อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงจะขยับขึ้นเป็น 3.25% ปลายเดือน มิ.ย. นี้

เป็นที่คาดหมายกันว่า ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2548 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 3.00% มาเป็น 3.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นรอบที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากที่เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% มาอย่างต่อเนื่องในการประชุม 8 รอบก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความสำคัญของการประชุมในรอบนี้ คงจะไม่ได้อยู่ที่ผลการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพียงลำพัง แต่คงจะขึ้นอยู่กับแถลงการณ์ภายหลังการประชุมซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปของเฟด หลังจากที่ตลาดเริ่มคาดคะเนว่าวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจมีแนวโน้มชะลอลงหรือเข้าใกล้จุดสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่สนับสนุนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. พร้อมผลกระทบต่อภาคการเงินไทย ไว้ดังต่อไปนี้ :-

– ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯยังสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด

• แม้สัญญาณการชะลอลงของภาคการผลิตสหรัฐฯจะเริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้น แต่ภาคการบริการของสหรัฐฯยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จากเครื่องชี้กิจกรรมในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (ซึ่งไม่นับรวมรายการพิเศษ ได้แก่ คำสั่งซื้อเครื่องบิน) ในเดือน พ.ค. ที่หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และดัชนีภาคการผลิต (Institution for Supply Management-ISM Manufacturing Index) ในเดือน พ.ค. ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน มายืนเหนือระดับ 50 เพียงเล็กน้อยที่ 51.4 ได้สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอลงที่เด่นชัดมากขึ้นของกิจกรรมในภาคการผลิตของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากิจกรรมในภาคการบริการ ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯแล้ว จะพบว่า การขยายตัวของภาคการบริการสหรัฐฯยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีภาคการบริการ (ISM Services Index) ในเดือน พ.ค. ที่แม้จะลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ดัชนีก็ยืนใกล้ระดับ 60 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง มาเป็นเวลานานแล้ว

• การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงดำเนินไป แม้ผู้บริโภคจะถูกกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกและทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ สำหรับทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้ทางด้านผู้บริโภคนั้น แม้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯจะถูกกระทบจากปัจจัยทั้งราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนได้จาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนและ The Conference Board ได้มีทิศทางที่ถดถอยลงมาตามลำดับ แต่ตัวเลขในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง ก็สะท้อนถึงการใช้จ่ายในภาค อสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ยังคงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

• จีดีพีและตลาดแรงงานสหรัฐฯยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะไม่ร้อนแรงมากเท่าที่คาดหวัง อัตราการขยายตัวของจีดีพี (เบื้องต้น) ในไตรมาส 1/2548 ได้รับการทบทวนใหม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.1% (q-o-q annualized) มาเป็น 3.5% ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3.8% แต่ก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงระดับศักยภาพของสหรัฐฯ ด้านตลาดแรงงานนั้น แม้การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 7.8 หมื่นตำแหน่งในเดือน พ.ค. แต่เมื่อพิจารณาขนาดการเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่มีค่าเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1.80 แสนตำแหน่ง ใกล้เคียงกับ 1.83 แสนตำแหน่งต่อเดือนในปี 2547 ก็บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯกำลังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าอาจไม่ร้อนแรงมากเท่าที่คาด

จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งแม้ว่าอาจไม่ได้แสดงถึงความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ถึงความเชื่องช้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง น่าที่จะสามารถรองรับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดได้ในระยะต่อไป

– แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯยังอยู่ภายในระดับที่จัดการได้

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงในเดือน พ.ค. จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งทางด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคของสหรัฐฯปรับลดลงมาจากเดือน เม.ย. แต่ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (NYMEX) ส่งมอบเดือน ส.ค. ที่พุ่งขึ้นมายืนเหนือระดับ 60 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. และยังมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูงโดยเฉพาะในยามที่สหรัฐฯอาจต้องเริ่มสะสมสต็อกน้ำมันก่อนย่างเข้าสู่ฤดูหนาวนั้น ก็คาดว่าอาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นได้ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคาดว่าจะเป็นผลมาจากการเติบโตของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยในไตรมาส 1/2548 ค่าจ้างแรงงานต่อหน่วย (Unit labor costs) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 4.3% (y-o-y) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543

กระนั้นก็ดี เมื่อพิจารณาการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวของสหรัฐฯผ่านการปรับตัวของทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ยังมีระดับค่อนข้างต่ำ ก็อาจกล่าวได้ว่า ตลาดยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อไม่มากนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ท่ามกล่างภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังคงอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้ ในขณะที่ การขยายตัวของเศรษฐกิจยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีความสมเหตุสมผลและเป็นผลดีต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

– อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า ปรับตัวรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดไปแล้วล่วงหน้า
ตลาดได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. นี้แล้วด้วยระดับความเป็นไปได้ 100% โดยที่ความสำคัญของการประชุมในรอบนี้คงจะอยู่ที่แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟด ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในระยะต่อไป โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดเริ่มวิตกมากขึ้นต่อความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม ทั้งนี้ นอกเหนือจากแถลงการณ์หลังการประชุมแล้ว การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในระยะข้างหน้า ทั้งการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะมีส่วนอย่างมากในการกำหนดแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Funds Futures ก็ได้ปรับตัวรับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% ในการประชุมอย่างน้อยอีก 1 หรือ 2 รอบในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.50-3.75% ณ ปลายปี 2548

ผลกระทบต่อภาคการเงินไทย

– อัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย
ในกรณีที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. นี้ตามคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นเรื่องค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯที่จะเพิ่มขึ้น อาจมีน้ำหนักมากขึ้นสำหรับการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลในปีนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง การทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการขยับขึ้นของราคาสินค้าทั่วไป คงจะยังเป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่เหลือของปี และคงจะทำให้วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีแนวโน้มต้องเดินหน้าต่อไปในระยะข้างหน้า

– ค่าเงินบาท
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีความสดใสมากกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ อาจจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินดอลลาร์ฯปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ ความกังวลต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย รวมทั้งข่าวความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (ซึ่งธปท.มีกำหนดจะออกรายงานเงินเฟ้อในช่วงปลายเดือน ก.ค.) อาจเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์ฯอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ในระยะข้างหน้า จากการคาดการณ์ว่าวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯอาจจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ ในขณะที่ เงินบาทก็อาจได้รับแรงสนับสนุนหากภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 1/2548