ยางพาราปี’48 : ปัจจัยพึงระวัง…ความต้องการชะลอตัว

ยางพารานับว่าเป็นสินค้าเกษตรที่โดดเด่นอย่างมากในปี 2547 เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ นับเป็นแรงจูงใจให้ในปี 2548 ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยพึงระวังคือ ความต้องการยางของประเทศผู้ผลิตยางสำคัญมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะจีน อันเป็นผลมาจากนโยบายชะลอตัวของการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งปัญหาราคาส่งออกยางของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน ดังนั้นคาดว่าการส่งออกยางพาราในปี 2548 จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง
การผลิตยางในตลาดโลกในปี 2548 คาดว่าจะมีประมาณ 8.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการกรีดยาง อันเป็นผลมาจากราคายางที่อยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศที่ต้องจับตามองคือ มาเลเซีย เนื่องจากผลผลิตยางในปี 2547 เท่ากับ 1.24 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีการขยายปริมาณการผลิตทั้งในส่วนของสวนยางขนาดใหญ่และสวนยางรายย่อย ส่วนปริมาณการผลิตยางในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการพื้นที่เปิดกรีดยางของสวนยางใหม่ โดยเฉพาะในเกาะสุมาตรา สำหรับประเทศไทยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตยางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปลูกยางในภาคตะวันออก

ส่วนเวียดนามนั้นจะกลายเป็นประเทศที่มีการขยายพื้นที่การปลูกยางที่น่าจับตามอง โดยคาดว่าในปี 2548 เนื้อที่ปลูกยางของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 เฮกตาร์(3.13 ล้านไร่) แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการผลิตยางของเวียดนามเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 3 ล้านตันเท่านั้น แต่ผลผลิตส่วนใหญ่นั้นจะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของการส่งออกยางไทยทั้งในตลาดจีนและมาเลเซีย ซึ่งในตลาดจีนนั้น ปรากฏว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกยางแผ่นรมควัน ส่วนในมาเลเซียผลผลิตยางไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะน้ำยางข้น

การบริโภคยางในตลาดโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณการบริโภคยางคือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการของอุตสาหกรรมยางอื่นๆ ซึ่งผลจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและจำนวนประชากรที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2548 ความต้องการยางในตลาดโลกจะมีปริมาณ 7.6 ล้านตัน และในปี 2549 ความต้องการยางในตลาดโลกยังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.8 โดยคาดว่าความต้องการยางจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศที่กำลังพัฒนา

กล่าวคือ ความต้องการยางในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราการขยายตัวจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากการเติบโตของการบริโภคยางนั้นขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคยางอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการยางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง จีนนั้นมีความต้องการยางที่มีคุณสมบัติเฉพาะ (Technical Specific Rubber : TSR) ซึ่งยางประเภทนี้มีสัดส่วนการผลิตในอินโดนีเซียร้อยละ 96 ของปริมาณการผลิตยางทั้งหมด ส่วนในมาเลเซียมีการผลิตร้อยละ 80 และในไทยมีการผลิตร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่คาดว่ายังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในจีน คืออุตสาหกรรมรองเท้า โดย China Chemical Reporter (CCR) คาดว่าในปี 2548 จีนยังมีความต้องการยางธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมรองเท้าประมาณ 167,000 ตัน

ประเทศที่น่าจับตามองคือ บราซิลซึ่งปริมาณการนำเข้ายางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปี 2546 ปริมาณการนำเข้ายางของบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 162,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และขยายตัวร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับการนำเข้าในช่วงปี 2542-2544 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ประเทศในแถบยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะโปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็กก็มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

ส่วนประเทศในเอเชียที่น่าจับตามองคือ อินเดีย แม้ว่าอินเดียจะมีการขยายปริมาณการผลิตยางอย่างมากจนกระทั่งปัจจุบันอินเดียนั้นจัดเป็นประเทศที่มีการผลิตยางได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียก็ตาม แต่ปริมาณความต้องการยางของอินเดียก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ การปรับมาตรฐานการครองชีพ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอินเดีย ปัจจุบันอินเดียมีอัตราการบริโภคยางเพียง 800 กรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่อัตราการบริโภคยางในประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปเฉลี่ยถึง 12-14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการขยายตัวของความต้องการยางของอินเดียอยู่ในเกณฑ์สูง

การส่งออกยางนั้นประเทศผู้ส่งออกยางหลักในตลาดโลกคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกยางของโลก คาดการณ์ว่าการส่งออกยางในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นไม่มากนักเนื่องจากการชะลอการนำเข้ายางของจีน ทำให้การส่งออกยางของไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในขณะที่การส่งออกของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตยางในเวียดนามเริ่มชะลอการขยายตัว และปริมาณความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ว่าราคายางจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้บริโภคยางหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีนและอินเดีย ปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคายางในตลาดโลกคือ การเปลี่ยนแปลงของราคาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณการผลิต และปริมาณการบริโภคยาง ส่วนประเด็นในเรื่องราคาน้ำมันที่ขยับตัวลดลงยังไม่ส่งผลทำให้ความต้องการยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ลดลง เนื่องจากราคายางธรรมชาติก็ยังถูกกว่ายางสังเคราะห์ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน นอกจากนี้กระบวนการผลิตยางรถยนต์ ยังมีความจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นสูงผสมกับยางสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง ดังนั้นความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจึงยังอยู่ในเกณฑ์สูง

ปัจจัยหนุนสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้การส่งออกยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก ดังนี้

– ขยายตลาดส่งออกใหม่
ตลาดส่งออกยางที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มจะชะลอการนำเข้า ทำให้ผู้ส่งออกของไทยมุ่งเจาะขยายตลาดใหม่ๆ โดยตลาดที่น่าสนใจคือ อินเดียที่ปัจจุบันไทยส่งออกไปอินเดียเพียง 10,000 ตัน/ปี เพราะอินเดียผลิตได้เอง 400,000 ตัน/ปี แต่มีความต้องการสูงถึง 600,000-700,000 ตัน/ปี ความต้องการยางในอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งมีความต้องการยางประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณความต้องการยางทั้งหมด โดยในปัจจุบันอินเดียมีการผลิตยางเรเดียลคุณภาพดีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รองลงมาประมาณร้อยละ 15 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 12 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมรองเท้า ร้อยละ 7 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำยางข้น ร้อยละ 6 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมเข็มขัดและท่อยาง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ส่วนอุตสาหกรรมยางที่ไม่ใช่ยางวงล้อของอินเดีย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ประมาณร้อยละ 50 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อม แต่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน

– การสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก
จากผลสำเร็จของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยาง 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพและมีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท จากในอดีตที่ราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท และในอนาคตน่าจะมีประเทศอื่นๆที่ส่งออกยางพาราที่สำคัญของโลก เช่น เวียดนาม อินเดีย จีน แอฟริกา เป็นต้น เข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้การเจรจาในระหว่างประเทศที่ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางเพื่อหาแนวทางการปรับราคายางพาราของทั้ง 3 ประเทศให้อยู่ในระดับเดียวกัน อันจะมีผลให้การส่งออกยางพาราของไทยดีขึ้นและขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามปัจจัยพึงระวังสำหรับธุรกิจยางในปี 2548 มีดังนี้

– จีนชะลอการผลิตรถยนต์
จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญของไทย มีนโยบายชะลอการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ จากเดิมผลิตรถยนต์ใช้ภายในประเทศในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 5.4 ล้านคัน เมื่อเทียบกับปี 2546 ที่มีจำนวน 4.6 ล้านคัน แต่ปี 2548 รัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะลดปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศให้เหลือปีละ 5 ล้านคัน เพราะมีปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางไทยอาจได้รับผลกระทบจากที่จีนพยายามคุมกำเนิดปริมาณรถยนต์ รวมทั้งยังประสบปัญหาจากการแข่งขันจากเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดจีน โดยในปัจจุบันเวียดนามส่งยางไปจีนประมาณ 200,000 ตัน/ปี นับว่าเป็นคู่ค้ายางอันดับสองรองจากไทยในตลาดจีน

– ราคายางไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง
ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 การส่งออกยางพาราของไทยเริ่มชะลอตัวลง โดยประเทศผู้ซื้อรายใหญ่โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นชะลอการนำเข้า เนื่องจากราคายางไทยอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง กล่าวคือราคายางดิบในประเทศประมาณ 40-42 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้นทุนการส่งออกในราคาเอฟโอบีประมาณ 1,245 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ราคาส่งออกยางพาราของไทยถือว่าสูงกว่าราคาส่งออกของคู่แข่งคือ อินโดนีเซียประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งยางที่อินโดนีเซียส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางแท่งและส่งออกไปสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยมีตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นและจีน

การบริโภคยางของโลกในช่วงปี 2548-2553 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะกลับไปขยายตัวอย่างมากอีกครั้งในช่วงปี 2553-2558 ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนของการเปิดกรีดยางเพิ่มขึ้นของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก และผลผลิตยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่เริ่มทยอยให้ผลผลิต

สำหรับในประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีพื้นที่กรีดยางไม่น้อยกว่า 15 ล้านไร่ทั่วประเทศ ขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 13.5 ล้านไร่ แต่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ประมาณ 10.5 ล้านไร่ คาดว่าปริมาณการผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในระยะ 6-7 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลสนับสนุนการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ คาดว่าผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นอีก 250,000 ตัน/ปี จากในปัจจุบันที่มีปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่ยางที่มีการส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มนี้จะให้ผลผลิตได้เต็มที่ในปี 2556 ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมรับมือกับปริมาณการผลิตยางที่เพิ่มขึ้นคือ การเร่งผลักดันโครงการเมืองยางพารา ซึ่งจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา โดยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป แทนที่การส่งออกในลักษณะวัตถุดิบเช่นในปัจจุบัน