาเกิดความตื่นตัวในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เมื่อถึงหน้าแข่งขันก็จะมีการคัดเลือกนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น Food Engineering, Food Macro และ Food Sanitary รวมทั้งความรู้ทั่วไป เพื่อเป็นผู้แทนคณะฯ เข้าแข่งขัน”

นางสาวอัญชลี หมื่นทิศ ผู้แทนนักศึกษาจากทีมมหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งสามารถเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และกำลังเตรียมตัวอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเล่าว่า “ทีมของเราทั้ง 4 คน เตรียมตัวกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่การแข่งขันรอบแรก และดีใจมาก ๆ เมื่อทราบว่าสามารถผ่านเข้ารอบตัดสิน พวกเราเชื่อว่าความสามัคคี และคำว่าทีมสำคัญที่สุด เราทั้ง 4 คนจะช่วยกันค้นคว้าข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ มากมาย ทั้งจากห้องสมุด และเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว

นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน ผลัดเปลี่ยนกันติว ซึ่งมันจะยิ่งเพิ่มความเข้าใจให้เรามากขึ้น ในส่วนของการฝึกทักษะการปฏิบัติ หรือการทดลองเราก็จะทำกันเป็นทีม ซึ่งช่วยให้การทำงานของเรารวดเร็วขึ้น และไม่ติดขัด นอกจากนี้ ยังได้รับความกรุณาจากอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ และดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย ดังนั้นทีมเรามั่นใจแชมป์ FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl 2004 ต้องเป็นของมหาวิทยาลัยรังสิตอย่างแน่นอน”

FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl 2004 หรือการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางอาหาร ประจำปี 2547 ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีจะมีจำนวนทีมเข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นจากทั่วประเทศ ในปีนี้ซึ่งนับเป็นปีที่ 4 มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 49 ทีม แบ่งเป็นทีมจากมหาวิทยาลัย 25 ทีม สถาบันราชภัฎ 17 ทีม และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 7 ทีม และเช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันและรางวัล เนื่องจากบริษัทได้เล็งเห็นว่าการจัดการแข่งขันในลักษณะนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่วงจรของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย