เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์:เจาะตลาด”หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”

รัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนที่จะให้การสนับสนุนการผลิตในระดับชุมชนภายใต้โครงการ”หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”อันจะมีผลต่อการพัฒนาการผลิต และการตลาดสินค้าในท้องถิ่นภาคต่างๆของประเทศอย่างกว้างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจอาหารแปรรูปประเภทต่างๆอันเกิดจากภูมิปัญญาไทย อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ผลิตมาจากกลุ่มชุมชนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ยังขาดมาตรฐานด้านการบรรจุภัณฑ์(Packaging)ชาวบ้านยังใช้วิธีการบรรจุสินค้าแบบดั้งเดิมไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ทำให้เก็บถนอมอาหารไว้ได้ไม่นาน สินค้าจึงมักจะเน่าเสียง่ายและยังไม่เป็นการสร้างแรงดึงดูดใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในทันทีที่พบเห็น จากรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สร้างความประทับใจในเบื้องต้น ดังนั้น การเร่งผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นมีการใช้เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์(Sealing Machine)ที่มีคุณภาพอย่างแพร่หลายจะมีผลอย่างมากต่อการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นและยังจะเป็นการขยายตลาดสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอีกด้วย

รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ : เสน่ห์ดึงดูดใจลูกค้า

ในยุคของการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นเช่นในปัจจุบันนี้ การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคคือช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทดลองใช้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งโดยที่ยังไม่ทราบว่าคุณภาพของสินค้านั้นๆดีหรือไม่อย่างไร การตัดสินใจในเบื้องต้นจึงมักจะขึ้นอยู่กับการพิจารณารูปลักษณ์ของ”บรรจุภัณฑ์”(Packaging)ที่ห่อหุ้มสินค้านั้นก่อนว่า เป็นที่ดึงดูดและติดตาตรึงใจมาก-น้อยเพียงใด ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า“บรรจุภัณฑ์” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง จึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญในลำดับต้นๆในการผลิตสินค้าออกสู่ตลาดที่จะมีผลต่อการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะช่วยรักษาคุณภาพสินค้าให้อยู่ในสภาพที่ดีได้อย่างต่อเนื่องยาวนานอีกด้วย ดังนั้น “บรรจุภัณฑ์”จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ใช้ในการบรรจุสินค้าเพื่อการจัดจำหน่ายสนองความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้น ในการผลิตบรรจุภัณฑ์จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วัสดุศาสตร์ การออกแบบ และการวิจัยตลาดที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในระดับที่สูงมากควบคู่กันไป

สถานภาพการผลิต : เครื่องปิดผนึก 3 แบบ…ที่แตกต่าง

ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่นั้น เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์จะมีความยุ่งยากซับซ้อนของกระบวนการผลิตและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่นเครื่องจักรประเภท โฟม (Form),ฟิล์ม(Film) และซีลด์ (Seal) ส่วนในอุตสาหกรรมขนาดเล็กนั้น บรรจุภัณฑ์โดยส่วนใหญ่ที่ใช้จัดอยู่ในกลุ่มพลาสติก ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้โดยทั่วไปคือ“เครื่องปิดผนึกแบบซีลด์”( Sealing Machine ) นั่นเอง

เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ ที่น่าสนใจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

1) เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์แบบบาร์ร้อน(Bar Sealer)หลักการทำงานของเครื่องจักรแบบนี้ก็คือการแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน โดยที่บาร์ร้อนจะอยู่ด้านบน ในการใช้งานจะใช้แรงกดอย่างสม่ำเสมอ เครื่องแบบนี้จะเหมาะกับการปิดผนึกบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีหลายชั้น โดยก่อนการปิดผนึกจะต้องจับบริเวณปากถุงให้มีความตึง-เรียบ ไม่มีรอยย่น ทำให้รอยปิดผนึกมีความเรียบเสมอกันไปตลอด

2) เครื่องปิดผนึกแบบสายพาน(Band Sealer) เครื่องแบบนี้มีระบบการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องปิดผนึกแบบบาร์ร้อน แต่มีความเร็วในการทำงานสูงกว่า และแรงดันแต่ละครั้งมีความสม่ำเสมอ สามารถตั้งระยะชิดของสายพานให้ได้ความดันใกล้เคียงกันตลอดแนวปิดผนึก โดยความร้อนของสายพานจะถูกส่งผ่านจากแผ่นความร้อนและลวดความร้อน เครื่องปิดผนึกแบบสายพานจะมีกำลังการผลิตสูงกว่าเครื่องปิดผนึกแบบบาร์ร้อนถึง 3 เท่า

3) เครื่องปิดผนึกแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า(Impulse Sealer) มีระบบการทำงานเช่นเดียวกับ 2 แบบแรก แต่มีความแตกต่างกันตรงส่วนของเส้นลวดที่ให้ความร้อนคือ จะมีฉนวนความร้อนหุ้มอยู่ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะแปลงเป็นความร้อนเชื่อมบริเวณปากถุงให้หลอมเหลวเป็นเส้นรอยปิดผนึกเล็กๆ เครื่องแบบนี้จะมีการสะสมความร้อนน้อยกว่าและให้ความร้อนในปริมาณที่แน่นอนกว่า จึงเหมาะกับการใช้งานกับพลาสติกที่ไม่มีการเคลือบหลายชั้น

การตลาด : ศักยภาพที่เติบโตต่อเนื่อง

ตลาดเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ มีศักยภาพด้านการตลาดที่น่าสนใจ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์เอนกประสงค์ เพื่อการบรรจุสินค้าอุปโภค-บริโภคต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งที่เป็นสินค้าที่ผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนกระทั่งถึงกิจการผลิตในระดับครัวเรือนของท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และกองทุนหมู่บ้านด้วยแล้ว ก็ยิ่งส่งผลให้ขนาดของตลาดเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้โดยไม่หยุดยั้ง เนื่องจากจะเกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชนของภาคต่างๆอย่างกว้างไกล อันเป็นผลิตผลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาอีกเป็นจำนวนมหาศาลของแต่ละตำบลและแต่ละหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหารแปรรูปต่างๆ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความจำเป็นต้องทำการบรรจุลงถุง ซอง กล่อง แล้วปิดผนึกเพื่อการจำหน่าย ดังนั้น ความต้องการเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์จึงมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วยในที่สุด

โดยเหตุที่การผลิตสินค้าภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ตามนโบายรัฐบาล ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นผลิตสินค้าภายในระดับตำบลและหมู่บ้านของท้องถิ่นในภาคต่างๆ ดังนั้น ความต้องการเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์จึงต้องมีระดับราคาที่ไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากการผลิตในระดับท้องถิ่นมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ชาวบ้านจึงต้องเน้นการผลิตสินค้าให้มีต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การซื้อเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศก็จะมีข้อจำกัดเพราะมีราคาแพง ต้องผ่านขั้นตอนของตัวแทนนำเข้าและพ่อค้าคนกลางหลายซับหลายซ้อน กว่าจะถึงมือชาวบ้าน ทำให้เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทยที่มีราคาถูกกว่าเครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศมีโอกาสทางการตลาดค่อนข้างดี

บทสรุป

จากการที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการให้การสนับสนุนด้านการผลิตในระดับชุมชนภายใต้โครงการ”หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าในท้องถิ่นภาคต่างๆของประเทศอย่างกว้างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจอาหารแปรรูปประเภทต่างๆ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ผลิตจากกลุ่มชนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ยังขาดมาตรฐานด้านการบรรจุภัณฑ์(Packaging) โดยยังใช้วิธีการบรรจุสินค้าแบบเก่า ไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ดังนั้นการเร่งผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นให้มีการใช้เครื่องปิดผนึกบรรจุภัณฑ์(Sealing Machine)อย่างถูกวิธีและให้แพร่หลาย จะมีผลอย่างมากต่อการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นและยังเป็นการขยายตลาดให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้นอีกด้วย ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ