ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 … แนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสแรก

จากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวเลขถึงเดือนพฤษภาคม 2547 จะพบว่า ตัวแปรเศรษฐกิจหลัก ๆ ของไทยในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสที่สอง (เม.ย.-พ.ค.) มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากในไตรมาสแรกทั้งสิ้น โดยการชะลอตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและสถานการณ์ในภาคใต้ นอกจากนี้ การผลิตและการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารยังถูกกระทบจากปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนวัตถุดิบ และมาตรการห้ามนำเข้าไก่จากไทยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งจากปัญหาการตกต่ำของราคากุ้งจากการที่สหรัฐฯกำลังไต่สวนเพื่อพิจารณาอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ในขณะเดียวกัน การขยายตัวในอัตราที่สูงของการนำเข้าได้ส่งผลให้มูลค่าการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดล้วนปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวของตัวแปรสำคัญ ๆ ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ตลอดจนแนวโน้มตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง สามารถสรุปได้ ดังนี้:-

– การบริโภคภาคเอกชน ในช่วงเม.ย-พ.ค.ขยายตัวเพียง 3.5% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัว 4.1% ในไตรมาสแรก โดยถูกกระทบจากอำนาจซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวน่าที่จะช่วยส่งผลให้อัตราการขยายตัวของตัวเลขในไตรมาสที่ 2 ขยับขึ้นเป็น 3.8% แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการขยายตัวในไตรมาสแรก

– การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 16.4% ในช่วงเม.ย-พ.ค.ลดลงจากอัตราการขยายตัว 19.4%ในไตรมาสแรก โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมการลงทุนในหมวดยอดขายรถยนตร์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งจากการชะลอตัวในการนำเข้าสินค้าประเภททุน (ณ ราคาคงที่) และกิจกรรมการก่อสร้างจากการปรับเพิ่มของราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็ก อย่างไรก็ตาม คาดว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment) น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ประคับประคองภาวะการลงทุนในประเทศ ทำให้คาดว่า ตัวเลขในไตรมาสที่ 2 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 17.3% แต่ก็ยังคงต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรก

– การส่งออกสุทธิ ซึ่งวัดโดยปริมาณ (volume) การส่งออกหักด้วยปริมาณการนำเข้า ยังคงหดตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสแรกของปี ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากปัจจัยหลัก คือ การนำเข้าได้ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกค่อนข้างมากทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณ โดยในช่วงเม.ย.-พ.ค. มูลค่าการนำเข้า (ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) ขยายตัวถึง 32.1% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 21.4% ในขณะเดียวกันปริมาณของการนำเข้า (หลังจากหักอิทธิพลของราคา) ในช่วงดังกล่าวก็ขยายตัวถึง 17.7% เมื่อเทียบกับการขยายตัวของปริมาณการส่งออกเพียง 3.7%

– แม้ว่าการท่องเที่ยวจะได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา แต่การปรับลดของการเกินดุลการค้า ได้ส่งผลให้มูลค่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้า โดยในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ได้หดตัวถึง 51.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่ปรับลดลงเพียง 14.6% ในไตรมาสแรกของปี

– นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งตลอดจนการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง ยังส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวในช่วงเม.ย.-พ.ค.เพียง 6.8% เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 11.3% ในไตรมาสแรก โดยคาดว่าตัวเลขในไตรมาสที่สองจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 7.2% ซึ่งก็ยังคงต่ำกว่าการขยายตัวในไตรมาสแรกอย่างเห็นได้ชัด

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าในทางทฤษฎี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง น่าที่จะได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ถูกกระทบอย่างหนักจากโรค SARS รวมทั้งตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ ก็น่าจะได้รับแรงหนุนจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า (โดย GDP ในไตรมาสสองปี 2546 ขยายตัวเพียง 5.8% ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าไตรมาสอื่น ๆ) แต่จากตัวเลขเบื้องต้นในช่วงสองเดือนแรกในไตรมาสที่สอง (เม.ย-พ.ค. 2547) กลับพบว่า ตัวแปรเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ล้วนชะลอตัวลงจากในไตรมาสแรกทั้งสิ้น โดยการชะลอตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มของราคาน้ำมันและสถานการณ์ในภาคใต้ ตลอดจนอำนาจซื้อที่ลดลงจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

ในขณะที่อีกส่วนเป็นผลจากปัญหาการปรับลดของการเกินดุลการค้า โดยเฉพาะในเชิงปริมาณ (trade volume) ส่วนภาคการผลิตก็ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาในด้านอุปทาน ทั้งจากภัยแล้งและการขาดแคลนวัตถุดิบ ดังนั้น จากตัวเลขต่าง ๆ ที่ปรากฏ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยในไตรมาสที่สอง อาจจะออกมาต่ำกว่าในไตรมาสแรก และต่ำกว่าที่คาดหวังกันเอาไว้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า GDP ในไตรมาสที่สอง อาจจะขยายตัวในช่วง 6.0%-6.5% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังอาจจะส่งผลกดดันต่อตัวเลขการขยายตัว GDP ของทั้งปี ทั้งนี้เพราะในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายนั้น จะต้องเทียบกับฐานที่ค่อนข้างสูงของปีก่อนหน้า