รายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ประจำสัปดาห์

25 พฤศจิกายน 2547 – หมดกังวลเรื่องค่าเงินลอยตัว เลแมน บราเดอร์ส ชี้สกุลเงินต่างๆ ในเอเชีย ยกเว้นเงินเยน ที่มีค่าแข็งตัวขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ชี้ว่า ธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจเข้ามาแทรกแซงอัตราการแข็งตัวของค่าเงิน ด้วยเหตุผลที่ว่า สภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังคงอ่อนตัว ประกอบกับสถานการณ์ต่างๆ ยังคงไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี เลแมน บราเดอร์ส ยังมีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ในปีหน้า ทั้งนี้ เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า สภาพเศรษฐกิจขาลงของจีนจะเป็นอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) และราคาน้ำมันจะปรับตัวลงเป็นต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจัย เหล่านี้น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นตัวของความต้องการภายในประเทศของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายประเทศของประเทศในเอเชียสามารถปรับอัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้า (trade-weighted exchange rates) ให้สูงขึ้น

มุมมองเชิงบวก

เลแมน บราเดอร์ส มีความเห็นว่า การที่ผู้กำหนดนโยบายจะปรับอัตราแลกเปลี่ยนถ่วงน้ำหนักด้วย ดุลการค้าให้สูงขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับการขยายตัวของความต้องการภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ

เลแมน บราเดอร์ส มองว่า การปรับตัวลงของราคาน้ำมันจะส่งผลต่อการผ่อนคลายนโยบายเชิงมหภาคของประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลทำให้มีความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2548 จากการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงระยะสั้นโดยเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในไตรมาส 3 มีค่าติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เลแมน บราเดอร์ส ยังมองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคมีการปรับตัวไปในทางที่ดี ดุลรายจ่ายของภูมิภาคมีความแข็งแกร่ง ภาคการเงินและภาคธุรกิจเอกชนแม้จะยังมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว แต่ก็มีความมั่นคงมากขึ้นภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยระยะยาวอื่นๆ อีกมากที่สนับสนุนการเติบโตของความต้องการภายในประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ การขยายตัวของชนชั้นกลาง สินเชื่อในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของชุมชนเมือง รวมทั้งสัดส่วนของประชากรในวัยทำงานของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยรวมมีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

เลแมน บราเดอร์ส ยังเห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียมักจะกำหนดนโยบายเงินตึงโดยการให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการที่ค่าเงินอ่อนตัวทำให้เศรษฐกิจของเอเชียต้องพึ่งพิงการส่งออกมากเกินไปซึ่งจะส่งผลให้ประเทศในเอเชียมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกรวมถึงการกีดกันทางการค้า เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียจะลดปัจจัยความเสี่ยงนี้ลง ด้วยการปรับกลยุทธ์การเติบโตของเศรษฐกิจโดยการมุ่งสร้างความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอเอ็มเอฟสนับสนุนให้ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก

เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้านความต้องการภายในประเทศในภูมิภาคเอเชียในปี 2548 แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2548 ค่อนข้างจะมีความไม่แน่นอน แต่ เลแมน บราเดอร์สยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ในปีหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงปัจจัยแรกคือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นสองเท่าของ ผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวต่ำลง ปัจจัยเสี่ยงที่สอง คือ การดิ่งตัวของเศรษฐกิจขาลงของจีน อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจของจีนมีการชะลอตัวลงทำให้อัตราการเจริญเติบโตมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส มองว่า จะช่วยบรรเทาผลกระทบของการดิ่งตัวของสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงที่สาม คือ ความต้องการของตลาดโลกในด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเอเชียอาจปรับตัวลง อย่างไรก็ดี จากดัชนีเศรษฐกิจที่จัดทำโดย เลแมน บราเดอร์ส ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกอาจไม่มีการอ่อนตัวลงมากนัก

เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า ความต้องการภายในประเทศของภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน ปี2548 ซึ่งจะเป็นการเปิดสัญญาณไฟเขียวให้กับผู้กำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียในการกระตุ้นค่าเงิน ซึ่งจะช่วยให้อัตราจีดีพีเติบโตขึ้นตามการปรับตัวของความต้องการภายในประเทศ