นำเข้าน้ำมันปีวอก : เม็ดเงินพุ่งเกือบ 30%

สถานการณ์การนำเข้าน้ำมันของไทยอยู่ในภาวะที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงผันผวนต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงพุ่งขึ้นไปไม่หยุด แม้ในบางช่วงราคาน้ำมันจะปรับตัวลงมาบ้างแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆแล้วก็กลับวิ่งขึ้นไปใหม่ การประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 3 มิถุนายน2547นี้ คาดว่าผลการประชุมจะได้ข้อยุติตามข้อเสนอของซาอุดีอาระเบียที่จะให้สมาชิกโอเปกเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากระดับการผลิต 23.5 ล้านบาร์เรล/วันขึ้นไปอีกอย่างน้อย 2-2.5 ล้านบาร์เรล/วัน แต่คาดว่าปริมาณที่จะเพิ่มได้สูงสุดคงอยู่ในระดับไม่เกินวันละ1-1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

ดังนั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะอ่อนตัวลงหลังการประชุมโอเปกยุติ แต่ก็จะยังคงทรงตัวในระดับที่สูงอยู่เนื่องจากความต้องการน้ำมันทั่วโลกปี2547นี้ยังคงเพิ่มขึ้น จากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปี 2546 ที่ผ่านมา

จากแนวโน้มตลาดน้ำมันโลกดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ75ของความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมของประเทศ ต้องแบกรับภาระการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นไปเป็นอันมากด้วยเนื่องจากในปัจจุบันไทยเป็นประเทศหนึ่งที่บริโภคน้ำมันในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) โดยในปี 2545 การบริโภคน้ำมันต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.4 ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนการบริโภคน้ำมันต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ6.9 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียสามารถผลิตน้ำมันได้เองจำนวนมากและเป็นสมาชิกโอเปกกลับบริโภคน้ำมันในสัดส่วนร้อยละ5.3ของจีดีพี ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.4 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายตรึงราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันภายในประเทศโดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปอีก ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันแทนประชาชนไปแล้วรวม 12,230 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่ายังมีวงเงินอยู่อีกกว่า 16,000 ล้านบาทที่ยังสามารถตรึงราคาน้ำมันต่อไปได้อีกจนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้คลี่คลายลงแล้วจึงจะประกาศยกเลิกการชดเชยราคา ซึ่งก็นับว่าเป็นความหวังดีของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ราคาสินค้าและบริการด้านต่างๆปรับราคาขึ้นไปจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง หากปล่อยให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวขึ้นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็คงจะต้องพิจารณาถึงคุณค่าของการใช้น้ำมันอย่างประหยัด ไม่เช่นนั้นตัวเลขการบริโภคน้ำมันที่เป็นสัดส่วนต่อจีดีพีก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นอันมาก ซึ่งก็จะเป็นภาระหนักของประเทศในระยะยาว เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากการบริโภคน้ำมันอย่างฟุ่มเฟือยของคนไทยนั่นเอง

ราคาน้ำมันในประเทศไม่เพิ่ม…แต่มูลค่านำเข้ายังพุ่ง

แม้ว่ารัฐบาลจะยังคงตรึงราคาน้ำมันในประเทศอยู่ต่อไป แต่ภาระรายจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าก็จะยังคงพุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ซึ่งก็จะทำให้ในปีวอก2547นี้คาดว่าประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี2546ร้อยละ29.3 ทั้งนี้เพียงชั่วระยะ 4 เดือนแรก 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว 3,553.5 ล้านดอลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.6 ดังนั้น หากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี2547และยังคงทรงตัวในระดับสูงจนถึงสิ้นสุดปี2547นี้

เนื่องจากยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนที่จะมีผลกดดันต่อทิศทางตลาดน้ำมันโลกในระยะจากช่วงท้ายไตรมาสที่ 2 ของปี2547 เป็นต้นไป นั่นก็คือ ความไม่สงบในอิรักที่มีการลอบโจมตีทหารอเมริกันและพันธมิตรไม่เว้นแต่ละวันทำให้ทหารอเมริกันและทหารพันธมิตรล้มตายเพิ่มขึ้นและยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูบ่อน้ำมันในอิรักอย่างมากในเวลานี้ ทำให้การส่งออกน้ำมันของอิรักยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

การวางระเบิดสถานีรถไฟที่มาดริด นครหลวงของสเปน เมื่อตอนกลางเดือนมีนาคม 2547 ส่งผลให้ผู้คนล้มตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน การโจมตีเมืองโคบาร์อันเป็นเมืองน้ำมันขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย มีผลให้ชาวต่างชาติเสียชีวิต 22 คน ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดน้ำมันโลก รวมทั้ง ในระยะนี้มีข่าวการวางระเบิดตามสถานที่สำคัญๆในเมืองต่างๆของประเทศพันธมิตรสหรัฐอย่างไม่ขาดระยะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลกให้เกิดความผันผวนและกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกให้พุ่งสูงขึ้นมาเป็นระยะๆ

การประเมินภาระค่าน้ำมันนำเข้าสำหรับปี2547ที่คาดหมายว่าจะมีมูลค่าประมาณ 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการประเมินที่มองโลกในแง่ดี โดยใช้ฐานปริมาณนำเข้าน้ำมันเท่ากับปี2546และใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากช่วง 4 เดือนแรกของปี2547 คาดคะเนแนวโน้มในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ภายใต้แรงกดดันที่ราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับสูงจนถึงสิ้นปี2547

นำเข้าน้ำมันพุ่งกว่า 27% : จับตาช่วงเวลาที่เหลือของปี 2547

ในระยะ4เดือนแรกของปี2547นี้ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวม3,553.5ล้านดอลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ27.6 ทั้งนี้ก็เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี2547ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก ถึงร้อยละ21.5 โดยแหล่งนำเข้าน้ำมันจากประเทศต่างๆในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

– กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางรวมทั้งสิ้น 2,605.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ25.7และมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 73.3 ของมูลค่านำเข้า น้ำมันรวมของประเทศ สำหรับการกระจายแหล่งนำเข้าน้ำมันในกลุ่มนี้ เป็นดังนี้

– สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 848.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.9 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันมากที่สุดถึงร้อยละ 23.8 ของมูลค่าการ นำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– ซาอุดีอาระเบีย การนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียใน 4 เดือนแรกของปี2547ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 642.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.2 และมีสัดส่วนนำเข้าน้ำมันเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์คือร้อยละ18.1ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– เยเมน ไทยนำเข้าน้ำมันจากเยเมนในระยะ 4 เดือนแรก 2547คิดเป็นมูลค่า 562.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ69.3 และมีสัดส่วนนำเข้าเป็นอันดับสามคือร้อยละ15.8ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– โอมาน การนำเข้าน้ำมันจากโอมานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 321.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ28.5 โดยมีสัดส่วนร้อยละ9.1ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– กาตาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547ไทยนำเข้าน้ำมันจากกาตาร์147.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ36.1 และมีสัดส่วนร้อยละ4.9 ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– คูเวต มูลค่านำเข้าน้ำมันจากคูเวตในระยะ 4 เดือนแรกปี2547มีจำนวน57.4ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ140.2และมีสัดส่วน ร้อยละ 1.6 ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

– ประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลาง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในตะวันออกกลาง ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศ นอกตะวันออกกลางมูลค่า 948.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ33.7และมีสัดส่วนการนำเข้าเท่ากับ 26.7ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งประเทศ โดยประเทศนอกกลุ่มตะวันอกกลางที่ไทยนำเข้าน้ำมันในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547 มีรายละเอียด ดังนี้

– พม่า มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัดต่อการนำเข้าน้ำมันของไทยตั้งแต่ปี2542เรื่อยมาจากที่ไทยนำเข้าน้ำมันจากพม่าเพียง2.1ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2542 ก็ได้พุ่งทะยานขึ้นไปเป็น115.4และ672.2ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี2543-2544และในปี2546ก็นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 732.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว ซึ่งก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากพม่าพุ่งขึ้นจากระดับแค่ร้อยละ2ในช่วงปี2542-2543 แล้วเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ6.1ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมดของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547

– มาเลเซีย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547ไทยนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซีย 216.8ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ98.7ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมด มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ6.1 เป็นลำดับสองรองจากพม่า

– บรูไน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากบรูไนมูลค่า 141.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 137.0 และมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 4 ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมดของไทยในช่วงเวลาเดียวกันนี้

– สิงคโปร์ ไทยนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 มูลค่า 85.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ56.3 มีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 2.4 เป็นอันดับที่สามรองจากมาเลเซีย

– อินโดนีเซีย การนำเข้าน้ำมันจากอินโดนีเซียในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547ทั้งสิ้น78.2ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ60.7เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทำให้ สัดส่วนนำเข้าหล่นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากปีที่แล้วที่มีสัดส่วนร้อยละ 7.1

– สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี2547ไทยนำเข้าน้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่ากับ 32.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี2546ร้อยละ9.4

– ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันสำคัญของไทยดังกล่าวแล้ว ไทยยังมีการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งอื่นๆอีกนับสิบประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรีย เวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปแล้ว สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกในช่วงเวลาที่เหลือของปี2547ยังมีปัจจัยความเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูงต่อไปจนถึงสิ้นปี2547 แรงกดดันสำคัญก็คือความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งยังมีปัญหาความขัดแย้งกันสูงทั้งในกรณีอิรักที่ยังมีการวางระเบิดทำลายล้างทหารอเมริกันและพันธมิตรที่กำลังเข้าไปร่วมฟื้นฟูอิรักหลังโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่มีการรบพุ่งรุนแรงขึ้น การโจมตีเมืองโคบาร์ในซาอุดีอาระเบีย อันเป็นความเสี่ยงต่อตลาดน้ำมันโลกที่ยังมีความผันผวนสูงมากอยู่

แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือราคาน้ำมันนับจากวันนี้เป็นต้นไปจะยังมีความผันผวน และยังจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปได้อีก ทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระรายจ่ายค่าน้ำมันนำเข้า สถานการณ์เช่นนี้จึงน่าห่วงอย่างยิ่งว่าการนำเข้าน้ำมันในปี2547อาจจะมีมูลค่าสูงถึง11,500ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 575,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี2546ถึงร้อยละ29 หากสถานการณ์ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นทั้งแรงกดดันจากความไม่สงบทางการเมืองและการทหารในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะในอิรักและอิสราเอลที่กำลังโหมกำลังถล่มปาเลสไตน์

และล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2547 ที่กลุ่มหัวรุนแรงโจมตีเมืองโคบาร์อันเป็นเมืองน้ำมันขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบียที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกทันที ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกส่วนในสังคมไทยจะต้องร่วมมือกันประหยัดการใช้น้ำมันและพลังงานทุกรูปแบบอย่างจริงจังเสียตั้งแต่บัดนี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นจนมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ