รายงานภาวะตลาดหุ้นและการเงิน ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2547

ดัชนีตลาดหุ้นวันนี้

ตลาดหุ้นไทยในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม ปิดตลาดลดลงไปจากวันพุธที่ผ่านมาเล็กน้อยที่ 6.73 จุด หรือร้อยละ 1.13 ไปอยู่ที่ 588.876 จุด โดยเป็นการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค และ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้น ทั้งนี้ตลาดได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคาร

• ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดตลาดปรับตัวลดลงไป 53.6 จุดหรือร้อยละ 0.43 ไปปิดที่ระดับ 12,359.83 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ได้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อวานนี้ และได้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเอกชนลดลงไป

• ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดตลาดลดลงไปในวันนี้ โดยลดลง270.87 จุด หรือร้อยละ 2.46 ไปปิดที่ระดับ 10,757.2 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน จากการเปิเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่น้อยกว่าที่นักลงทุนส่วนมากได้คาดการณ์ไว้ และจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ได้เพิ่มขึ้นซึ่งอาจกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

• ตลาดหุ้น Dow Jones ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม ปรับตัวลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2546 โดยลดลงไป 123.73 จุด หรือร้อยละ 1.24 ไปอยู่ที่ระดับ 9,814.59 จุด จากปัจจัยลบหลายประการอันได้แก่การประกาศผลกำไรที่ลดลงของบริษัทฮิวเลทท์ แพคการ์ด, ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น, การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และ แนวโน้มของผลกำไรบริษัทเอกชนที่อ่อนแอลงในไตรมาส3

• เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินส่วนใหญ่ในวันนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 1.219 ดอลลาร์ฯ/ยูโร และ 41.54 บาท/ดอลลาร์ฯ และที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 111.83 เยน/ดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้น

Thailand’s SET
ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงไปจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอีกเล็กน้อยที่ 6.73 จุด หรือร้อยละ 1.13 ไปอยู่ที่ 588.87 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค และได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทต่างๆ สูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับปัจจัยบวกอยู่บ้างในวันนี้จากการที่นักลงทุนได้เริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียของภาคธนาคาร

Japan Nikkei-225
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดตลาดลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน โดยปิดที่ระดับ 10,757.2 จุด ลดลงไป 270.87 จุด หรือร้อยละ 2.46 ทั้งนี้ตลาดได้รับแรงกดดันจากการประกาศตัวเลขจีดีพีช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.1 ทำให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มที่พึ่งพาธุรกิจในประเทศ เช่น กลุ่มก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ออกมา นอกจากนั้นการที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และได้ทำให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มส่งออก เช่น หุ้นแคนนอน อิงค์ ทำให้ราคาปรับลดลงอย่างมาก

Hang Seng
ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดตลาดลดเช่นเดียวกัน โดยลดลงไป 53.6 จุด หรือร้อยละ 0.43 ไปปิดที่ระดับ 12,359.83 จุด โดยได้รับปัจจัยลบจากการที่ราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากที่กองกำลังในสหรัฐฯได้เข้าปราบกลุ่มกบฎในอิรัก ท่ามกลางคำขู่ว่าจะมีการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดอุปทานน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนั้นนักลงทุนได้คาดว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ ผลประกอบการของภาคเอกชนลดลงไป

US ‘s Dow Jones
ตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม ปรับตัวลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2546 โดยลดลงไป 123.73 จุด หรือ ร้อยละ 1.24 ไปปิดที่ 9,814.59 จุด จากปัจจัยลบหลายประการ อันได้แก่ การประกาศการคาดการณ์แนวโน้ม และผลกำไร ที่ลดลงของฮิวเลทท์ แพคการ์ด ซึ่งกดดันราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีให้ลดลง, ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์, อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯทีสูงขึ้น และ แนวโน้มของบริษัทเอกชนที่อ่อนแอลงในไตรมาส 3

US’s NASDAQ
ดัชนี NASDAQ ลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบปี โดยได้ปิดตลาดที่ระดับ 1,752.49 จุด ลดลง 29.93 จุด หรือ ร้อยละ 1.68 โดยได้รับแรงกดดันจากการประกาศผลประกอบการบริษัทเอกชนที่อ่อนแอ และ ราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์

สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

Baht/USD
เงินบาท/เงินดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้ได้อ่อนค่าลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบปีที่ 41.57 บาท/ดอลลาร์ฯ ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยเป็นการอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินเยน และค่าเงินอื่นๆในภูมิภาค นอกจากนั้นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงก็เป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงิน นักลงทุนส่วนใหญ่ได้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อให้แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ โดยปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าลงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Yen/USD
เงินดอลลาร์สหรัฐฯได้แข็งค่าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินเยน ทั้งนี้เงินเยนได้รับแรงกดดันจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส เม.ย.-มิ.ย.ที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ของญี่ปุ่นซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากที่คาดไว้ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 หรือที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4 นอกจากนั้นการที่ราคาน้ำมันดิบที่ตลาด NYMEX ได้เพิ่มไปอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยปิดตลาดที่ 45.75 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลเมื่อวานนี้ ก็ได้เป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่

USD/Euro
เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรเช่นเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยได้แรงบวกจากการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ซึ่งถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.1 แต่ก็เป็นการบ่งบอกถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่จะรอฟังการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต, ดุลการค้าสหรัฐฯ เดือน ก.ค.และการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนในวันนี้

สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

Thai Gov. Bond
มูลค่าการซื้อขายในวันนี้อยู่ที่ 6,685.3 ล้านบาท เพิ่มจากวันพุธที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 1 มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของพันธบัตรองค์กรภาครัฐฯ ถึงร้อยละ 37 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ได้ปรับลดลงไป -0.5 ถึง –2 bps.ในวันนี้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

Us Treasury Bond 10 Years
ราคาพันธบัตรของสหรัฐฯในวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม ปรับตัวลดลงไปเล็กน้อย หลังจากที่ได้มีการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.ของสหรัฐฯที่ร้อยละ 0.7 น้อยกว่า ที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.1 และตัวเลขที่ไม่รวมยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 จากที่คาดไว้ที่ร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากที่ได้ลดลงไปในเดือน มิ.ย. ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในเดือน ก.ย.นี้