เปิดตัว วินโคสท์ อินดัสเตรียล พาร์ค

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วินโคสท์ อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าไปซื้อกิจการบริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ หันมาดำเนินธุรกิจรับจ้างประกอบรถโกคาร์ และธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ในเขตปลอดภาษี ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย คือ ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ประเทศไทยมีกับคู่สัญญา เช่นธุรกิจที่นำเข้าชิ้นส่วนและประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก และ/หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ โลจิตส์ติก เช่น การบริหารคลังสินค้า เป็นต้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าในระยะอันใกล้นี้ประเทศไทยจะเปิดการค้าเสรี ทำให้ธุรกิจด้านนี้จะมีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมวินโคสท์ ตั้งอยู่ที่ ถ.บางนา-ตราด กม. 51.7 มีพื้นที่ประมาณเกือบ 65 ไร่ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนมิถุนายน โดยขณะนี้มีผู้ที่มาเช่าพื้นที่แล้วมากกว่า 80%

“จุดเด่นของนิคมอุตสาหกกรรมวินโคสท์ คือที่ตั้งซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ดีมาก เพราะอยู่ระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทฯ เตรียมที่จะขยายฐานธุรกิจ เพื่อให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับพันธมิตรหลายๆ ราย”

นายภัทรลาภ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานจนถึงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 20.29 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 6.68 ล้านบาท และคาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะมีผู้เช่าพื้นที่เต็ม 100% โดยบริษัทฯ จะมีรายได้จาก 2 ส่วน คือ 1. จากการให้เช่าพื้นที่ 2. จากการให้บริการสาธารณูปโภคในเขตปลอดอากร

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะนำหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง ประมาณในไตรมาสที่ 3 ของปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนยื่นเรื่องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข้อมูลบริษัท

บริษัท วินโคสท์ อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน)

บริษัท วินโคสท์ อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อบริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 20,156.39 ล้านบาท และมีทุนที่ออกจำหน่ายและชำระเต็มมูลค่าแล้ว 14,009.37 ล้านบาท

ในเดือนพฤษภาคม 2547 บริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ได้แก่ กลุ่มตระกูลวงศ์สวัสดิ์ และกลุ่มนายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ และนายวิสาล นีรนาทโกมล และดำเนินธุรกิจเริ่มจากการรับจ้างประกอบรถโกคาร์ท และจักรยานให้กับกลุ่ม บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด และต่อมาในต้นปี 2548 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการด้านการให้เช่า และขายพื้นที่ในเขตปลอดอากร

สำหรับจุดเด่นของเขตปลอดอากรของบริษัท ซึ่งจะเป็นอาคารโรงงาน และสำนักงานสำเร็จรูปพร้อมใช้ รวมถึงการบริการสาธารณูปโภคที่ครบครัน โดยทางบริษัทได้เสนอการให้บริการอำนวยความสะดวกผู้ลงทุนเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำหรับการนำเข้าและส่งออกในการติดต่อสำนักงานกรมศุลกากร นอกจากนี้การขนส่งวัตถุดิบ และสินค้าของผู้เช่ายังสามารถทำได้อย่างสะดวก

ปัจจุบัน วินโคสท์ อินดัสเตรียล พาร์ค ตั้งอยู่ที่ บางนา-ตราด กม. 51.7 มีพื้นที่ประมาณ 65 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน อาคารศูนย์อาหารและศูนย์แสดงสินค้า พื้นที่โรงงาน 6 อาคาร เป็นต้น

ส่วนในอนาคตบริษัทฯ มีโครงการที่จะดำเนินธุรกิจให้บริการด้านลอจิสติคส์ และบริการด้านศุลกากร สนับสนุนธุรกิจการขายและให้เช่าพื้นที่ในเขตปลอดอากร ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ความเป็นมาและพัฒนาการที่สำคัญของบริษัทฯ

• “ บริษัทเทเลเท็ค ( ประเทศไทย) จำกัด “ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2528 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 3.5 ล้านบาท โดยได้ร่วมลงทุนกับเทเลเท็ค (ฮ่องกง) จำกัด ในการผลิตเครื่องโทรศัพท์ และเครื่องโทรทัศน์สีในประเทศไทย
• บริษัท เทเลเท็ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 ชื่อว่า “ บริษัท เทเลเท็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ” โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท เทเลเท็ค อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ( “TIHL”)
• ในปี 2536 บริษัท แกรนด์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (“กลุ่มบริษัทแกรนด์ฯ”) ได้ซื้อหุ้นของบริษัท เทเลเท็ค อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ( “TIHL”) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทฯ โดยกลุ่มบริษัท
แกรนด์ฯ นั้นมีเครือข่ายและความชำนาญในการผลิต และขายจอภาพคอมพิวเตอร์
• ในปี 2536 บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เคพโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัด ( “CTL”) ขึ้น โดยบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์ โดยมีเงินลงทุนจำนวน 40 ล้านบาท CTL ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับการผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2539
• บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537
• ปี 2538 บริษัทหยุดการผลิตสินค้าประเภทเครื่องรับโทรทัศน์และโทรศัพท์ และได้รับการโอนการผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์จาก CTL และเริ่มทำการผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์รวมทั้ง CTL ได้โอนสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนให้แก่บริษัทด้วย
• บริษัทได้ทำการผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์ PCD ในปี 2538 โดยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวรวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2540
• ปี 2546 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดให้บริษัทเข้าอยู่ในกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และในเดือนธันวาคม 2546 บริษัทได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
• วันที่ 31 พฤษภาคม 2547 บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งได้แก่ กลุ่มตระกูลวงศ์สวัสดิ์ และกลุ่มนายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ และนายวิสาล นีรนาทโกมล
• ไตรมาสที่ 4 ปี 2547 บริษัทปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยเริ่มรับจ้างประกอบรถโกคาร์ท และจักรยานให้กับบริษัทในกลุ่ม บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด
• เดือนเมษายน 2548 เริ่มดำเนินธุรกิจเขตปลอดอากร