คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้

ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะมีการประชุมเป็นครั้งแรกของปีนี้เพื่อพิจารณาทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds หลังจากที่เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 5 ครั้งๆ ละ 0.25% จากระดับ 1.0% มาเป็น 2.25% ในปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาเป็น 2.50% ในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ โดยการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบเข้มงวดมากขึ้นของเฟดคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจมีแนวโน้มขยับขึ้นไปอยู่ที่ 3.75-4.0% ณ ปลายปี 2548 โดยปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ข้างต้น สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

ปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟด ได้แก่

? เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าที่จะมีความแข็งแกร่งมากพอสำหรับรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2548 นี้ได้ จากการเปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี เบื้องต้น (advance) ไตรมาส 4/2547 ของสหรัฐฯ ที่ 3.1% (q-o-q annualized) แม้จะน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.5% แต่อัตราการขยายตัวที่ 4.4% (y-o-y) ของทั้งปี 2547 ก็ยังคงสูงกว่าการขยายตัวที่ 3.1% ในปี 2546 และเป็นระดับการเติบโตที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาตัวเลขคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (consensus forecasts) ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มเติบโตถดถอยลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.6% ในปี 2548 แต่ระดับการเติบโตดังกล่าวก็ยังคงแข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ก็น่าที่จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับรองรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสหรัฐฯได้ โดยจากผลสำรวจของ Blue Chip Financial Forecasts ที่เปิดเผยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2548 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payroll) ของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1.87 แสนตำแหน่งในปี 2548 ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนที่ประมาณ 1.86 แสนตำแหน่งในปี 2547

ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหลัก
(%y-o-y) 2003 2004-E 2005-E
สหรัฐฯ 3.1 4.4 3.6
กลุ่มยูโร 0.5 1.8 1.7
ญี่ปุ่น 2.5 2.9 1.1
ที่มา: Consensus Economics Inc., January 10, 2005

? อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2548 แต่ยังคาดว่าจะอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ จากตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure Price Index) ในไตรมาส 4/2547 ทั้งอัตราทั่วไป (headline) และอัตราพื้นฐานที่หักราคาอาหารและพลังงาน (core) ที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% และ 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากระดับ 1.3% และ 1.0% ในไตรมาส 3/2547 สะท้อนถึงทิศทางอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ในขณะที่ ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนมกราคม หลังจากที่ได้ลดลงไปในเดือนธันวาคม รวมทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2548 ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ Blue Chip Financial Forecasts เมื่อต้นเดือนมกราคม 2548 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ (Headline Consumer Price Index) ของสหรัฐฯอาจอยู่ที่ประมาณ 2.6% ในปี 2548 ลดลงเพียงเล็กน้อยจากระดับ 2.7% ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ก็คาดว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด น่าจะทำให้การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ของเฟด

? การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยกระตุ้นการออมของภาคเอกชน และเป็นผลบวกต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่คาดว่าจะมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด น่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯมีการออมเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่อัตราการออม (saving rate) ของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับต่ำมากในปัจจุบัน (อัตราการออมล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 0.3% ในเดือนพฤศจิกายน 2547) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ เพื่อให้ภาคเอกชนลดการใช้จ่ายและหันมาออมมากขึ้น น่าที่จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะให้การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทางออกเดียวของการแก้ปัญหาดังกล่าว

? การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังคาดว่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐฯ เพราะล่าสุดการปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐฯได้มีการตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ไปแล้วล่วงหน้า ดังจะสะท้อนได้จากทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Fund Futures ที่ได้ขยับขึ้นรับการคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้วถึง 100% นอกจากนี้ ตลาดยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจขยับขึ้นไปยืนที่ระดับ 3.0% ก่อนครึ่งแรกของปีนี้ด้วยความเป็นไปได้ประมาณ 80% ด้วย

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แม้จะชะลอลงในระยะข้างหน้า ประกอบกับ ตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คงจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรองรับการเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของเฟดในปี 2548 ได้ ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดก็น่าที่จะช่วยสกัดกั้นแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2548 รวมทั้ง ยังอาจทำให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯมีระดับการออมที่เพิ่มมากขึ้น ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่คาดว่าจะทยอยปรับสูงขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะให้การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทางออกเดียวของการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯก็ยังได้มีการตอบสนองการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ไปแล้วล่วงหน้าถึง 100% พร้อมทั้งคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจขยับขึ้นไปยืนที่ระดับ 3.0% ก่อนครึ่งแรกของปีนี้ด้วยความเป็นไปได้ประมาณ 80% ด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2548 นี้ รวมทั้งประเมินว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจค่อยๆ ขยับเข้าสู่ระดับ 3.75-4.0% ณ ปลายปี 2548

สำหรับผลกระทบต่อทิศทางตลาดเงินตลาดทุนไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ คงจะมีค่อนข้างจำกัดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรของไทย เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ได้มีการปรับตัวรองรับการคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้วล่วงหน้า ในขณะที่ตลาดคงจะมีการให้น้ำหนักกับความเคลื่อนไหวของตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนทิศทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า ส่วนทางด้านทิศทางค่าเงินบาท ก็คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนคงจะจับตาการประชุมกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจหลัก 7 ประเทศ (G7) ในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2548 รวมทั้งท่าทีของทางการจีนที่มีต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ