อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: จีนเดินเกมรุกบุกฐานการลงทุนไทย

เมื่อครั้งที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงปลายปี 2544 ได้สร้างความหวั่นเกรงแก่ประเทศอื่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากจีนมีความได้เปรียบทางขนาดทั้งในภาคการผลิตและการบริโภค ด้วยแรงงานราคาถูกจากประชากรจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดขนาดมหึมาที่พร้อมจะดูดซับสินค้าและบริการ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติจากทุกมุมโลก ส่งผลเกื้อหนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนสูงถึงร้อยละ 9.1 และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่จีนกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 ย่อมเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของจีนในการพลิกโฉมหน้าประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรกว่า 1,200 ล้านคน แต่รัฐบาลจีนสามารถแปรเปลี่ยนภาระหนักอึ้งในการเลี้ยงดูประชากรในประเทศให้เป็นขุมทองของนักลงทุนจากทุกสารทิศ

ถึงวันนี้ รัฐบาลจีนเดินหน้าอีกก้าวด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวจีนใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีและการลดการกีดกันทางการค้าออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม อาศัยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและภูมิประเทศที่ชิดใกล้เป็นสะพานเชื่อมโยงสู่การลงทุนในประเทศเหล่านี้ ประเทศไทยคงต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของจีนในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงดังกล่าว นับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานการลงทุนที่แข็งแกร่งของประเทศไทยเช่นกัน

พลิกปูม FDI จีน…สู่การลงทุนข้ามชาติ

– ตั้งแต่ปี 2522 จีนได้เริ่มนโยบายปฏิรูปประเทศด้วยการค่อยๆเปิดรับการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) นำไปสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศจีนอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จีนมีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินมั่นคงขึ้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าทันสมัยของจีน ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการจีน ทำให้ทางการจีนเห็นลู่ทางที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันภายในประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น

– ในปี 2542 แนวคิดของการส่งเสริมให้นักลงทุนชาวจีนก้าวสู่โลก (Go Global) เริ่มเด่นชัดขึ้น การออกไปลงทุนตามภูมิภาคต่างๆซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการชาวจีนในเวทีโลกเท่านั้น ทว่ายังเป็นการแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆให้แก่ประเทศจีนในขณะเดียวกันอีกด้วย โดยธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศของจีนมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย เช่น การเดินเรือขนส่งและแรงงานบริการ สู่ธุรกิจการผลิตและแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า เช่น อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการรับเหมาก่อสร้างซึ่งต้องใช้ทักษะและพื้นความรู้ทางวิชาชีพมากขึ้น นอกจากนี้ การร่วมทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้และการประมง มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ในประเทศ

– ในปี 2546 นักธุรกิจจีนยังคงมุ่งหน้าแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยขนเงินลงทุนออกจากจีนคิดเป็นมูลค่า 2,087 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ยอดรวมของจำนวนกิจการจีนที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์จีนให้ไปลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2546 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,470 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างเม็ดเงินรายได้กว่า 1.5 เท่าจากการลงทุนดังกล่าวเป็นมูลค่า 77,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เงินลงทุนจากจีนกระจายสู่ประเทศต่างๆกว่า 160 ประเทศทั่วโลกและทุกภูมิภาค

จีน & อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: นักลงทุนหน้าใหม่…สายป่านยาว

กระแสการลงทุนในต่างประเทศของจีนได้ครอบคลุมมาถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้อย่างเช่น พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งล้วนแต่มีภูมิหลังใกล้ชิดกับจีน จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักลงทุนจีน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปจุดเด่น 4 ประการของอนุภูมิภาคดังกล่าวที่ส่งเสริมให้สายสัมพันธ์การลงทุนกับจีนเจริญงอกงาม ดังนี้

• เชื้อชาติ และสภาพภูมิประเทศ

ความเกรียงไกรของจีนในอดีตที่ได้ขยายอิทธิพลมาสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่เพียงแต่ทิ้งร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันประชากรพม่าและเวียดนามส่วนหนึ่งยังคงสืบเชื้อสายจีนประมาณร้อยละ 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรลาวและกัมพูชาอย่างน้อยร้อยละ 1 ที่สืบเชื้อสายชาวจีน ส่งผลให้นักลงทุนจีนได้รับการยอมรับในประเทศเหล่านี้มากกว่านักลงทุนรุ่นบุกเบิกชาติตะวันตก

นอกจากนี้ จีนยังมีความได้เปรียบในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันกับพม่า ลาว และเวียดนาม (ยกเว้นกัมพูชา) และด้วยการเร่งรัดพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่อเป็นถนนสายเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อการขยายการลงทุนจากจีนในอนาคตมากยิ่งขึ้น

• ความสัมพันธ์การเมือง

ลัทธิทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันของจีน ลาว และเวียดนามก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสามประเทศยังคงสานต่อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชียให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับกัมพูชา แม้ประเทศทั้งสองมิได้มีพรมแดนติดต่อกัน แต่จีนกับกัมพูชามีสายสัมพันธ์แนบแน่นทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากการที่กษัตริย์นโรดมสีหนุเสด็จไปรับการรักษาและประทับพักผ่อนอยู่ที่กรุงปักกิ่ง การเดินทางเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เมื่อเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา รวมถึงการที่จีนให้เงินช่วยเหลือแบบปลอดดอกเบี้ยแก่กัมพูชากว่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และการจัดตั้งโรงเรียนจีนที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถรองรับนักเรียนได้กว่า 14,000 คนขึ้นในกัมพูชา

ในส่วนของพม่า การที่ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกต่อปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของพม่ากับจีนยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ล่าสุด พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีพม่าได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2547 นำไปสู่การลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันกว่า 24 ฉบับ

• นโยบายส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอินโดจีน

หลังจากที่การพัฒนาประเทศของสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเน้นการพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2531 พม่า ลาว และเวียดนามได้เปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ขณะที่กัมพูชาเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 2537 โดยตระหนักดีว่าเงินลงทุนดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังเช่นที่ปรากฏแก่จีน ดังนั้น รัฐบาลกลุ่มอินโดจีนจึงปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆเพื่อดึงดูดเงินทุนต่างชาติ อาทิ การอนุญาตให้ต่างชาติร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในภาคการเงินการธนาคารของประเทศ การก่อสร้าง ตลอดจนการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ในกิจการบางอย่างได้ 100% ส่งผลให้โอกาสของการลงทุนของจีนในประเทศเหล่านี้ยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น

• การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน และโครงการความร่วมมือต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกระตุ้นให้สมาชิกร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ประกอบกับอาเซียนและจีนเตรียมจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในปี 2553 จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเอื้อต่อการเข้ามาของกลุ่มทุนจากจีนในปัจจุบัน ตามกรอบความร่วมมือที่จะมีขึ้นในอนาคต

ไทย & อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: ฐานการลงทุนเก่า…ส่อเค้าวิกฤต

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรูปธรรมมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา สนองนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งกระตุ้นให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยอาศัยประสบการณ์และความชำนาญงานในการประกอบธุรกิจต่างๆ ขยายลู่ทางการตลาดให้กว้างขวางขึ้น และการเข้าถึงทรัพยากรที่ขาดแคลนในประเทศไทย รวมทั้งการแสวงหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามได้เพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านบาทในช่วงก่อนหน้านั้น เป็น 74 ล้านบาทในปี 2534 และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดรวมประมาณ 11,859 ล้านบาทในปัจจุบัน
ทว่าการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศของกลุ่มทุนจากไทยได้สะดุดลงชั่วคราวจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ลุกลามขึ้น ส่งผลให้ในปี 2541 มูลค่าการลงทุนของไทยในประเทศเหล่านี้ลดลงเหลือ 705 ล้านบาท จาก 2,188 ล้านบาทในปี 2540 อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสานต่ออีกครั้งและได้ขยายขอบเขตสู่การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อลดช่องว่างและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเคียงคู่กัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปบทบาทการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนี้

– เวียดนาม เป็นประเทศที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากไทยได้มากที่สุด ยอดรวมการลงทุนสุทธิของไทยในเวียดนามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีมูลค่ารวมสูงถึง 6,010 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนของไทยในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของเวียดนามนั่นเอง เงินทุนจากไทยไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเวียดนามตั้งแต่ปี 2532 โดยมูลค่าการลงทุนของไทยในเวียดนามเฉลี่ยปีละประมาณ 540 ล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจหลักที่ไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ โรงแรมและการท่องเที่ยว เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น

– กัมพูชา การลงทุนของไทยในประเทศนี้เริ่มขึ้นในปี 2534 ตามนโยบายของรัฐบาลและได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการค้าชายแดนระหว่างกัน ธุรกิจหลักที่ไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ได้แก่ โทรคมนาคม โรงแรมและการท่องเที่ยว การผลิตอาหารสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน ยอดรวมการลงทุนสุทธิของไทยในกัมพูชามีมูลค่าประมาณ 2,503 ล้านบาท สูงเป็นอันดับสองของการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

– ลาว นักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนในลาวตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ส่งผลให้การลงทุนในลาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมียอดการลงทุนสูงสุด 1,415 ล้านบาท ในปี 2539 แต่เริ่มชะลอตัวลดลงในเวลาต่อมา โดยการลงทุนของไทยในลาวตั้งแต่ปี 2532 ถึงปัจจุบันยังคงสูงเป็นอันดับสามของการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีมูลค่าประมาณ 1,789 ล้านบาท ธุรกิจหลักที่ไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า โทรคมนาคมและการขนส่ง ก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหารและหัตถกรรม เป็นต้น

– พม่า แม้ว่าพม่าจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปลงทุน แต่การลงทุนของไทยกลับชะงักงันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาภายในประเทศของพม่า ส่งผลให้ยอดรวมสุทธิการลงทุนของไทยในประเทศพม่าตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบันมีมูลค่าน้อยที่สุดในกลุ่มประมาณ 1,557 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักที่ไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ โรงแรมและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตก๊าซธรรมชาติและสินค้าเกษตร การขนส่ง เป็นต้น

ไทย VS จีน: ชิงชัยสมรภูมิลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

จีนเริ่มแผ่อิทธิพลการลงทุนมายังประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีบทบาทโดดเด่นในประเทศดังกล่าว เมื่อพิจารณาการลงทุนโดยตรงของต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตของประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยเฉพาะมูลค่าโครงการลงทุนทั้งหมดที่ได้รับการอนุมัติแล้วตั้งแต่ปี 2538 ถึงปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยและจีนต่างมีความสำคัญติดอันดับต้นๆของการลงทุนโดยตรงในประเทศดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

• ไทยแชมป์ลงทุนในลาวและพม่า

ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในประเทศลาวและพม่าสูงเป็นอันดับหนึ่ง ครองส่วนแบ่งการลงทุนกว่าร้อยละ 64 และ 39 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของลาวและพม่า ตามลำดับ ขณะที่จีนรั้งอันดับ 2 ในลาว และอันดับ 7 ในพม่า เนื่องจากโครงการลงทุนของไทยในประเทศทั้งสองเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในลาว โครงการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพม่า เป็นต้น ส่งผลให้การลงทุนของไทยในลาวสูงกว่า 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเม็ดเงินลงทุนของจีนในลาวประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนของไทยในพม่าสูงถึง 564 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับจีนลงทุนในพม่าประมาณ 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลาเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ การลงทุนของไทยในลาวมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 โดยมูลค่าการลงทุนของไทยในลาวลดลงจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541 เหลือประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนยังคงมีแนวโน้มลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น จากมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541 ได้เพิ่มขึ้นชัดเจนมีมูลค่าเฉลี่ยราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากจีนได้เข้าไปลงทุนช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในลาว

สำหรับประเทศพม่า การลงทุนของไทยในพม่าชะงักงันตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนของจีนในพม่าไม่ค่อยสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่า อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผลจากการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของจีนและพม่า ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา จะส่งผลดีต่อการขยายการลงทุนของจีนในพม่าท่ามกลางแรงกดดันจากประเทศตะวันตก

• จีนผงาดลงทุนในกัมพูชา

ประเทศจีนเดินหน้าขยายการลงทุนในกัมพูชาแซงหน้าไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับ 3 รองจากไต้หวันและมาเลเซีย โดยมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนสูงกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 6 เม็ดเงินลงทุน 42 ล้านดอลลาร์ กัมพูชานับเป็นหัวหาดการลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพราะความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างกัน ขณะที่ประเทศไทยมักเกิดกรณีขัดแย้งทางการเมืองกับกัมพูชา ทำให้การลงทุนของไทยในกัมพูชาสะดุดลงเป็นระยะๆ

• ตลาดเวียดนามยังเปิดกว้าง

บทบาทด้านการลงทุนของประเทศไทยและจีนในเวียดนามยังคงเป็นรองชาติอื่นๆ โดยประเทศไทยลงทุนเป็นอันดับที่ 9 ด้วยส่วนแบ่งการลงทุนร้อยละ 3.28 ของการลงทุนโดยตรงของต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม ขณะที่จีนอยู่อันดับ 15 และมีส่วนแบ่งการลงทุนเพียงร้อยละ 1.11 อย่างไรก็ตาม เวียดนาม นับเป็นทำเลลงทุนที่มีศักยภาพ จึงสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากไทยและจีนให้หลั่งไหลเข้าสู่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยลงทุนในเวียดนามเป็นมูลค่าประมาณ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเม็ดเงินลงทุนของจีนในเวียดนามประมาณ 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ จีนทุ่มเงินลงทุนในเวียดนามอย่างแข็งขันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หากจีนยังคงขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มว่าจีนจะแซงหน้าไทยและก้าวขึ้นเป็นนักลงทุนต่างชาติชั้นนำของเวียดนามในไม่ช้า

ท่ามกลางกระแสที่เชี่ยวกรากของเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติในโลกทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเงินทุนโดยตรงจากต่างชาติไหลเข้าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ได้ปรับบทบาทสู่การก้าวไปเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติของประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ ย่อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยยังคงมีจุดดีและจุดเด่นที่สามารถต่อยอดการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยอาศัยสายสัมพันธ์จากการลงทุนที่มีอยู่เดิม ประสบการณ์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านตามการส่งเสริมของภาครัฐ ขณะเดียวกันการเรียนรู้ความเคลื่อนไหวและนโยบายการลงทุนในต่างชาติของประเทศแหล่งทุนต่างๆ การทำความเข้าใจในความแตกต่างและข้อจำกัดของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปลงทุนให้ชัดเจน หรือรับรู้ศักยภาพของตนเองอย่างถ่องแท้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้ธุรกิจการลงทุนในต่างแดนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือเพื่อการกำหนดท่าทีและเตรียมความพร้อมที่จะเป็นแหล่งรองรับเงินลงทุนจากต่างชาติเหล่านั้นอย่างเหมาะสม