ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลสคว้าโปรเจ็คแบงก์ชาติติดตั้งไอพีโฟนของซิสโก้ที่ กทม. และ ตจว.

กรุงเทพฯ – เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด หนึ่งในผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักในตลาด Voice อย่างต่อเนื่อง และมีกลุ่มลูกค้ากว่า 90%เป็นหน่วยงานราชการ ทำพิธีแลกเปลี่ยนสัญญาติดตั้งระบบไอพีโฟนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานศูนย์จัดการธนบัตรของ ธปท.รวมมูลค่าระบบกว่า 10 ล้านบาท โดยมีผู้บริหารของ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน และถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มนำระบบไอพีโฟนเข้ามาใช้ในการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับองค์กรที่มีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างสาขา

ทั้งนี้การติดตั้งระบบไอพีโฟน ดังกล่าวจะติดตั้งทั้งสิ้น 8 แห่ง คือ กรุงเทพฯ 2 แห่ง (สำนักงานใหญ่ และ โรงพิมพ์ธนบัตร 2) และศูนย์จัดการธนบัตร 6 แห่ง ได้แก่ ระยอง อุบลราชธานี พังงา สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก และนครราชสีมา ซึ่งการติดตั้งในระยะแรกนี้จะติดตั้งเครื่องไอพีโฟนจำนวน 106 เครื่อง โดยประโยชน์ของการใช้ระบบไอพีโฟนนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารระหว่าง กทม. และศูนย์ ต่างจังหวัดได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถลดความซ้ำซ้อนของระบบสื่อสาร โดยรวมระบบโทรศัพท์ปกติและระบบเครือข่ายเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ดร. ฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายและวิสัยทัศน์ต่อการให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ ธปท. ทั้งนี้การนำไอพีโฟนเข้ามาใช้เป็นการช่วยเสริมให้การทำงานระหว่างสำนักงานสะดวกมากขึ้น โดยการที่ขยายประโยชน์ของไอพีโปรโตคอลหรือโครงข่ายสารสนเทศอย่างเต็มที่ทำให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างสาขาไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อมูล เสียงหรือภาพ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากการทำงานในแต่ละศูนย์จัดการธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการเชื่อมต่อและติดต่อสื่อสารระหว่างกันตลอดเวลา

ดังนั้นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การทำงานเหล่านี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นเรื่องที่ธปท.ได้ทำการศึกษาและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์ และพิจารณาสรรหาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้รองรับความต้องการในการใช้งานของธปท.ที่มีปริมาณมากขึ้น การนำไอพีโฟนมาใช้ในครั้งนี้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีของ ธปท.