ชาสมุนไพร : ตลาดเติบโต…กระแสรักษ์สุขภาพหนุน

ท่ามกลางกระแสความนิยมบริโภคชาเขียว ยังมีตลาดชาอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือชาสมุนไพร แม้ว่าการขยายตัวของตลาดจะไม่อยู่ในลักษณะการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกับตลาดชาเขียว แต่ก็มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศก็มีลู่ทางแจ่มใสในการที่จะส่งออก อันเป็นผลมาจากการยอมรับในคุณค่าของสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด

ชาสมุนไพรในตลาดโลก…เริ่มนิยมมาตั้งแต่ปี 2542

ปัจจุบันประเทศในตะวันตกหลายประเทศเริ่มหันมานิยมเครื่องดื่มสมุนไพร โดยเฉพาะชาสมุนไพร ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองในตลาดโลก รองจากน้ำดื่ม โดยผลิตภัณฑ์ชาที่เป็นที่นิยมดื่มนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ ชาดำ(Black Teas) ชาเขียว(Green Teas) และชาสมุนไพร(Herbal Teas) ซึ่งชาแต่ละชนิดนั้นมีหลากหลายรสชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตามประเภทของทั้งชาดำและชาเขียวที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพไปทั่วโลกนั้นมาจากแหล่งปลูกใน 5 ประเทศ คือจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ศรีลังกาและอินเดีย ส่วนประเภทของชาสมุนไพรนั้นเป็นการผสมสมุนไพร เครื่องเทศ ผลไม้แห้งและดอกไม้แห้ง ทั้งนี้ผู้ผลิตเน้นสรรพคุณที่หลากหลายของสมุนไพรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นกลิ่นและรสของชาสมุนไพรนั้นจึงขึ้นอยู่กับประเภทของสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของชาสมุนไพรแต่ละประเภท อย่างไรก็ตามในบางครั้งชาสมุนไพรนั้นไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชาประเภทหนึ่ง เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของใบชาอยู่เลย

ในตลาดโลกชาสมุนไพรจัดเป็นเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มที่เป็นอาหารเสริมหรือยาสมุนไพร( Functional Beverages หรือ Neutraceuticals) ซึ่งเครื่องดื่มในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 ประเภทคือ เครื่องดื่มประเภทให้กำลังงาน(Isotonic Drinks) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ตามกระแสแฟชั่น(Lifestyle/Wellness Drinks) เครื่องดื่มทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement Drinks) และเครื่องดื่มที่เป็นยา(Medicinal Drinks) กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของเครื่องดื่มเหล่านี้จะเป็นผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มเพื่อดับกระหายและเพื่อเรียกความสดชื่นของร่างกายภายหลังจากการตรากตรำทำงาน หรือดื่มเพื่อทดแทนอาหารในแต่ละมื้อ หรือดื่มเพื่อสุขภาพโดยเครื่องดื่มประเภทนี้จะอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะคุณค่าจากสมุนไพร

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มที่เป็นอาหารเสริมหรือยาสมุนไพรนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในส่วนของตลาดชาสมุนไพรเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2542 จากการที่บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ใบชารายใหญ่ของสหรัฐฯเริ่มผสมสมุนไพรและเครื่องเทศประเภทต่างๆ วิตามินและเกลือแร่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มกลิ่น สี และรสของชาให้มีความหลากหลายมากขึ้น หลังจากนั้นชาสมุนไพรก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เนื่องจากสามารถจับตลาดชาเพื่อสุขภาพหรือวางจุดขายสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้ชาสมุนไพรเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้บริโภคว่า “Good for You” เช่น มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ ผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น ในวงการผู้ผลิตชาสมุนไพรเน้นการผลิตชาสมุนไพรที่มีรสชาติที่โดดเด่นเพียงรสเดียว(Masking Flavor) แม้ว่าชาสมุนไพรนั้นจะมีส่วนผสมของสมุนไพรและเครื่องเทศหลากหลายชนิด ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องถึงสรรพคุณของชาสมุนไพรแต่ละประเภทที่ผลิตขึ้นมา ปัจจุบันชาสมุนไพรที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง 2 ประเภทคือ Echinacea และ Kava Kava โดยสมุนไพรและเครื่องเทศที่เป็นที่นิยมผสมในชาสมุนไพรในตลาดโลกได้แก่ เป็บเปอร์มินต์ เมนธอล ยูคาลิปตัส และซินามอน

จากการสำรวจในปี 2546 พบว่ามูลค่าการจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์ชาของ Packaged Facts ในสหรัฐฯมียอดจำหน่ายประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0 ต่อปี โดยแยกเป็นชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม(Ready to Drinks Tea)ร้อยละ 61.5 ชาทั่วๆไป(Regular Tea)ร้อยละ 13.0 ชาชนิดพิเศษ(Specialty Tea)ร้อยละ 10.8 ชาสมุนไพร(Herbal Tea)ร้อยละ 7.6 และชาสำเร็จรูป(Instant/Mix Tea)ร้อยละ 7.1 ซึ่งในผลิตภัณฑ์ชาทั้งหมดนี้ชาที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการจำหน่ายปลีกอยู่ในเกณฑ์สูงคือ ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่มซึ่งมีอัตราเติบโตสูงกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2539 ชาชนิดพิเศษมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปีตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งผลิตภัณฑ์ชาในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจคือ ชาเขียว และชาปลอดสารพิษชนิดต่างๆ และชาสมุนไพรมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.0 ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดตลาดชาสมุนไพรอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าแนวโน้มของตลาดผลิตภัณฑ์ชานั้นเริ่มมีการผสมชาแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายด้วย กล่าวคือ ตลาดชาชนิดพิเศษนั้นเริ่มเพิ่มผลิตภัณฑ์ชาเขียวปลอดสารพิษ และชาสมุนไพรที่ปลอดสารพิษ ตลาดชาสำเร็จรูปพร้อมดื่มเริ่มหันมาเพิ่มผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพร

ตลาดชาสมุนไพรในประเทศ…คนไทยหันมานิยมดื่มมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทยมีเครื่องดื่มที่ทำจากสมุนไพรไทยที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นน้ำใบบัวบก น้ำมะตูม น้ำอ้อย น้ำฝรั่ง รวมไปถึงสมุนไพรและวัตถุดิบจากป่าตัวอื่นที่คนรุ่นก่อนนำมาเป็นยารักษาโรค ยาอายุวัฒนะ แม้กระทั่งยาเพิ่มพลังทางเพศ การผลิตเครื่องดื่มในสมัยต่อมาส่วนใหญ่จะเป็นน้ำอัดลมซึ่งเป็นของใหม่ใส่น้ำหวานและคาร์บอเนตเข้าไป นอกจากนี้ยังผลิตน้ำผลไม้ใส่ขวดซึ่งส่วนใหญ่ก็พึ่งหัวเชื้อน้ำหวาน รูปแบบการผลิตเหล่านี้ก็คือเพื่อสรรหาเครื่องดื่มที่แปลกออกไป ปัจจุบันค่านิยมของการบริโภคเครื่องดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตเครื่องดื่มหันมาผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(Healthy Refreshment)เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ชาสมุนไพรก็เป็นเครื่องดื่มอีกประเภทหนึ่งที่กลับเข้ามาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง

คาดว่าตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(ไม่รวมผลิตภัณฑ์นม)ในปี 2547 มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 10-15 ประเภทของเครื่องดื่มสุขภาพยอดนิยมถ้าไม่นับชาเขียวที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันแล้ว เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เป็นที่นิยมในอันดับรองลงมาคือ เก็กฮวย น้ำขิง น้ำใบบัวบก ชาที่ทำมาจากดอกคำฝอย ชุมเห็ด กระเจี๊ยบ มะตูม และชาจากดอกไม้ไทยๆ เช่น สารภี บุนนาค พิกุล ดอกบัวขาว มะลิ เป็นต้น น้ำจับเลี้ยง น้ำว่านหางจระเข้ เป็นต้น เดิมนั้นตลาดจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ตลอดจนในหมู่ของผู้ที่รู้ถึงสรรพคุณทางด้านสมุนไพร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่เครื่องดื่มประเภทนี้ได้รับความนิยมในการเลือกซื้อเป็นของฝากในโอกาสต่างๆ แต่ในปัจจุบันตลาดในประเทศเริ่มเปิดรับเครื่องดื่มสมุนไพรมากขึ้น ตลาดจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ถ้าจะแบ่งตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามพฤติกรรมการบริโภคนั้นสามารถแบ่งตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพออกได้เป็น 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดของรถเข็น แผงลอย หรือร้านค้าที่มีตู้แช่ ซึ่งจะพบเห็นได้แทบทุกตรอกซอกซอย นับได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดด้วย ตลาดบรรจุซอง กลุ่มเป้าหมายของตลาดนี้คือ ผู้บริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่นิยมชงเอง ซึ่งตลาดนี้กำลังขยายตัวอย่างมาก โดยสังเกตเห็นได้จากผลิตภัณฑ์มากมายหลายยี่ห้อที่มีวางจำหน่าย เท่ากับว่านอกจากผู้ผลิตเล็งเห็นว่าตลาดนี้น่าจะไปได้ดีแล้ว ปัจจัยส่งเสริมอีกประการหนึ่ง คือการลงทุนผลิตสินค้าประเภทนี้ไม่สูงนัก และวัตถุดิบในการผลิตหาได้ไม่ยากนัก ทำให้มีนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง และตลาดบรรจุกระป๋อง/ขวด/กล่อง การนำเอาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาบรรจุใส่ภาชนะประเภทต่างๆ เท่ากับเป็นความพยายามของผู้ผลิตที่มุ่งเจาะตลาดระดับกลางไปจนถึงระดับสูง เนื่องจากราคาจำหน่ายของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของตลาดนี้นับได้ว่าสูงกว่าตลาดอื่นๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็นิยมซื้อหามารับประทานอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าน่าจะสะอาด และมีการผลิตที่ได้มาตรฐานมากกว่า โดยเฉพาะประเภทที่บรรจุขวดซึ่งจำหน่ายแข่งกับน้ำอัดลม และประเภทบรรจุกล่องที่ต้องจำหน่ายแข่งกับนมพร้อมดื่มและน้ำผลไม้ ซึ่งราคาที่จำหน่ายนั้นใกล้เคียงกัน แม้ว่าตลาดจะไม่เติบโตอย่างหวือหวา แต่นับว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่ผู้บริโภคจะเลือกเครื่องดื่มประเภทใดจึงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยเฉพาะในเรื่องของคุณค่าของเครื่องดื่มแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าในการเลือกดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ปัจจัยสำคัญคือ การได้รับข้อมูลในด้านสรรพคุณของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแต่ละประเภท ดังนั้นการส่งเสริมในด้านการประชาสัมพันธ์ด้านความรู้ในเรื่องของสรรพคุณที่ถูกต้องของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแต่ละประเภทจะเป็นการช่วยในการขยายตลาดของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการตอบสนองกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่กำลังหันมาดื่มเครื่องดื่มที่มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ และการคำนึงถึงสุขภาพของตนเองมากขึ้น

เครื่องดื่มสมุนไพรนั้นไม่ใช่สินค้าใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากคนไทยมีการดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องดื่มสมุนไพรไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก การขยายตัวของตลาดก็อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าพอไปได้ไม่หวือหวามากนัก จนกระทั่งเมื่อกระแสการสนใจในเรื่องสุขภาพเริ่มมาแรง โดยเริ่มจากในต่างประเทศและเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจากกระแสความสนใจในเรื่องสุขภาพได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพรทั้งในด้านการผลิตและการตลาด กล่าวคือ

– ด้านการผลิต
ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรสำเร็จรูปอยู่แล้วมากมายหลายโรงงาน เช่น ขิงผงสำเร็จรูป เก๊กฮวยผงสำเร็จรูป เป็นต้น ปัจจุบันเริ่มมีผู้ทยอยเข้ามาลงทุนผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งในลักษณะโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และการผลิตในระดับครัวเรือน หรือในลักษณะของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ตลอดจน สหกรณ์การเกษตรต่างๆ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีและเข้ามามีบทบาทต่อการแปรรูปให้มีรูปแบบทันสมัย สะดวกสบายต่อผู้บริโภค นับว่าสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเป็นการนำความพร้อมที่มีอยู่มาผลิตสินค้าเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยมาสร้างจุดขาย โดยเฉพาะการปรับปรุงการผลิต บรรจุซองพร้อมให้ลูกค้าชงดื่มได้ทันที

– ด้านการตลาด
ปัจจุบันทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพมีการวางจำหน่ายชาสมุนไพรมากมายหลายยี่ห้อ และหลากหลายประเภทมากยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตจากกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประเภทสมุนไพรชนิดอื่นๆที่เริ่มมีการนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มได้แก่ ดอกคำฝอย หญ้าหนวดแมว มะตูม จับเลี้ยง ชาใบหม่อน รวมถึงกาแฟโบราณ (โอเลี้ยง) และชาดำเย็นไทย โดยการนำมาแปรรูปให้เป็นผงสำเร็จรูปพร้อมชงดื่มได้ทันที ซึ่งใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้สูตรลงตัว รสชาติมาตรฐาน เน้นบรรจุภัณฑ์แบบอนุรักษ์ความเป็นไทย ใช้กระดาษรีไซเคิลมาทำเป็นกล่อง ลดต้นทุนการผลิต ช่วยให้ผู้บริโภคได้ของดีราคาถูก อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นว่าศักยภาพที่มีพร้อมอยู่แล้วน่าจะช่วยให้สินค้าเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภค เน้นในรสชาติ และความหอมของกลิ่นธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่นและสีด้วยสารเคมี รวมทั้งเป็นสินค้าเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของตลาด เนื่องจากผู้บริโภคหันกลับมาสู่ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ฉะนั้นยิ่งสร้างความมั่นใจในศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญก็คือ กระแสความนิยมเครื่องดื่มที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และความตื่นตัวที่จะรักษาสุขภาพของตนเอง ท่ามกลางสภาวะมลพิษในปัจจุบัน ทำให้ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เป็นตลาดเล็กๆ และหลายๆ คนมองข้ามไปยังเป็นตลาดที่น่าสนใจทีเดียว

อย่างไรก็ตามการผลักดันให้ตลาดชาสมุนไพรเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในธุรกิจชาสมุนไพรน่าจะมีการศึกษากลยุทธ์ทางการตลาดของตลาดชาเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งผู้ผลิตต้องเร่งขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ยอมรับและเล็งเห็นคุณค่าของชาเขียว ดังนั้นถ้าผู้บริโภคยอมรับและเล็งเห็นคุณค่าของชาสมุนไพรแล้วโอกาสที่ชาสมุนไพรจะเติบโตในลักษณะก้าวกระโดดอย่างชาเขียวก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน

ตลาดส่งออก…จุดเด่นที่แตกต่าง สร้างโอกาสเติบโต

สำหรับตลาดส่งออกนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากของชาสมุนไพร แต่การที่ผลักดันตลาดชาสมุนไพรไทยๆให้เบียดแทรกเข้าไปแข่งขันในตลาดชาสมุนไพรในตลาดโลกได้นั้นต้องอาศัยจุดเด่นที่แตกต่างเป็นการสร้างโอกาส โดยต้องเป็นจุดเด่นที่ผู้บริโภคในต่างประเทศรับรู้และยอมรับ ซึ่งก็คือสรรพคุณของสมุนไพรไทย ปัจจุบันมีการส่งออกเครื่องดื่มสมุนไพรไปจำหน่ายที่สหรัฐฯแล้ว แม้ว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้นและมูลค่าในการส่งออกยังไม่สูงมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของคนไทยที่พัฒนาสินค้าที่มีอยู่แล้วให้สอดรับกับกระแสการบริโภคของตลาดโลก ซึ่งเครื่องดื่มสมุนไพรที่ไปจำหน่ายที่สหรัฐฯ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากลูกค้า นอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้ว เครื่องดื่มสมุนไพรยังช่วยประหยัดเงินให้กับผู้บริโภคอีกด้วย โดยราคาเฉลี่ยกล่องละ 30 บาท มี 15 ซอง เท่ากับว่าเครื่องดื่มสมุนไพรมีราคาประมาณแก้วละ 2 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามถ้ามีการแยกพิกัดสินค้าชาสมุนไพรออกมาจากสินค้าเครื่องดื่มสำเร็จรูปประเภทอื่นๆก็จะทำให้การวิเคราะห์ถึงโอกาสทางการตลาดและแนวโน้มของตลาดเป็นไปอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งชาสมุนไพรนั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้าโอท็อปที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกอยู่แล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าปัจจัยเกื้อหนุนในการขยายตัวในการส่งออกเครื่องดื่มสมุนไพรของไทย มีดังนี้

1.ด้านการผลิต

ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีสมุนไพรและผลไม้เมืองร้อนมากมายเชื่อว่าหากมีการพัฒนาการผลิตย่อมทำได้ไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครคิดผลิตอะไร สร้างตลาดให้ได้รับความนิยมต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้หรือไม่ วัตถุดิบของไทยมีความหลากหลาย ผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็มีอยู่หลายโรงงานที่มีศักยภาพ ทำอย่างไรจึงจะแปรเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านี้ให้เป็นสินค้าเพื่อสร้างตัวเงินให้กับผู้ผลิต รวมทั้งเกษตรกรในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการผลิตคือ การยกระดับมาตรฐานการผลิต โดยขั้นตอนการผลิตต้องถูกสุขอนามัยและไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังนั้นการที่สินค้าน้ำสมุนไพรส่งออกได้รับตรารับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานของรัฐบาล รวมทั้งถ้าผ่านมาตรฐานในระดับสากลก็จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคน้ำสมุนไพรควรมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับถึงสรรพคุณของน้ำสมุนไพรควบคู่ไปด้วยก็จะช่วยส่งเสริมการตลาดให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นใจ

นอกจากนี้บริษัทที่มีโอกาสอย่างมากในการที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพร คือ บริษัทผลิตน้ำผลไม้ เนื่องจากมีความพร้อมในแง่สายการผลิต เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องวัตถุดิบอีกเล็กน้อยเท่านั้น

2.ด้านการตลาด

การขยายตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือชาสมุนไพรในต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นคงต้องศึกษากรณีการขยายตัวของเครื่องดื่มสุขภาพของสหรัฐฯ โดยต้องจับกระแสความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคและความต้องการบริโภคสินค้าธรรมชาติ รวมทั้งการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการขยายตลาดให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ถึงความหลากหลายของชาสมุนไพรที่ไทยผลิตได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าในประเทศอื่นๆ เช่น ใบหม่อน กระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย ตะไคร้ ขิง เป็นต้น

กลยุทธ์การส่งออกสู่ความสำเร็จนั้นการส่งเสริมการขายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการทำให้ชาสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับ นอกจากการผลิตแล้วความพิถีพิถันในเรื่องการบรรจุหีบห่อให้ดูสวยงามและผู้บริโภครู้สึกว่าสะอาดปลอดภัยนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ กลยุทธ์การตลาดที่น่าจะใช้ได้ผลดีในระยะเริ่มแรกก็คือ การส่งเสริมการจำหน่ายชาสมุนไพรในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อนแล้วค่อยๆขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดอาหารไทยที่ต้องให้ชาวต่างประเทศรู้จักและยอมรับในคุณค่าของเครื่องเทศและสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารไทย ทำให้อาหารไทยกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างฐานตลาดให้มีความมั่นคงก่อนแล้วจึงเปิดแนวรุกต่อไปได้อย่างมั่นใจ

บทสรุป

ในอนาคตตลาดน้ำสมุนไพรทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศมีอนาคตสดใสอย่างมาก โดยผู้ผลิตต้องพยายามหาสมุนไพรชนิดอื่นๆที่มีประโยชน์เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูป แต่ต้องให้คงเอกลักษณ์ความเป็นน้ำสมุนไพรไทย ผลพลอยได้ในการขยายตลาดน้ำสมุนไพรถ้ายิ่งผลิตสินค้าออกมาขายได้มากเท่าไหร่ เกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรขายก็จะมีรายได้มากขึ้นด้วย นับว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้หากมีการพัฒนาไปจนถึงขั้นการส่งออกได้อย่างจริงจังแล้วก็จะสามารถสร้างรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศที่อาศัยวัตถุดิบและแรงงาน รวมทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น เพียงแต่ในการขยายตลาดส่งออกต้องอาศัยเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นเพื่อปรับปรุงทั้งการผลิตและการบรรจุหีบห่อ รวมทั้งรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด