การใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในประเทศที่ประสบภัยสึนามิ กลับคืนสู่สภาพปกติ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในพื้นที่ประสบภัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อน

กรุงเทพฯ: วันที่ 31 มกราคม 2548 – ยอดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในประเทศที่ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16 ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2548 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวยังคงนิยมเดินทางไปประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา และไทย อย่างต่อเนื่อง แม้ยอดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศที่ประสบภัยจะมีสัดส่วนน้อยกว่าในประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิก็ตาม

ทั้งนี้ วีซ่า ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดในรายงาน Visa Tourism Update เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศที่ประสบภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นในเรื่อง การใช้จ่ายของผู้เดินทางจากต่างประเทศ

นายเจมส์ เมอร์เรย์ รองประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ยอดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่าโดยรวมของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจในประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิมีอัตราสูงขึ้น แต่จากที่วีซ่าได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการฟื้นฟูอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เราเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ”

นายเจมส์ กล่าวต่อไปถึงปัจจัยที่ทำให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงขึ้นมีหลายประการว่า “คลื่นยักษ์สึนามิ มีอานุภาพร้ายแรงในการสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทว่าพื้นที่บางส่วนเท่านั้นที่ได้รับ ผลกระทบดังกล่าว โดยแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งไม่ได้รับผลกระทบและยังคงสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวหลักที่ได้รับความเสียหายก็สามารถปรับพื้นที่และกลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ นายเจมส์ ได้ให้ความเห็นดังกล่าวในการประชุมสมัยพิเศษขององค์การการท่องเที่ยวโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่จัดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตในสัปดาห์นี้ เพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยว (Emergency Task Force) ของประเทศที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา

“สำหรับยอดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในภูมิภาคเอเชียในปี 2547 นั้น มีมูลค่าสูงถึง 19,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในฐานะที่วีซ่าเป็นผู้นำในการให้บริการในภูมิภาคเอเชีย โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณเกือบสองเหรียญจากทุกๆ สามเหรียญเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่า ทำให้เราสามารถใช้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุบัติภัยที่เกิดขึ้นต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี” นายเจมส์ กล่าว

การท่องเที่ยวจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็วหรือไม่?

“ความเสียหายที่เกิดแก่มนุษย์อันเนื่องมาจากความรุนแรงของคลื่นยักษ์สึนามินั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หาที่เปรียบไม่ได้ แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือนี่ไม่ใช่หายนะเพียงหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่กระทบต่อธรุกิจการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 การก่อการร้ายในบาหลี และการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ล้วนแต่ทำลายความมั่นใจของผู้บริโภคและทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกแผนการเดินทางเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียสามารถฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสถานการณ์ล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน” นายเจมส์กล่าว

นายเจมส์เสริมว่า “จากข้อมูลล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลก พบว่าภูมิภาคเอเชียได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 150 ล้านคนในปี 2547 โดยคลื่นยักษ์สึนามิส่งผลกระทบต่อจำนวนของนักท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นในประเทศที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งจะเห็นได้จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในอดีตและแนวโน้มในปัจจุบัน ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว การท่องเที่ยวในเอเชียจะยังคงสดใสต่อไป”

เมื่อต้นปี 2546 วิกฤติการณ์โรคซาร์สทำให้ปริมาณการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่านักท่องเที่ยวยังคงกลับมาเหมือนเดิมในเวลาต่อมา หลังจากที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาสู่สภาพปกติทำให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียส่งผลให้ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในภูมิภาคเอเชียในปี 2546 เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2545 แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2546 จะมียอดลดลงเนื่องจากวิกฤติการณ์โรคซาร์สก็ตาม

ข้อมูลสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่งสัญญาณให้เห็นถึงการฟื้นคืนสู่สภาพเดิมของประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทว่าในประเทศศรีลังกาและมัลดีฟส์ ภาวะการฟื้นตัวกลับเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งบ่งชี้ถึงความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยว ภายในประเทศศรีลังกาและมัลดีฟส์อย่างมาก โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของนักเดินทางจากต่างประเทศในศรีลังกาลดลงถึงร้อยละ 19 และมัลดีฟส์ ลดลงร้อยละ 42 ในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ปี 2548 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2547

นายเจมส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วีซ่าจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศที่ประสบภัยพิบัติในอีกหลายเดือนข้างหน้าในรายงาน Visa Tourism Update ต่อไป รวมทั้งผลการวิจัยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจทัศนคติของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในตลาดทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ตลอดจนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย

“วีซ่ามีบทบาทในการช่วยประเทศที่ประสบภัยพิบัติในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง โดย ข้อมูลต่างๆ ของวีซ่าที่เผยแพร่ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานการท่องเที่ยว และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้เห็นทิศทางในด้านการนำเสนอสินค้าและบริการ ตลอดจนผลประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ควร พึ่งพิงรายได้จากเพียงแหล่งเดียวมากเกินไป” นายเจมส์ กล่าว

ช่วยดึงนักท่องเที่ยวกลับคืนสู่แหล่งท่องเที่ยวที่ประสบภัย

นายเจมส์ กล่าวต่อว่า ด้วยสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นและยาวนานกับหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว และ ผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งการได้ร่วมงานกับองค์การการท่องเที่ยวโลกเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว วีซ่า จึงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การการท่องเที่ยวโลกในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของคณะทำงานด้านเทคนิคและสนับสนุนฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว (Emergency Task Force) ที่จังหวัดภูเก็ตในสัปดาห์นี้

“ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทุกราย อาทิ บริษัทธุรกิจขนาดเล็ก สายการบิน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับนานาชาติ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว และผู้ประกอบ กิจการโรงแรม ตระหนักถึงความจำเป็นในการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด และในเร็วๆ นี้ วีซ่าจะร่วมมือกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก รวมทั้งพันธมิตรทางการค้าและองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่าเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ เหล่านี้” นายเจมส์ กล่าว

“โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ทำลายสถานที่และแหล่งท่องเที่ยวที่ดีเยี่ยมที่สุดของโลก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน วันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ไม่ลืมเลือนไปจากความทรงจำของพวกเราทุกคน พร้อมกันนี้เรายังตระหนักถึงความร่วมแรงร่วมใจขององค์กรต่างๆ ที่ช่วยสร้างรอยยิ้มและเป็นกำลังใจให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่รวมทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งคาดว่า จะกลับมาเยือนดินแดนเหล่านี้อีกครั้งเป็นจำนวนมาก” นายเจมส์กล่าวทิ้งท้าย

การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของวีซ่า

นับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา วีซ่าดำเนินกิจกรรมสนับสนุนหลากหลายรายการ นอกเหนือจากความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก และพันธมิตรในการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ

เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจอื่นๆ วีซ่า พร้อมด้วยพนักงานได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทันที โดยวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้งวีซ่า เอเชีย แปซิฟิก ประกาศบริจาคเงินมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐแก่กาชาดสากลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัยและคลื่นยักษ์สึนามิ นอกจากนี้ วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก ยังร่วมบริจาคสมทบร่วมกับเงินบริจาคของพนักงานของบริษัทฯ ให้กับกาชาดสากล โดยบริษัทฯ จะสมทบเงินจำนวน 1 เหรียญสหรัฐให้กับเงินบริจาคของพนักงานทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นี้

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรวีซ่าบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิให้แก่องค์กรการกุศลสากลอีก 6 แห่งรวมทั้งสำนักงานสาขาในประเทศต่างๆ ทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดภายในประเทศและระหว่างประเทศให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งได้แก่ กาชาดสากล Medicins Sans Frontieres องค์การแคร์ อ็อกซ์แฟม ยูนิเซฟ และเซฟ เดอะ ชิลเดรน จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548

วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล

วีซ่า เป็นผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินชั้นนำของโลก โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรมากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี วีซ่า ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเป็นนวัตกรรมในการชำระเงินที่ทันสมัย เพื่อให้บริการแก่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจำนวน 21,000 ราย และผู้ถือบัตรซึ่งเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินดังกล่าว นอกจากนี้ วีซ่ายังเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจการชำระเงินบนอินเตอร์เน็ต และเป็นผู้บุกเบิกในระบบยู-คอมเมิร์ซ (universal commerce) เพื่อสนับสนุนธุรกรรมเชิงพาณิชย์ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกโอกาส สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่า สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ได้ที่ www.corporate.visa.com

วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก

ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วีซ่ามีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าบัตรเครดิตประเภทอื่นๆ โดยมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า ณ ร้านค้าจุดขาย คิดเป็นร้อยละ 62 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ปัจจุบัน วีซ่า ได้ออกบัตรเครดิตในชื่อของวีซ่ารวมมากกว่า 229 ล้านใบในภูมิภาคแห่งนี้ โดยตลอดเดือนกันยายน 2547 จะมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า ณ ร้านค้าจุดขายและในรูปของการเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 339 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่า เอเชีย แปซิฟิก สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ได้ที่ www.visa-asia.com