ตลาดเหล็กไทย … เป้าหมายที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างญี่ปุ่นหมายตา

การเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรีหรือFTAระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากทางฝ่ายญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ไทยดำเนินการเปิดเสรีนำเข้าเหล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยในเบื้องต้นทางญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนลงเหลือร้อยละ 0 ในทันที

ในขณะที่ทางฝ่ายไทยได้เสนอที่จะคงภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนไว้ที่ระดับปัจจุบันคือร้อยละ 7.0 – 9.5 เป็นเวลา 10 ปี และจะเริ่มทยอยลดภาษีในปีที่ 11 จนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 15 เหตุผลสำคัญที่ทางฝ่ายไทยได้มีข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่เพิ่งจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภาวะซบเซาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งได้ทำให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศหลายรายในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น ต้องประสบกับปัญหาธุรกิจอย่างหนัก

มาในวันนี้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยกำลังมีการฟื้นตัว อันเป็นผลจากภาวะความต้องการเหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง ตลอดจนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ภาครัฐของไทยก็มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตที่ครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือการจัดสร้างโรงถลุงเหล็กในประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอุปทานและราคาเหล็กในประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ความผันผวนอย่างมากของปริมาณและราคาเหล็กในตลาดโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะตลาดเหล็กในประเทศไทย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเหล็กในบางช่วงเวลาและราคาเหล็กพุ่งสูงขึ้น

ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้ ภาครัฐโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงได้กำหนดให้โครงการประเภทการผลิตเหล็กขั้นต้น รวมทั้งขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นกลางที่ต่อเนื่องเป็นขั้นตอนเดียวกับการผลิตเหล็กขั้นต้น เป็นกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนสูงสุดไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตใด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างครบวงจร ซึ่งรวมทั้งการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือโรงถลุงเหล็ก พร้อมๆไปกับให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำ อันได้แก่ เหล็กแท่งยาว(Billet) เหล็กแท่งแบน(Slab) เป็นต้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็กปลายน้ำ อันได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ อาทิ เหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆที่จะมีการขยายตัวพร้อมๆไปกับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นในประเทศหลายรายกำลังมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว อาทิ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน), บริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน), บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) ดังนั้นข้อเสนอของทางญี่ปุ่นที่ให้มีการเปิดเสรีเหล็กแผ่นดังกล่าวจึงได้รับการทักท้วงจากผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ ซึ่งแม้ว่าทางญี่ปุ่นจะเสนอให้มีการเปิดเสรีนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนในทันทีเฉพาะรายการพิกัดที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังไม่สามารถผลิตได้ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยซึ่งยังอยู่ในช่วงการพัฒนา จะไม่มีโอกาสยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนได้เลย

ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคบริการ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ยังผลให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้นเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และเหล็กแผ่นประเภทต่างๆที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากทำให้ต้องมีการนำเข้าเหล็กประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อย่างเช่น เศษเหล็ก เหล็ก Slab เหล็ก Billet หรือผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ ฯลฯ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำเข้าเหล็กสุทธิ (Net Importer of Steel) รายใหญ่ติดเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยมีจีนและสหรัฐเป็นสองประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยซึ่งสะท้อนออกมาในรูปความต้องการใช้เหล็ก จึงได้ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นตลาดเป้าหมายเสมอของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซียและประเทศอื่นๆในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต บราซิล ไต้หวัน ฯลฯ

เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ดังนั้นภาวะตลาดเหล็กในประเทศจึงมีความผันผวนไปตามภาวะตลาดเหล็กโลกทั้งในด้านราคาและปริมาณที่แกว่งตัวไปตามความต้องการเหล็กของโลก

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2540-2545 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ความต้องการเหล็กของโลกลดลงทำให้เกิดภาวะปริมาณเหล็กโลกล้นตลาด บรรดาประเทศผู้ผลิตต่างๆ พยายามระบายเหล็กสู่ตลาดโลกด้วยวิธีการทุ่มตลาด จนหลายประเทศผู้นำเข้าต่างๆรวมทั้งไทย ต้องดำเนินมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด โดยในปี 2546 รัฐบาลไทยได้ดำเนินการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties : AD) ด้วยการเพิ่มภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้าจาก 14 ประเทศ (อันได้แก่ ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ยูเครน แอลจีเรีย อินโดนีเซีย สโลวัก และโรมาเนีย) ในอัตราร้อยละ 3.45 – 128.11 ของราคา cif มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจากการถูกทุ่มตลาดจากเหล็กนำเข้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆที่ต้องใช้เหล็กแผ่นเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า อันได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เหล็กเคลือบสังกะสี ฯลฯ ทางการจึงได้ผ่อนปรนมาตรการ AD ให้กับรายการเหล็กแผ่นรีดร้อนนำเข้า 10 พิกัดที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศประมาณปีละ 12-13 ล้านเมตริกตัน โดยเป็นการผลิตในประเทศประมาณร้อยละ 60 และอีกกว่าร้อยละ 40 หรือประมาณ 5.4 ล้านเมตริกตันเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 3 ล้านเมตริกตันเป็นการนำเข้าเหล็กแผ่นประเภทต่างๆ ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของไทย (ดูในตารางที่ 1) ด้วยมูลค่านำเข้ากว่า 2,503 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2546 ทั้งนี้มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 38 ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าทั้งหมดของไทย เทียบกับแหล่งนำเข้าใหญ่อันดับสองของไทย คือรัสเซีย ซึ่งไทยนำเข้าเหล็กไม่ถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.6 ของมูลค่านำเข้าเหล็กทั้งหมดของไทย และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 นี้ การนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นก็ยังมีมูลค่าเกือบ 524 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 67.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของเหล็กแผ่น (ดูในตารางที่ 2) ในปี 2547 ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเกือบ 1,582 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36 จากปี 2546 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.59 ของมูลค่านำเข้าเหล็กแผ่นทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในขณะที่แหล่งนำเข้าเหล็กแผ่นใหญ่อันดับสองของไทย คือเกาหลีใต้ ซึ่งการนำเข้าของไทยมีมูลค่าเพียง 216 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.9 ของมูลค่านำเข้าเหล็กแผ่นทั้งหมดของไทย และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 นี้ ไทยยังคงนำเข้าเหล็กแผ่นจากญี่ปุ่นเป็นมูลค่าเกือบ 345 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 87.34 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยปริมาณส่งออกมากกว่า 35 ล้านเมตริกตันต่อปี จึงมีเป้าหมายที่จะขยายการส่งออกมายังประเทศไทยซึ่งปัจจุบันยังต้องนำเข้าเหล็กประมาณปีละ 5-6 ล้านเมตริกตัน โดยที่อุตสาหกรรมยานยนต์จากค่ายรถญี่ปุ่นในไทยเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่ใช้เหล็กแผ่นนำเข้าจากญี่ปุ่น ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าตลาดเหล็กในประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง ทั้งนี้จากความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่จะกำลังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ดังนั้นประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างญี่ปุ่นย่อมจะเล็งเห็นถึงศักยภาพดังกล่าว และใช้โอกาสจากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับไทยรุกเข้าครองตลาดเหล็กไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ยังเชื่อว่าภาครัฐและคณะผู้แทนของไทยที่กำลังดำเนินการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศอย่างดีที่สุด โดยมองภาพรวมทั้งผลดีและผลกระทบในทุกด้านเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งเชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศในระยะยาว ให้สามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมองผลในภาพรวมที่จะมีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่ต้องใช้เหล็กในกระบวนการผลิตควบคู่ไปด้วย

ตารางที่ 1
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าของไทย
(มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ)
แหล่งนำเข้า/ประเทศ 2545 2546 2547 2548 (ม.ค-ก.พ)
ญี่ปุ่น 1,506.4 1,826.5 2,503.4 (37.1) 523.9 (67.7)
รัสเซีย 322.2 366.4 696.1 (90.0) 257.6 (190.4)
จีน 72.3 98.8 578.0 (485.0) 169.1 (545.4)
เกาหลีใต้ 178.1 198.7 302.8 (52.4) 85.0 (85.6)
บราซิล 165.9 212.4 290.7 (36.9) 60.4 (-5.8)
ไต้หวัน 147.1 152.6 219.6 (43.9) 48.6 (59.3)
ยูเครน 335.5 218.7 286.9 (31.2) 47.4 (-12.7)
สหรัฐอเมริกา 41.3 183.0 248.2 (35.6) 44.6 (101.8)
ฝรั่งเศส 64.2 131.1 57.6 (-56.1) 31.5 (262.1)
ออสเตรเลีย 78.2 121.8 212.6 (74.6) 30.1 (129.8)
อื่นๆ 528.9 737.2 1,164.4 (58.0) 162.7 (-20.4)
รวม 3,440.2 4,247.1 6,560.4 (54.5) 1,461.0 (67.8)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บคือร้อยละการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า
ที่มา กระทรวงพาณิชย์

ตารางที่ 2
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นของไทย
(มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ)
แหล่งนำเข้า/ประเทศ 2545 2546 2547 2548 (ม.ค-ก.พ)
ญี่ปุ่น 855.9 1,160.3 1,581.9 (36.3) 344.7 (87.3)
เกาหลีใต้ 130.3 138.8 216.0 (55.6) 38.4 (11.9)
จีน 11.6 19.1 79.8 (317.8) 37.9 (149.3)
ไต้หวัน 44.0 49.2 78.3 (59.1) 18.3 (51.2)
คาซัคสถาน 8.7 10.9 30.1 (176.1) 12.3 (119.6)
บราซิล 6.9 15.7 15.2 (-3.2) 9.6 (21.5)
อินโดนีเซีย 8.2 9.6 18.0 (87.5) 4.6 (475.0)
อินเดีย 16.8 28.0 17.4 (-37.9) 3.9 (290.0)
มาเลเซีย 7.5 9.0 16.0 (77.8) 3.0 (30.4)
ออสเตรเลีย 10.7 19.4 41.4 (113.4) 2.8 (-55.6)
อื่นๆ 45.4 60.0 85.2 (41.6) 12.0 (-43.9)
รวม 1,146.0 1,520.0 2,179.2 (43.4) 487.4 (67.7)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บคือร้อยละการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า
ที่มา กระทรวงพาณิชย์