คลื่นยักษ์”สึนามิ” : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปีวอกปิดฉากไม่สดใส ถูกคลื่นยักษ์”สึนามิ”ถล่มเข้าใส่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน( ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรังและสตูล )อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะส่งต่อไปสู่ปีไก่ 2548 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เนื่องจาก 6 จังหวัดที่ถูกคลื่นยักษ์”สึนามิ”ถล่มเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ด้านธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมอีกมากมาย อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้าของที่ระลึก/ของชำร่วย เป็นต้น โดยทั้ง 6 จังหวัดดังกล่าวสร้างรายได้จากการดึงดูดเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวรวมทั้งหมดในแต่ละปี ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือความสูญเสียในชีวิตของทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ในขณะที่คลื่นยักษ์เข้าถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดดังกล่าวก็เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยเข้าไปพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจในเบื้องต้นไว้ที่ประมาณกว่า 67,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเสียหายจาก”คลื่น”สึนามิในครั้งนี้อาจจะสูงถึงเกือบ 70,000 ล้านบาทแต่คาดว่าผลกระทบต่อGDPจะไม่เกิน 0.5% แต่สำหรับความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ก็มีอีกมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้ทุ่มเทงบประมาณในเบื้องต้น 28,000 ล้านบาทเพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพความเสียหายให้กลับคืนโดยเร็ว ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี2548สามารถขยายตัวได้ในอัตราน่าพอใจที่ระดับ5-5.5% เป็นที่น่าสังเกตว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากจึงไม่น่าจะมีผลทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยมากนัก เพราะประเทศไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวในภาคต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งจังหวัดอื่นๆของภาคใต้ด้านฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยที่ไม่ได้รับผลกระทบเลยนั้นก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทยอยู่ต่อไป

สำหรับผลกระทบของคลื่นยักษ์”สึนามิ”ที่คาดว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจด้านต่างๆสรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้

“สึนามิ” : ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจไทย

ธุรกิจท่องเที่ยว/ธุรกิจ โรงแรม และธุรกิจที่ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรม

ในส่วนนี้คาดว่าจะมีความสูญเสียประมาณ 30,000 ล้านบาท จากการขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่งดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวคนไทยที่ลดการเดินทางท่องเที่ยวลง รวมทั้งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรม ทั้งในส่วนของบริการด้านที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งบริการต่างๆในโรงแรม ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

– รายได้จากการท่องเที่ยว

ในส่วนนี้ประเมินความเสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามันของ 6 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นจุดขายการท่องเที่ยวไทยในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสามารถนำรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่เข้าประเทศปีละกว่า 4 แสนล้านบาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาเดินทางมาเที่ยวจำนวนมากและเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงในช่วงวันหยุดปีใหม่นี้

ซึ่งในส่วนนี้ถูกกระทบทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติลดลงไปประมาณ30%หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูญเสีย 5,000 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ในช่วง high season พอดี สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งก็ยังเป็นช่วงhigh season คาดว่ารายได้ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในช่วงเวลาดังกล่าวจะหดหายไปประมาณ 50%ของภาวะปกติหรือประมาณ 20,000 ล้านบาท เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะยังไม่เดินทางเข้ามามากเหมือนช่วงปกติ นอกจากนี้ ยังสูญเสียรายได้ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงวันหยุดปีใหม่คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์คลื่นยักษ์นี้ส่งผลให้คนไทยจิตใจห่อเหี่ยวจากความสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย และรัฐบาลก็ได้ขอความร่วมมือประชาชนงดการจัดงานรื่นเริงเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วย

– รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรม

ในส่วนนี้จะสูญเสียรายได้ในส่วนของบริการด้านที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งบริการต่างๆในโรงแรม คิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท

ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ความเสียหายในส่วนนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้เหตุการณ์คลื่นยักษ์ “สึนามิ” เข้าถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันของภาคใต้ได้สร้างความเสียหายต่ออาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท และที่พักริมชายฝั่งทะเลถูกคลื่นยักษ์ถล่มกวาดหายไปมีหลายแห่งทั้งที่หาดเขาหลัก จังหวัดพังงา และโรงแรมชายฝั่งทะเลทั้งที่ภูเก็ตและกระบี่เท่ากับสูญเสียเต็ม100%ในส่วนนี้ต้องลงทุนสร้างกันใหม่ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เสียหายในระดับ 20-30%ที่ยังสามารถบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนมาได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีสาธารณสมบัติของทางการที่เสียหาย ทั้งถนน สะพาน และเสา-สายไฟฟ้า เป็นต้น ที่ถูกทำลายเสียหายมากก็จะต้องได้รับการบูรณะซ่อแซมให้ใช้การได้โดยเร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างโดยภาพรวม อาจมีส่วนผลักดันมูลค่าธุรกิจให้เพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆของประเทศ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า พื้นที่ที่มีการก่อสร้างในภาคใต้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของการก่อสร้างทั่วประเทศ โดยในเขตจังหวัดที่ได้รับความเสียหายรุนแรง 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงาและกระบี่ มีปริมาณการก่อสร้างประมาณร้อยละ 3 ของการก่อสร้างทั่วประเทศ ซึ่งการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ถ้ามีการใช้งบลงทุนเพื่อบูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายทุกๆ 10,000 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นจากอัตราการเพิ่มปกติปกติประมาณร้อยละ 1-2 หรือคิดเป็นเม็ดเงินเพิ่มประมาณ 7,000 ล้านบาท

อนึ่ง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายครั้งนี้นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะภูเก็ตมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการจำนวนไม่น้อยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้โครงการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวอาจมีแนวโน้มชะลอออกไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นช่วงหลังจากไตรมาสแรกของปี 2548

ธุรกิจเกษตร (ส่วนใหญ่เป็นสาขาประมง)

ในส่วนของธุรกิจเกษตรในพิ้นที่ความเสียหายตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะสูญเสียประมาณ 2,400 ล้านบาท แยกเป็นดังนี้

– ธุรกิจเรือประมง เสียหายประมาณ 100 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กลุ่มเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงขนาดใหญ่จมไปประมาณ 300 ลำ และเรือประมงหางยาวหรือเรือประมงขนาดเล็กจมไป 1,700 ลำ

– ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มที่สำคัญ ทั้งนี้ ผลผลิตปลาและผลิตภัณฑ์ทางทะเลอื่นๆ จากการเพาะเลี้ยงของจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมีจำนวน 12,567 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.5 ของปริมาณสัตว์น้ำเค็มที่มีการเพาะเลี้ยงทั้งประเทศ

– ธุรกิจการจับสัตว์น้ำ มูลค่าความเสียหายในส่วนนี้คาดว่าจะสูงถึง 1,800 ล้านบาท ผลกระทบจากคลื่นยักษ์ครั้งนี้จะส่งผลทำให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลในส่วนนี้หายไป ซึ่งคิดเป็นปริมาณสัตว์น้ำเกือบร้อยละ 20 ของปริมาณสัตว์น้ำทะเลทั้งหมด นอกจากนี้คาดว่ายังส่งผลกระทบต่อราคาสัตว์น้ำที่จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำลดลงค่อนข้างมาก

– ธุรกิจท่าขึ้นสัตว์น้ำ เสียหายประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์นั้นนับว่าเป็นท่าขึ้นสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าในจังหวัดเหล่านี้เท่ากับ 405,751 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.7 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าทั้งประเทศทำให้สัตว์น้ำส่วนนี้ต้องไปขึ้นท่าประมงในจังหวัดอื่นๆ เรือประมงต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องในจังหวัดเหล่านี้จะต้องไปนำวัตถุดิบสัตว์น้ำจากจังหวัดอื่นๆมาเพื่อป้อนโรงงานซึ่งส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิต

แม้ว่าขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิตกำลังประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งทรัพย์สินที่เป็นตัวอาคารโรงแรม รีสอร์ท ที่พักตากอากาศ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รถยนต์/จักรยานยนต์ รวมทั้งคนที่สูญเสียชีวิตที่จะมีผลต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยต่างๆ แต่ในเบื้องต้นกรมการประกันภัยได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่จะได้รับชดเชยในกลุ่มอาคารสถานที่และทรัพย์สิน เช่น โรงแรม รีสอร์ท หรือแม้กระทั่งรถยนต์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีการครอบคลุมถึงการทำประกันการเสี่ยงภัยไว้ ซึ่งในส่วนนี้ความเสียหายที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายชดเชยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท

ส่วนการประกันอุบัติเหตุทั้งในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ กรมการประกันภัยได้มีการประเมินร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในส่วนของผู้ที่ทำประกันในรูปแบบต่างๆเอาไว้ ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้ในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่าความเสียหายทั้งสองส่วนในเบื้องต้นนี้จะมีมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขนี้คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะมีการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งก็ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิต/บาดเจ็บและจำนวนทรัพย์สินต่างๆที่เสียหายก็มีการพบเพิ่มเติมเช่นกัน ทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบรรดาบริษัทประกันภัยต่างๆจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีก

การว่างงาน

เนื่องจากโรงแรม-รีสอ์ทและสถานที่พักตากอากาศในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ถูกทำลายเสียหายจนพังยับเยินไม่สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้มีจำนวนมากส่งผลกระทบให้แรงงานต้องตกงานทันทีประมาณ 200,000 คน หากประเมินว่าแรงงานส่วนนี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,000-10,000 บาท/คน ความสูญเสียในส่วนนี้ก็จะตกประมาณเดือนละกว่า 1,500 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงที่กำลังหางานใหม่ และทางการก็ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ให้มีงานทำส่วนหนึ่ง เช่น เก็บกวาดซากสลักหักพัง ถนน ช่วยแจกสิ่งของเครื่งใช้แก่ประชาชน และในระหว่างที่กำลังหางานใหม่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงจะหางานใหม่ได้ ความสูญเสียในส่วนนี้จึงน่าจะถึงระดับ 5,000 ล้านบาท

ผลกระทบด้านอื่นๆ

นอกเหนือจากผลกระทบด้านหลักสำคัญที่ได้ประเมินมาแล้วข้างต้น ก็ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทรถยนต์ เป็นต้น ที่ยังต้องรอผลการสำรวจและประเมินความเสียหายจากบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องตามกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังมีความสูญเสียในระบบสื่อสารโทรคมนาคม การรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และเจ็บป่วยที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อการนี้อีกจำนวนหนึ่งซึ่งหากรวมความเสียหายดังกล่าวแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

สรุปผลกระทบโดยรวม

มหันตภัยคลื่นยักษ์“สึนามิ”ที่ถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันสร้างความเสียหายร้ายแรงทั้งการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลแก่ประเทศอินโดนีเชีย ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย พม่า และรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรังและสตูล ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความสูญเสียในเบื้องต้นที่ประมาณกว่า67,000ล้านบาทจากผลกระทบคลื่นยักษ์“สึนามิ”

นอกเหนือจากความสูญเสียที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินดังกล่าวแล้วก็ยังมีความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้อีกหลายด้าน เช่น ความสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนหนึ่งแล้ว สภาพจิตใจที่หดหู่ของผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยังมีชีวิตรอด แต่ก็ตกอยู่ในสภาพที่เครียดอย่างหนักจากสภาพที่ต้องสูญเสียพ่อ-แม่ ลูก-หลาน ญาติพี่-น้อง เพื่อนสนิท-มิตรสหาย และคนที่ตนรักนับถือ ความสูญเสียด้านระบบนิเวศใต้ท้องทะเล เช่น แนวปะการังถูกทำลายจนยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ความสูญเสียแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลการจับและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล รวมทั้งสันดอนปากแม้น้ำในพื้นที่เกษตรถูกทำลายจนเกือบหมดสิ้น อันจะส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ดังกล่าวติดตามมา เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องทุ่มเทงบประมาณอีกเป็นจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูและวางแผนแก้ไขในระยะต่อไป

บทสรุป

มหันตภัย”สึนามิ”ที่ถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเล 6 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งที่สามารถประเมินเป็นตัวเงินที่สูญเสียในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท สถานที่พักตากอากาศ และธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความสูญเสียที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินในเบื้องต้นไว้ประมาณกว่า 67,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ที่ยังมีอีกมาก เช่น ชีวิตผู้คนที่ล้มตาย บาดเจ็บ และผู้ที่สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งระบบนิเวศใต้ท้องทะเลทั้งแนวปะการังที่สวยงามถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว ยังมีผลต่อการทำลายสันดอนและปากแม่น้ำอันจะส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ดังกล่าวติดตามมา

อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ได้ทุ่มเทงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 28,000 ล้านบาทลงสู่พื้นที่ประสบภัยทันที พร้อมกันนี้ก็ได้ออกมาตรการเร่งด่วนมาเป็นระยะๆเพื่อเร่งฟื้นฟูภาวะวิกฤตให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยร็ว ขณะที่ภาคเอกชน และประชาชนก็ผนึกกำลังร่วมกันอย่างเหนียวแน่นบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภคสู่พื้นที่ประสบภัยจำนวนมาก มีการจัดตั้งกองทุนบริจาคขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการให้เงินส่วนนึ้ถึงมือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างรวดเร็วและโดยทั่วถึง ความร่วมมือร่วมใจดังกล่าวช่วยผ่อนคลายผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็คาดว่าผลกระทบครั้งนี้จะมีไม่เกิน0.5%ของGDPโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะสามารถขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจในอัตรา5-5.5%