ผลวิจัยชี้ชัดผู้ชายตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายกว่าผู้หญิง

ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้รับผิดชอบงานวิจัยเรื่อง สภาวะการควบคุมพฤติกรรมตนเองและอิทธิพลของสังคม (Locus of Control and Social Influence) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการจัดงาน International Business Conference ขึ้นที่มหาวิทยาลัยแฮนแชง ประเทศเกาหลี โดยมีนักวิชาการ 400 คนจากทั่วโลกร่วมกันแสดงผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในโลกตะวันตกและตะวันออก ทั้งในเรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต เพื่อนักการตลาดจะได้มีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น

การร่วมงานในครั้งนี้นักวิชาการทั่วโลกได้ให้ความสนใจงานวิจัยเรื่อง สภาวะการควบคุมพฤติกรรมตนเองและอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศในแถบภูมิภาคนี้ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก หากสามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคของคนในภูมิภาคนี้มากขึ้นก็จะได้เปรียบในการแข่งขันสูง
โดยงานวิจัยฉบับนี้ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบความแตกต่างของชาย-หญิง จาก 4 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุผลที่แท้จริงของผู้บริโภคในประเทศกลุ่มตัวอย่าง ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

สำหรับเหตุผลการตัดสินใจซื้อและบริโภคสินค้าและบริการของทั้งชายและหญิงนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 เหตุผลด้วยกัน คือด้านชีววิทยา เช่น ความสูง เตี้ย ผิวดำ ขาว ฯลฯ ปัจจัยทางด้านสังคม เช่น ความได้หน้า-ขายหน้า และเหตุผลส่วนตัว เช่น เรื่องของความพึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยฉบับดังกล่าวได้ระบุว่า เพศชายมักยึดติดกับบทบาทของการเป็นผู้นำมากกว่าเพศหญิง มีความสามารถในการตัดสินใจโดยไม่ต้องปรึกษาคนอื่น ที่น่าสนใจก็คือวิธีการชื้อและบริโภคสินค้าจะตัดสินใจเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้หญิง ทั้งยังนั้นรักความเป็นสันโดดมากกว่าเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงนั้นส่วนใหญ่ชอบเป็นผู้เจรจาปราศัย และมีปราณีปรานอมมากกว่าเพศชาย

ส่วนสภาวะการควบคุมพฤติกรรมของตนเองนั้นงานวิจัยฉบับนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ การกระตุ้นจากภายในตนเอง (Internal Locus of Control) บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ระมัดระวังมากในการลงทุน มักจะมีข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาเสริมและประกอบการพิจารณา เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีความเชื่อในพลังความสามารถของตนเอง มีความมั่นใจสูง ส่วนการกระตุ้นจากภายนอก (External Locus of Control) บุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้มักจะคล้อยตามกับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อิทธิพลจากคนอื่น ความเชื่อและความศรัทธาทางวัฒนธรรม และมีความเชื่อเรื่องการวัดดวง ความเสี่ยงโชคเป็นอย่างสูง
ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Internal มักจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง และเชื่อว่าความสำเร็จต่าง ๆ เกิดจากความสามารถและความพยายามของตนเอง ส่วนผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม External เชื่อว่าความสำเร็จและความล้มเหลวนั้นเป็นเรื่องของดวงหรือโชคของตนเอง

สำหรับสภาวะการควบคุมตนเอง ต่อเรื่องแรงกระตุ้นทั้งภายในและภายนอกนั้น ดร.กฤษติกา กล่าวว่า งานวิจัยฉบับนี้ชี้ชัดว่าเพศชายจะมีพลังภายในมากกว่าเพศหญิง โดยผู้ชายกลุ่มตัวอย่างจากประเทศออสเตรเลียมีพลังภายในมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาก็คืออเมริกา สิงคโปร์และประเทศไทยตามลำดับ

นอกจากนี้แล้วยังระบุได้ว่าเพศชายนั้นได้รับอิทธิพลจากสังคมน้อยกว่าหญิง โดยเพศหญิงจากประเทศอเมริกานั้นได้รับอิทธิพลจากสังคมสูงเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือประเทศออสเตรเลียสิงคโปร์และไทยตามลำดับ
ส่วนสภาวะการควบคุมพฤติกรรมของตนเองของชายและหญิงในเอเชียนั้น การมีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความสามารถในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองน้อยกว่าเพศชายและหญิงในยุโรปและอเมริกา โดยเพศชายและหญิงในประเทศอเมริกามีความเชื่อมั่นในตนเองสูงสุด รองลงมาคือออสเตรเลีย สิงคโปร์และไทย ตามลำดับ

ในขณะที่ชายและหญิงในเอเชียนั้นมีความเชื่อเรื่องโชคและดวงมากกว่า โดยเพศชายและหญิงที่มีความเชื่อเรื่องดังกล่าวสูงสุดคือประเทศไทย รองลงมาคือสิงคโปร์ ออสเตรเลียและอเมริกาตามลำดับ นอกจากนี้แล้วชายและหญิงในเอเชียได้รับอิทธิพลจากสังคมรอบตัวมากกว่า ชายและหญิงในประเทศแถบตะวันตก

ดร. กฤษติกา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่าผลต่อพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร เนื่องจากสภาวะการควบคุมตนเองที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากภายในและภายนอกของกลุ่มตัวอย่าง สามารถระบุถึงวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน การดำเนินธุรกิจ การเลือกคู่ รวมทั้งเรื่องความเจริญก้าวหน้าทั้งในส่วนตัวและสังคม