นโยบาย Bush 2 : ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปิดฉากลงอย่างเรียบร้อย โดยประธานาธิบดี George W. Bush แห่งพรรครีพับลิกัน ได้ครองเก้าอี้ผู้นำในทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ชนะใจคนอเมริกันสำเร็จ หลังจากหาเสียงขับเคี่ยวแข่งขันกับผู้ท้าชิงวุฒิสมาชิก John Kerry แห่งพรรคเดโมแครตกันอย่างสูสี การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของสหรัฐฯ โดยชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 56% ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด เทียบกับครั้งก่อนราว 51% ซึ่งนับเป็นการใช้สิทธิมากที่สุดตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามเป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอเมริกันและชาวโลกให้ความสนใจการเลือกผู้นำคนใหม่กันอย่างจริงจัง ก็เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่ชาวอเมริกันต้องประสบความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (9/11) และปลุกชนวนให้สหรัฐฯแข็งกร้าวในนโยบายด้านความมั่นคง รวมถึงการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯกับนานาชาติ และส่งผลต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาในสมัยประธานาธิบดี Bush สมัยแรก

การบริหารจัดการของประธานาธิบดี Bush ได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านและสนับสนุนในกลุ่มคนสหรัฐฯและชาวโลกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีอิรัก ดังนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนอเมริกันได้ตัดสินใจเลือกแนวนโยบายด้านต่างๆของสหรัฐฯกันใหม่ เนื่องจากคู่แข่งขันทั้งสองพรรคการเมืองต่างมีแนวนโยบายการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้าค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ในที่สุด ประชามติของคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เลือกประธานาธิบดี George W. Bush กลับคืนสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่ 2 โดยจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2548 การเข้ากุมบังเหียนประมุขประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกสมัยหนึ่งของ George W. Bush คาดว่าไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแนวนโยบายด้านต่างประเทศ ด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจเท่าใดนัก ประธานาธิบดี Bush คงดำเนินมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงเลือกผู้นำคนเดิมจากพรรครีพับลิกัน อีกทั้งยังเลือกผู้แทนในรัฐสภามาจากพรรครีพับลิกันเป็นจำนวนมากกว่าพรรคเดโมแครต สะท้อนให้เห็นว่าคนอเมริกันต้องการให้ผู้นำประเทศดำเนินมาตรการต่างๆไปได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ไม่ต้องสะดุดหรือล่าช้าออกไป ท่ามกลางมรสุมภัยก่อการร้ายที่ยังคุกรุ่น และสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกที่ยังคลุมเครือ

ผลกระทบของนโยบายประธานาธิบดี George W. Bush สมัยที่ 2

1. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญที่ประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศชัดเจน ก็คือ การลดภาษีให้แก่ชาวอเมริกัน คาดว่าน่าจะส่งผลดีช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของคนอเมริกันต่อไป โดยเฉพาะในปี 2548 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2547 แล้ว จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อัตรา 1% เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่อัตรา 1.75% ในปัจจุบัน หากย้อนไปดูมาตรการเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Bush ในช่วงสมัยแรก จะพบว่าสหรัฐฯได้ใช้มาตรการลดภาษีและรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์วิปโยค 11 กันยายน 2544 ได้อย่างราบรื่น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวในอัตรา 1.9% และ 3.0% ในปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ จากปีวิกฤต 2544 ซึ่งมีอัตราขยายตัวของ GDP เพียง 0.8% ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2547 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโตประมาณ 4.3% ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการเศรษฐกิจสหรัฐฯในรอบปีที่ผ่านๆมา ภายใต้ทีมเศรษฐกิจ Bush สมัยแรก จึงอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกพลอยขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 4.3% ในปี 2547 เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไว้ ก็คือ มาตรการลดภาษีของประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะช่วยพยุงให้การใช้จ่ายของคนอเมริกันดำเนินกันต่อไป

สำหรับประเทศไทย คาดว่าน่าจะได้รับผลดีจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเข้มแข็ง เนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนประมาณ 16% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) อีกทั้งสหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่มประเทศเอเชียด้วย จึงช่วยให้ประเทศเอเชียมีภาวะเศรษฐกิจดีเช่นกัน ซึ่งล้วนส่งผลดีแก่การส่งออกของไทยไปยังตลาดเอเชียอีกแรงหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในอิรัก ซึ่งคาดว่าภายใต้ประธานาธิบดี Bush อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 ยังคงใช้มาตรการปราบปรามกลุ่มต่อต้านอเมริกันอย่างเด็ดขาด อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคต่างๆ ไม่ได้บั่นทอนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงมากมายแต่ประการใด

2. นโยบายความสัมพันธ์กับจีน การที่ประธานาธิบดี George W. Bush กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯอีกสมัย ช่วยให้ความสัมพันธ์กับประเทศจีนราบรื่น และน่าจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมา ถึงแม้สหรัฐฯจะมียอดขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมาก และมองว่าสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯขาดดุลกับจีน ก็คือ การที่จีนตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯต้องการให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่น แต่ภายใต้การบริหารของ George W. Bush สมัยแรก ไม่ได้กดดันทางการจีนอย่างเข้มงวด และไม่ได้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนจนเกินไป ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงสดใส

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯไม่ใช้ไม้แข็งต่อจีน เพราะเห็นว่าสถานะของจีนในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่ประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นพลังเศรษฐกิจโลกที่ไม่ด้อยไปกว่าสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจจีนหวั่นไหว ย่อมสะเทือนเศรษฐกิจโลกตามไปด้วย เนื่องจากขณะนี้ การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมาก ส่งผลช่วยดึงดูดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าจากเอเชียด้วยกัน และประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้กันอย่างทั่วหน้า รวมถึงประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ได้อานิสงส์จากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจีนเช่นกัน ได้แก่ การที่ทางการจีนนำเงินทุนสำรองต่างประเทศของตนมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจำนวนมาก ช่วยเจือจุนยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ปัจจุบัน จีนมีเงินทุนสำรองต่างประเทศเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 470 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรองเพียงญี่ปุ่น ซึ่งมีเงินทุนสำรองฯจำนวน 819 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น แนวนโยบายต่อประเทศจีนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Bush จึงโอนอ่อนผ่อนปรนซึ่งกันและกัน อีกทั้งจีนเองก็มีบทบาทช่วยไกล่เกลี่ยในกรณีเกาหลีเหนือให้แก่สหรัฐฯด้วย ช่วยให้ภูมิภาคเอเชียยังคงสงบร่มเย็นและมีสถานะเศรษฐกิจที่ยังมั่นคงในปี 2547 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียจะเติบโตประมาณ 7% เทียบกับ 6.5% ในปี 2546 และคาดว่าในปี 2548 จะขยายตัวอยู่ในอัตราประมาณ 6.2%

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ หากวุฒิสมาชิก John Kerry แห่งพรรคเดโมแครต ได้เป็นผู้นำคนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นาย Kerry ได้ประกาศที่จะลดยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับจีน โดยเฉพาะการที่จีนใช้มาตรการตรึงค่าเงินหยวน และจีนไม่คุ้มครองแรงงานของตน รวมถึงการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ นับเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งสหรัฐฯและจีนล้วนเป็นพลังทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกและเอเชียในขณะนี้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นชัยชนะของประธานาธิบดี Bush ก็น่าที่จะช่วยให้สหรัฐฯและจีนคบหากันอย่างสันติต่อไป ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโลกดังได้กล่าวแล้ว

3. นโยบายเงินดอลลาร์ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี George W. Bush ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเงินดอลลาร์มีค่าอ่อนตัวลงเป็นลำดับ จากค่าเงินดอลลาร์เฉลี่ยในปี 2543 อยู่ที่ประมาณ 85 เซนต์/ยูโร ปัจจุบันเงินดอลลาร์ซื้อขายในอัตราเฉลี่ยประมาณ 1.27 ดอลลาร์/ยูโร หรือค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงราว 49% จากช่วงก่อนที่นาย George W. Bush เป็นผู้นำสหรัฐฯครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตาม ทีมผู้บริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Bush ไม่เคยแทรกแซงตลาดเงิน ทั้งนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวในยุคของ Bush ส่วนใหญ่เนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับภัยก่อการร้าย ความรุนแรงในอิรักและในภูมิภาคอื่นๆของโลก ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์ในที่สุด

ดังนั้น จึงคาดว่าในสมัยของประธานาธิบดี Bush รอบสอง ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Bush รอบแรก เพราะคาดว่าตลาดเงินจะจับตาดูนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯต่อไป โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านป้องกันประเทศและการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งหากมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนอเมริกันมาก ก็ย่อมส่งผลสะเทือนมายังฐานะทางเศรษฐกิจสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยอดขาดดุลงบประมาณหรือยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ยิ่งไปกว่านั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่โน้มสูงขึ้น ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อค่าเงินดอลลาร์ในปีหน้าด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเทียบกับเงินเยน ปรากฏว่าเงินดอลลาร์ไม่ได้มีค่าอ่อนตัวลงมากนักในช่วง Bush สมัยแรก โดยเงินดอลลาร์มีค่าลดลงประมาณ 2.8% เมื่อเทียบกับเงินเยนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากญี่ปุ่นมีมาตรการแทรกแซงตลาดเงิน ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวเป็นระยะๆ ไม่ต้องการให้ค่าเงินเยนแข็งจนเกินไป ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ดังนั้น เงินเยนในยุคของประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 อาจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเดิมมากนัก ตราบใดที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่เข้มแข็งอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ค่าเงินบาทของไทยที่มีทิศทางความเคลื่อนไหวตามทิศทางของค่าเงินเยน จึงไม่น่าผันผวนมากนัก

4. นโยบาย FTA ประธานาธิบดี Bush สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการเจรจาการค้าในเวที WTO ยังล่าช้า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางการค้ามากขึ้น จึงผลักดันการจัดทำ FTA ย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงคาดว่าประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 จะช่วยให้ FTA ไทย–สหรัฐฯ คืบหน้าเร็วขึ้น

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารประเทศสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี George W. Bush มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะสานต่อแนวทางเดิมที่ได้วางไว้ รวมทั้งความร่วมมือทางการค้าในด้านต่างๆ กับประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าไทย–สหรัฐฯ (FTA) ซึ่งเริ่มต้นเจรจาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 จะเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น คาดว่าไทยกับสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในช่วงที่ประธานาธิบดี Bush ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งจะเกื้อหนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และส่งผลดีต่อการลงทุนระหว่างกันด้วย

ไทยกับสหรัฐฯ ได้เจรจา FTA ไปแล้ว 2 ครั้ง และมีกำหนดที่จะพบปะเจรจากันเป็นครั้งที่ 3 ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าการเจรจาจะคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประธานาธิบดี Bush สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ก่อนหน้านี้ เคยหวั่นวิตกกันว่าหากนาย John Kerry ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้แทนประธานาธิบดี Bush อาจส่งผลให้การเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐฯ–ไทย สะดุดลงก็เป็นได้ เพราะนาย Kerry เคยประกาศไว้ว่าจะทบทวนการเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้การเจรจา FTA ล่าช้าออกไป

ดังนั้น การที่ประธานาธิบดี Bush ดำรงตำแหน่งผู้นำต่อไปเป็นสมัยที่ 2 คาดว่าการเจรจา FTA ไทย–สหรัฐฯ น่าจะเป็นไปตามกำหนดเดิม แต่มีข้อพึงระวัง ก็คือ การเจรจา FTA กับสหรัฐฯ จะครอบคลุมประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการ รวมทั้งประเด็นละเอียดอ่อนอื่นๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนมาตรฐานแรงงาน ควบคู่ไปกับการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า ทางการไทยจึงต้องเจรจาต่อรองอย่างรอบคอบ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกันคาดว่าการส่งออกของไทยจะพลอยได้รับอานิสงส์จากบรรยากาศการค้าของโลกที่มีแนวโน้มแจ่มใส เพราะการดำเนินนโยบายการค้าของประธานาธิบดี Bush กับประเทศต่างๆ มิได้มีท่าทีแข็งกร้าวมากเกินไปนัก แม้ว่าสหรัฐฯ ยังคงมีมาตรการกีดกันการค้าโดยตรงและโดยอ้อมก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีการใช้กฎหมายการค้าของสหรัฐฯ มาตรา 301 กับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เห็นว่าปฏิบัติการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ หรือกรณีเงินหยวนของจีนที่มีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้สินค้าจีนได้เปรียบด้านราคาในตลาดต่างประเทศ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี George W. Bush สมัยแรก ก็มิได้นำมาตรา 301 ออกบังคับใช้ และมิได้กดดันให้ทางการจีนปรับค่าเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าการบริหารประเทศสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี Bush จะยังคงยึดถือนโยบายที่ค่อนข้างผ่อนปรนต่อไป ทำให้การค้าโลกมีแนวโน้มราบรื่น ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่แจ่มใสอย่างมากของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัวสูงสุดในกลุ่มตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกในปี 2546 และยังคงเติบโตในอัตรา 26.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Bush สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าอย่างจริงจัง โดยสหรัฐฯ ได้เจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับหลายประเทศ และบรรลุข้อตกลง FTA เรียบร้อยแล้วกับบางประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ชิลี มอร็อคโค บาห์เรน จอร์แดน อิสราเอล ปานามา เป็นต้น รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และประเทศไทยด้วย การเจรจา FTA มีส่วนช่วยให้การค้าโลกคล่องตัวขึ้น ในระหว่างที่การเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคีภายใต้กรอบ WTO ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

นโยบายการค้าของประธานาธิบดี George W. Bush ค่อนข้างเป็นมิตรกับประเทศคู่ค้า จึงคาดว่าจะช่วยให้การค้าโลกไม่สะดุดลง ประเทศไทยจะได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯโดยตรง รวมทั้งจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆด้วย สำหรับในช่วง 9 เดือนแรก 2547 การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้น 13.4% เป็นมูลค่า 11,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.5% เป็นมูลค่า 5,361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่า 5,989 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.2% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายของประธานาธิบดี George W. Bush ที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงแก่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ได้แก่ นโยบายด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการใช้มาตรการแข็งกร้าวปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง ซึ่งมีผลเสียโดยตรงต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงในตลาดโลก อีกทั้งประธานาธิบดี Bush มีมาตรการเก็บสต็อกน้ำมันอย่างเต็มที่ในสหรัฐฯ ทำให้มีการซื้อน้ำมันในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก สร้างความผันผวนให้แก่ตลาดน้ำมันอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย คาดว่าน้ำมันเบนซินจะยังคงมีราคาแพง เพราะเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันต่างประเทศ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในช่วงที่ประธานาธิบดี George W. Bush ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนอย่างมาก ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศไทยให้พุ่งขึ้นตามไปด้าย โดยทำสถิติราคาน้ำมันสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ณ ระดับ 22.39 บาท/ลิตรเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 นับเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินประมาณ 15-16 บาท/ลิตรในช่วงต้นปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี George W. Bush เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งแรก ดังนั้น หากประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 ยังคงใช้มาตรการเชิงรุกในการจัดการปัญหาการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ย่อมก่อให้เกิดความอ่อนไหวในวงการค้าน้ำมันโลกต่อไป

โดยสรุป การที่ประธานาธิบดี George W. Bush ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง น่าจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากนโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ทำให้ประเทศต่างๆ รู้สึกคุ้นเคยกับสหรัฐฯ และสามารถจับกระแสทิศทางความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมืองอเมริกันตามแนวทางเดิมต่อไป โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่แข็งกร้าวมากนัก จึงคาดว่าจะส่งผลดีต่อการค้าของโลกให้ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงประธานาธิบดี Bush สมัยที่ 2 และช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงลงบ้าง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวต่อไป และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย