อนาคตเงินดอลลาร์ 2548 : ผันแปร … มีค่าลดลง

ก่อนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2548 ตลาดเงินตราต่างประเทศได้รับความสนใจจากประชาคมโลกอีกครั้ง เมื่อเงินตราสกุลสำคัญต่างเคลื่อนไหวกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน หลังจากประธานาธิบดี George W. Bush ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงทำสถิติต่ำสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 1.34 ดอลลาร์/ยูโร และมีค่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งซื้อขายเฉลี่ยอยู่ในช่วงแคบประมาณ 102-103 เยน/ดอลลาร์ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ เงินดอลลาร์มีค่าลดลง 5.5% และ 3.8% เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ย 1.27 ดอลลาร์/ยูโร และ 106 เยน/ดอลลาร์ ช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ และที่น่าวิตกไปกว่านั้น ได้แก่ การที่เงินดอลลาร์มีค่าตกต่ำลงกว่า 55% เมื่อกับเงินยูโร และ 24% เมื่อเทียบกับเงินเยน จากช่วงต้นปี 2545 ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งมาก ขณะนั้นดอลลาร์มีอัตราเฉลี่ยประมาณ 86 เซนต์/ยูโร และ 134 เยน/ดอลลาร์

ในช่วงระยะเวลาจากปี 2545-2547 เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนตัวลงเป็นลำดับ และทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ในปี 2548 จะเป็นอย่างไร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ขอสรุปสาระสำคัญ เพื่อให้เข้าใจความเคลื่อนไหวของสกุลเงินสำคัญของโลก โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

• ช่วงแรก : เงินดอลลาร์เข้มแข็งมาก ระหว่างปี 2542-2544 ซึ่งเป็นระยะที่กลุ่มประเทศยูโรผิดหวัง เนื่องจากเพิ่งเปิดตัวสกุลเงินยูโรออกสู่ตลาดเงินต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2542 และคาดหวังว่าเงินยูโรจะผงาดเป็นเงินสกุลหลักของโลก เทียบเงินดอลลาร์อเมริกัน แต่ปรากฏว่าค่าเงินยูโรกลับอ่อนตัวลงพลิกความคาดหมาย โดยมีค่าร่วงลงประมาณ 27% ในช่วงปี 2542-2545

• ช่วงที่สอง : เงินดอลลาร์ทรุดต่ำลง นับจากปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ เงินยูโรฟื้นบทบาทกลับเป็นสกุลเงินแข็งแกร่งในเวทีการเงินโลก โดยขณะนี้มีค่าสูงประมาณ 1.34 ดอลลาร์/ยูโร เทียบกับตอนเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อนมีอัตราทางการประมาณ 1.18 ดอลลาร์/ยูโร หรือเพิ่มขึ้นราว 13.6%

ช่วงแรก : อิทธิฤทธิ์ดอลลาร์ สยบเงินยูโร

ตลาดเงินตราต่างประเทศตื่นเต้นกับการเปิดตัวสกุลเงินยูโรกันอย่างคึกคักเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2542 โดยค่าเงินยูโรอยู่ที่อัตราเฉลี่ยราว 1.18 ดอลลาร์/ยูโร โดยประเทศสมาชิกยูโร 12 ชาติ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม สเปน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ออสเตรีย ลักเซมเบอร์ก ฟินแลนด์ และกรีซ ได้พร้อมใจกันปลดระวางสกุลเงินท้องถิ่นของตนและหันไปใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน ยกเว้นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 3 ประเทศได้สงวนท่าทีที่จะใช้เงินยูโร ได้แก่ อังกฤษ สวีเดน และเดนมาร์ก เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะแรกของการเปิดตัวสกุลเงินยูโรนั้น ประเทศสมาชิกยังไม่ได้มีธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ยูโรออกมาหมุนเวียนใช้ในตลาดโลกแต่ประการใด เป็นเพียงอัตราอ้างอิงที่สมาชิกยูโรกำหนดใช้กันผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ค้าขายระหว่างประเทศแบบโอนหักบัญชี รวมถึงการกำหนดราคาหุ้น การออกพันธบัตร และการเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อเช็คเดินทาง โดยตัวเงินธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ยูโรได้นำออกมาให้ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

หลังจากเงินยูโรมีฐานะเป็นสกุลเงินทางการของประเทศกลุ่มยูโร 12 ชาติเมื่อต้นปี 2542 ปรากฏว่าเงินยูโรกลับมีค่าอ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกล่าวได้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังครองความเชื่อมั่นสูงสุดในฐานะสกุลเงินสำคัญของโลก ด้วยเหตุนี้ เงินยูโรจึงมีค่าลดลงเหลือประมาณเกือบ 1 ดอลลาร์/ยูโร ภายในชั่วระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น หรือลดลงราว 15.3 %

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ก็คือ เงินยูโรทนความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ไม่ไหว ส่งผลให้ค่าเงินยูโรหล่นลงต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์/ยูโร และสามารถแลกเงินดอลลาร์ได้เพียง 83 เซนต์/ยูโร ซึ่งถือเป็นอัตราต่ำสุดของเงินยูโรในช่วงกลางปี 2543 หลังจากนั้นเงินยูโรก็อ่อนไหวโดยตลอด และไม่เคยมีค่ากลับมาเข้มแข็งเหนือระดับ 1 ดอลลาร์/ยูโร พูดง่ายๆ ก็คือ เงิน 1 ยูโร ไม่สามารถแลกได้เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯอีกเลยจวบจนสิ้นปี 2544

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนแอและค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งในช่วงปี 2542-2544 ก็คือ

• เศรษฐกิจสหรัฐฯ VS เศรษฐกิจกลุ่มยูโร ในช่วงนั้นเศรษฐกิจอเมริกาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสดใสเมื่อเทียบกับกลุ่มยูโร โดยสหรัฐฯมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 4% ขณะที่กลุ่มยูโรมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 2% เนื่องจากกลุ่มยูโรประกอบด้วยสมาชิกหลายประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแตกต่างกัน และมีเป้าหมายที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน แต่การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้กลุ่มยูโรยังคงมีปัญหาเรื้อรังด้านแรงงานและงบประมาณขาดดุล ตลาดเงินจึงไม่ค่อยศรัทธามากนัก ตรงข้ามกับสหรัฐฯในขณะนั้น ซึ่งอยู่ในยุครอยต่อของประธานาธิบดี Bill Clinton เป็นผู้นำที่หนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้มแข็งติดต่อกันนานร่วม 8 ปี และเมื่อก้าวมาสู่สมัย George W. Bush ครั้งที่หนึ่ง งานหนักหน่วงในฐานะผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของคนอเมริกันและชาวโลกที่มีต่อสหรัฐฯ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์วิปโยค 11 กันยายน 2544 (9/11) ประธานาธิบดี Bush ทุ่มเงินงบประมาณเพื่ออุ้มเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังวิกฤต 9/11 ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงยืนหยัด และปิดฉากปี 2544 ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 89 เซนต์

• ธนาคารกลางสหรัฐฯ VS ธนาคารกลางยุโรป ฝีมือการใช้นโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยืดหยุ่นแตกต่างกันมาก ทำให้การแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจและการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดเงินจึงไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะ ECB เพิ่งจัดตั้งพร้อมๆกับเงินยูโร ทำให้อ่อนประสบการณ์กว่า แถมยังมีโครงสร้างซับซ้อนทำให้การตัดสินใจอืดอาด ตลาดเงินจึงรู้สึกสับสนกับนโยบายการเงินยุโรป

• นโยบายดอลลาร์แข็ง สหรัฐฯประกาศสนับสนุนนโยบายเงินดอลลาร์แข็งมาตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี Clinton และเมื่อมาถึงสมัยประธานาธิบดี Bush ซึ่งรัฐมนตรีคลังคนแรก ได้แก่ นาย Paul O’Neil ก็ยังคงย้ำนโยบายดอลลาร์แข็งอย่างจริงจัง นับเป็นสัญญาณส่งแก่ตลาดเงินชัดเจน

• เงินทุนยุโรปไหลเข้าสหรัฐฯ เนื่องจากสงคราม Kosovo ในยุโรปช่วงปี 2542 ส่งผลให้เงินทุนบนภาคพื้นยุโรปหาแหล่งลงทุนปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นมีเศรษฐกิจมั่นคงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มยูโร (อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯช่วงปี 2543 ประมาณ 6.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยยุโรปประมาณ 4.75%)

โดยสรุป ในช่วงระหว่างปี 2542-2544 เงินดอลลาร์มีค่าเข้มแข็งอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับเงินยูโร ท่ามกลางความผิดหวังของกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้เปิดตัวสกุลเงินเดียวยุโรป หรือ “เงินยูโร” ออกสู่ตลาดเงินเป็นครั้งแรกในปี 2542 และมีเป้าหมายที่จะให้เงินยูโรเข้ามามีบทบาทด้านการค้า การลงทุน และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ใกล้เคียงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปรากฏว่าเงินยูโรมีค่าลดลงจากอัตรา 1.18 ดอลลาร์/ยูโร ในตอนต้นปี 2542 เหลือประมาณ 89 เซนต์/ยูโร เมื่อสิ้นสุดปี 2544

ช่วงที่สอง : ดอลลาร์เสื่อม ยูโรสดใส

นับตั้งแต่ปี 2545 จนถึงขณะนี้ สถานการณ์ตลาดเงินโลกกลับตาลปัตร โดยเงินดอลลาร์กลับหมดแรงลงเป็นลำดับ สวนทิศทางกับเงินยูโรที่ค่อยๆฟื้นตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เงินดอลลาร์ร่วงลงมาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 1 ยูโร เมื่อกลางปี 2545 และเงินดอลลาร์ยังคงมีค่าดิ่งลงตลอดปี 2546 ปล่อยให้ค่าเงินยูโรหวนกลับมาผงาดที่อัตราเฉลี่ยตอนเปิดตัวครั้งแรก 1.18 ดอลลาร์/ยูโร เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นเงินดอลลาร์ก็ไม่สามารถต้านแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2547 เงินดอลลาร์ทำสถิติต่ำสุดเป็นระยะๆ เมื่อเทียบกับเงินยูโร จนแตะที่อัตราเฉลี่ย 1.34 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือเงินดอลลาร์มีค่าลดลงประมาณ 55% จากต้นปี 2545

ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงและเงินยูโรแข็งแกร่ง ในช่วงปี 2545-2547 สรุปได้ดังนี้

• สหรัฐฯหมกมุ่นสงคราม การที่สหรัฐฯถูกก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ส่งผลให้ประธานาธิบดี Bush มีนโยบายด้านความมั่นคงแข็งกร้าว ออกปฏิบัติการทางทหารอย่างเฉียบขาดในอัฟกานิสถานและอิรัก ส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพค่าเงินดอลลาร์ ในขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยที่สุดในโลกก็เสื่อมถอยลง เมื่อสหรัฐฯเป็นเป้าการก่อการร้าย ทำให้เงินทุนบางส่วนไหลออกจากเงินดอลลาร์ไปยังสกุลเงินยูโรและเงินฟรังค์สวิส รวมถึงทองคำ

• อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำมาก เมื่อสหรัฐฯปั่นป่วนด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน จึงมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นระยะๆ จนเหลือ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2547 สหรัฐฯจึงเริ่มขยับดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะเดียวกันรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน นาย John Snow มาจากภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเงินไม่แน่ใจว่าจะส่งเสริมนโยบายดอลลาร์แข็งอย่างจริงจัง เพราะอาจอยากให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อน เพื่อสนับสนุนการส่งออก

• น้ำมันแพง การที่สถานการณ์น้ำมันโลกผันผวนช่วง 2-3 ปี โดยราคาน้ำมันต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลสืบเนื่องจากความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญอื่นๆ อาทิ รัสเซีย เวเนซูเอล่า เม็กซิโก และไนจีเรีย ฯลฯ ประกอบกับปริมาณความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นด้วย ผลักดันให้ราคาน้ำมันโลกถีบตัวพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ จนเกรงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทรุดต่ำลง เพราะเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก

• ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณ เงินดอลลาร์มีค่าตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ประธานาธิบดี Bush รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยเงินดอลลาร์มีค่าร่วงลงประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับเงินยูโรชั่วระยะเวลาไม่ถึง 6 สัปดาห์ เนื่องจากตลาดเงินกลัวว่าปัญหายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ จะยิ่งบานปลายมากขึ้น ทำให้มีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาเป็นจำนวนมาก

ดุลบัญชีเดินสะพัด & ดุลงบประมาณ : ระเบิดเวลาถล่มเงินดอลลาร์

สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมานานแล้ว แต่ตลาดเงินยังไม่ค่อยรู้สึกกังวลในระยะแรก เนื่องจากสัดส่วนของยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วง 10 ที่ผ่านมาไม่เพิ่มรวดเร็ว โดยสหรัฐฯมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 1-3% ของ GDP ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่อย่างไรก็ตาม ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯส่อเค้าน่าวิตก เมื่อย่างเข้าทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา โดยสัดส่วนการขาดดุลต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในปี 2547 สหรัฐฯมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นมูลค่าประมาณ 670 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 5.7% ของ GDP เทียบกับมูลค่าขาดดุลในปี 2546 เป็นจำนวนเงิน 531 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.75% ของ GDP นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่สหรัฐฯจะเผชิญกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นในปี 2548 และ 2549 คิดเป็นสัดส่วนสูงราว 6.2% และ 7.0% ของ GDP ในปีนั้นตามลำดับ

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯได้ประสบกับภาวะงบประมาณขาดดุลอีกครั้งในปี 2544 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน โดยก่อนหน้านี้ ยุคของประธานาธิบดี Clinton ได้พยายามแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลจนประสบผลสำเร็จ ทำให้อเมริกามียอดงบประมาณเกินดุลมาตั้งแต่ปี 2541 แต่สถานการณ์ภัยก่อการร้ายที่คุกคามสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดี Bush ประกอบกับนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯแข็งกร้าว ทำให้มีการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศและการปรามปราบการก่อการร้ายนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันสหรัฐฯมียอดงบประมาณขาดดุลเป็นมูลค่าประมาณ 413 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 4.4% ของ GDP เทียบกับช่วงประธานาธิบดี Clinton ที่เคยมียอดขาดดุลงบประมาณสูงสุดเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% ของ GDP เท่านั้น ในปี 2539

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Bush ได้นั่งทำเนียบขาวอีกสมัยหนึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์หวั่นไหวและอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดเงินคาดว่าสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนโยบายของ Bush สมัยที่ 2 ไม่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะมาตรการลดภาษีและการใช้จ่ายด้านการทหาร ขณะเดียวกันสหรัฐฯมีแนวโน้มจะเผชิญกับภาวะขาดดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นเช่นกัน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไปของสหรัฐฯยังคงขยายตัว ทำให้ชาวอเมริกันยังคงใช้จ่ายและมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศต่อไป

การที่สหรัฐฯประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมๆกัน (twin deficits) และมีมูลค่าสูง ทำให้ตลาดเงินขาดความเชื่อมั่นสกุลเงินดอลลาร์ เพราะการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก สะท้อนถึงเม็ดเงินไหลออกจากสหรัฐฯด้วยจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเงินทุนไหลเข้ามาชดเชยไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลบั่นทอนฐานะการเงินของประเทศ และทำให้ความน่าเชื่อถือในสกุลเงินดอลลาร์ลดลงในที่สุด ปัจจุบัน มีรายงานของทางการสหรัฐฯบางเดือนชี้ว่ายอดเงินทุนไหลเข้าชะลอตัว จึงกระตุ้นให้ตลาดเงินเกิดความหวาดวิตกว่านักลงทุนต่างชาติอาจสนใจที่จะลงทุนในสหรัฐฯลดน้อยลง

ในขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯมียอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็สะท้อนว่าสหรัฐฯจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเช่นกัน โดยการออกพันธบัตรสหรัฐฯให้นักลงทุนต่างชาติมาซื้อ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ ทางการสหรัฐฯกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อมาใช้จ่ายนั่นเอง ยิ่งขาดดุลมากเท่าใด สหรัฐฯก็ต้องออกพันธบัตรกู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ตลาดเงินจึงหวั่นวิตกว่าหากต่างประเทศพากันเทขายพันธบัตรสหรัฐฯเมื่อใด ย่อมสะเทือนระบบการเงินของสหรัฐฯอย่างมาก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ด้วย

สถานการณ์ที่สหรัฐฯมีแนวโน้มขาดดุลการบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณพร้อมๆกันเป็นมูลค่าสูงขึ้น จึงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตลาดเงินหวาดกลัว และมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างมาก หลังจากที่ประธานาธิบดี Bush เป็นผู้นำสหรัฐฯต่ออีก 4 ปี
ทิศทางเงินดอลลาร์ 2548

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มต้อนรับปีระกาอย่างอ่อนแรง เมื่อเทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณยังคงเป็นมรสุมที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปั่นป่วนต่อไป อีกทั้งสถานการณ์ก่อการร้ายที่รังควาญสหรัฐฯ รวมถึงความไม่สงบในตะวันออกกลาง อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คอยบั่นบอนค่าเงินดอลลาร์ด้วย โดยคาดว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงอัตรา 1.38-1.40 ดอลลาร์/ยูโร และประมาณ 100-103 เยน/ดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปี 2548 ถึงแม้สหรัฐฯจะมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆในปีหน้าก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความเป็นไปได้ของทิศทางค่าเงินดอลลาร์ในปี 2548 อาจเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ

กรณีร้ายแรงที่สุด (Worse Case) : ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างรุนแรง สถานการณ์เช่นนี้คาดว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ถ้าเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง โดยค่าเงินดอลลาร์อาจร่วงลงอย่างรวดเร็วทะลุ 1.40 ดอลลาร์/ยูโร และ 100 เยน ภายในไตรมาสแรกของปี 2548 ซึ่งอาจปลุกกระแสความหวาดกลัวในตลาดเงิน กลายเป็นสัญญาณร้ายให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดการเทขายกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งลงทุนถือพันธบัตรสหรัฐฯกันไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางของชาติเอเชียอื่นๆ ที่นิยมลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯกันเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงบรรดานักลงทุนกลุ่มโอเปกที่มีรายได้จากการค้าน้ำมัน ที่อาจเทขายเงินดอลลาร์และหันไปถือสกุลเงินยูโรแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีบางประเทศหันไปใช้สกุลเงินยูโรบ้างแล้วในการซื้อขายน้ำมัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่เงินดอลลาร์มีค่าตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว จะยิ่งทำให้บทบาทของค่าเงินดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหวั่นไหว ยั่วยุให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ปรับสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์น้อยลง และหันไปถือสกุลเงินสำคัญอื่นๆแทนมากขึ้น เป็นผลเสียต่อค่าเงินดอลลาร์

สถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้ทางการสหรัฐฯต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยฉับพลัน เพื่อดึงดูดเงินทุนเข้ามาพยุงเงินดอลลาร์ จนอาจส่งผลร้ายทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรสหรัฐฯทรุดต่ำลงอย่างมาก สร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินและตลาดหุ้นไปทั่วโลก

กรณีปกติ (Base Case) : เงินดอลลาร์อ่อนตัวค่อยเป็นค่อยไป เงินดอลลาร์มีแนวโน้มลดต่ำลงเป็นระยะๆ มีลักษณะคล้ายกับช่วง 2-3 ปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น และชาติเอเชียอื่นๆ ได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินเพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์ไว้ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกมากมายในตลาดเงิน ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯแต่ประการใด เนื่องจากสหรัฐฯไม่ต่อต้านการแทรกแซงตลาดเงินของประเทศคู่ค้า ทำให้ค่าเงินเยนและค่าเงินเอเชียไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ยังคงส่งออกสินค้ามาขายยังตลาดสหรัฐฯได้อย่างเต็มที่ ทำให้สหรัฐฯมียอดขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การที่ประเทศเอเชียเหล่านี้มียอดเกินดุลการค้า ทำให้มีรายได้จากการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติเอเชียเพิ่มพูน และนำกลับมาลงทุนซื้อหลักทรัพย์สหรัฐฯมากขึ้น ทำให้สหรัฐฯยังคงมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเจือจุนยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศ

สถานการณ์เช่นนี้ได้ช่วยรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯไม่ให้สูงจนเกินไป ช่วยสนับสนุนให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯเฟื่องฟู ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัว และมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากชาติเอเชีย ด้วยเหตุนี้ การที่ประเทศสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าต่างมีผลประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้มีการแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ จึงคาดว่าในปี 2548 ความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยๆอ่อนกำลังลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ถึงแม้จะยังไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่จะช่วยรักษาเสถียรภาพตลาดเงินในระดับหนึ่ง

โดยสรุป ในปี 2548 ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางที่จะลดต่ำลง เนื่องจากตลาดเงินยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าทิศทางค่าเงินดอลลาร์น่าจะค่อยๆปรับลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากประเทศสหรัฐฯและประเทศคู่ค้าสำคัญๆของสหรัฐฯต่างไม่ต้องการเห็นตลาดเงินโลกผันผวน แม้ว่าการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของแต่ละประเทศจะต้องใช้เวลานานออกไปก็ตาม สำหรับประเทศไทยควรจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์อย่างใกล้ชิด เพื่อประคับประคองค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกไทยควรหันมาใช้สกุลเงินสำคัญอื่นๆ อาทิ เงินยูโรและเงินเยน เป็นสกุลเงินค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯตกต่ำ

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกต่อไปทั้งด้านการตลาด การปรับปรุงคุณภาพสินค้า และประสิทธิภาพการผลิตของไทยให้เข้มแข็งก้าวหน้า เพื่อการแข่งขันอย่างเข้มข้นในเวทีโลกปี 2548 โดยไม่ต้องวิตกเกี่ยวกับความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของค่าอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก ถึงแม้คาดว่าการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯไม่น่าจะรุนแรงมากนักในปีหน้า พร้อมๆกับความร่วมมือของประเทศต่างๆในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตนควบคู่ไปด้วย เพื่อผลประโยชน์ของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แต่ผู้ส่งออกไทยก็ไม่ควรประมาทในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย