สิ่งพิมพ์ครึ่งหลังปี’47 : ยังเติบโต…แม้มีอุปสรรค

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังถือเป็นช่วงที่ภาครัฐและเอกชนมีการเร่งใช้งบประมาณเพื่อสั่งผลิตสิ่งพิมพ์ค่อนข้างมากทั้งในส่วนของสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือตำราเรียน ปฏิทิน รวมทั้งสิ่งพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์สินค้าเพื่อการส่งออกที่มีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯมหานคร รวมทั้งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2547 ก็ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้รายได้ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งในส่วนของรายได้จากการจำหน่ายสิ่งพิมพ์ รายได้จากการรับจ้างพิมพ์งาน รวมทั้งรายได้จากค่าโฆษณาปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีแนวโน้มเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีปัจจัยที่พึงระวังหลายประการ อาทิ ตลาดการรับจ้างพิมพ์งานจากต่างประเทศทั้งในส่วนของนิตยสาร วารสาร สมุดภาพสามมิติ การ์ดอวยพรต่างๆ ที่ยังมีแนวโน้มไม่ค่อยดีนักนับตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีแรกเป็นต้นมาอันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่บริษัทสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆจึงถูกย้ายไปยังโรงพิมพ์ในประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ที่จับตลาดต่างประเทศต้องพยายามหาตลาดอื่นๆเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2547 นี้

ในขณะเดียวกันปัญหาทางด้านราคากระดาษที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบันและมีทีท่าว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ก็ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์และอาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังได้

แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีแรก 2547 จะมีปัจจัยหลายประการที่มากระทบไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกจนส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารประเภทไก่ที่จับตลาดในประเทศและตลาดส่งออกลดการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆลงเช่นสิ่งพิมพ์ประเภทใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้งสิ่งพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ ในขณะเดียวกันปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่พอสมควร

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังคงมีอัตราการขยายตัวในระดับประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ในขณะเดียวกันธุรกิจสิ่งพิมพ์ของไทยยังได้รับผลดีจากการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศอาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่หมดวาระในช่วงครึ่งปีแรกจำนวน 2,767 แห่ง

นอกจากนี้จากการแข่งขันฟุตบอลยูโร2004 ที่เริ่มเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน-5กรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลทำให้ความต้องการบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์รวมทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลสู่สื่อสิ่งพิมพ์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์มีกำไรเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรกปี 2547 ที่มีการแสดงผลกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 55.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในขณะที่คาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่กำลังจะประกาศออกมาน่าจะมีกำไรในระดับสูงเช่นเดียวกับไตรมาสแรก

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 นั้นคาดว่าตลาดในประเทศจะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ดี ถึงแม้ว่า ปัญหาราคาน้ำมัน รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทางด้านการผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐตลอดจนทิศทางการส่งออกที่ยังคงขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้สามารถขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยธุรกิจที่ถือเป็นตลาดของธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ค้าปลีก สื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งบริษัทท่องเที่ยว จะยังคงมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเปิดตัวสินค้าหรือเร่งยอดขายที่ทำได้ไม่ดีนักในช่วงครึ่งปีแรกให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ทางด้านของค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่มีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจากการที่ในเดือนสิงหาคมจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรวมทั้งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตลอดรวมไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2548 ทำให้ผู้สมัครเริ่มทยอยหาเสียงตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งหลังของ 2547 มีความคึกคักขึ้นกว่าภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2547 จะเติบโตตามปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆประการที่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ไม่ควรมองข้ามโดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิต

นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ราคากระดาษซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวสูงส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคกระดาษปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้มีความต้องการบริโภคกระดาษเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันผลจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าการมลรัฐบางแห่ง ตลอดจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในช่วงปลายปี 2547 ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆอาทิ หนังสือ แผ่นปลิว และโปสเตอร์ต่างๆ ในขณะที่สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ก็มียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการติดตามข่าวสารการเลือกตั้งของประชาชน

ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคากระดาษโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากราคากระดาษพิมพ์เขียนที่ใช้สำหรับงานพิมพ์นิตยสาร วารสาร ตำราเรียนต่างๆ(กระดาษปอนด์ออฟเซ็ตขนาด 60 แกรม)จำหน่ายปลีกในประเทศเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 28,900 บาทต่อตันในช่วงเดือนมกราคม 2547 มาอยู่ที่ระดับ 29,100 บาทต่อตันในเดือนมีนาคม ก่อนที่จะปรับขึ้นมาเป็น 30,400 บาทต่อตันในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ราคากระดาษจะทรงตัวในระดับสูงเช่นนี้ไปจนถึงช่วงปลายปี

ในขณะที่ราคากระดาษหนังสือพิมพ์ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันจากระดับ 18 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงไตรมาส 1 มาอยู่ที่ระดับ 19-20 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงไตรมาส 2 ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้นราคากระดาษหนังสือพิมพ์ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากรายได้ของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังได้

2.ปัญหาทางด้านการรับจ้างพิมพ์งานต่างประเทศ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 ตลาดการรับพิมพ์งานสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศไม่แจ่มใสนักทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯได้มีการย้ายฐานการผลิตสิ่งพิมพ์ไปประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆอาทิ นิตยสาร วารสาร สมุดภาพสามมิติ การ์ดอวยพรต่างๆ จึงถูกย้ายไปยังโรงพิมพ์ในประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยเพิ่มมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าสถานการณ์ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2547 จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกตามภาวะการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร็วนั่นคือปัญหาทางด้านราคากระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การปรับราคาสิ่งพิมพ์ให้เป็นไปตามต้นทุนวัตถุดิบทำได้ไม่ง่ายนักเนื่องจากการแข่งขันที่มีในธุรกิจสิ่งพิมพ์ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องมีการปรับตัวด้วยการบริหารสต็อกวัตถุดิบให้สอดคล้องกับราคากระดาษที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการบริหารสต็อกวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิตลงได้ส่วนหนึ่ง

สำหรับในส่วนของตลาดการรับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ในต่างประเทศนั้นผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ของไทยจำเป็นต้องมีการขยายไปสู่ตลาดอื่นๆที่ไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ อาทิ ตลาดในประเทศที่ไทยมีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อทดแทนตลาดสิ่งพิมพ์ของไทยในสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงอันเป็นผลจากการที่จีนได้เข้ามาแย่งตลาดการรับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์เพิ่มมากขึ้น