สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับ ยูคอม – ดีแทค ส่งมอบบ้านพักถาวรให้กับผู้ประสบธรณีพิบัติภัย

13 กรกฎาคม 2548 – เมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (ยูคอม) และ ผู้อำนวยการโครงการบูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งอันดามัน นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกองบัญชาการทหารสูงสุด ทำพิธีมอบบ้านพักถาวรขนาด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดตัวบ้าน 32 ตารางเมตร บนเนื้อที่ดิน 35 ตารางวา จำนวน 80 หลัง รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้น 16 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 4 ไร่ รวมพื้นที่ในโครงการทั้งสิ้น 20 ไร่ ให้กับผู้ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิจำนวนกว่า 300 คน ที่บ้านบางขยะ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับความทุกข์ยากเดือนร้อน ไร้ที่อยู่อาศัย และบางส่วนก็ไม่สามารถกลับพื้นที่เดิมได้เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยโครงการเป็นงานฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิแบบบูรณาการครบวงจร ด้วยการสร้างบ้านถาวร ช่วยฝึกอบรมอาชีพ และพัฒนาการด้านสังคม

โครงการดังกล่าวได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับการก่อสร้างจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10 ล้านบาท ยูคอม และ ดีแทค จำนวน 10 ล้านบาท ก่อสร้างโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุดและจากความร่วมมือในการสื่อสารจากสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน FM96.0 MHz เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และส่งมอบโครงการในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 พร้อมมอบสิ่งของและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ข้าวสาร แท้งค์น้ำ อุปกรณ์กีฬาและเครื่องมือเพื่อการศึกษาที่ได้รับจากการบริจาคของประชาชนทั่วไปรวมทั้งจากพนักงานยูคอมและดีแทค ซึ่งในวันจัดงานประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกับผู้ดำเนินโครงการด้วยการแสดงพื้นบ้านและมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกันอีกด้วย

นอกเหนือจากการสร้างบ้านถาวรแล้ว งานที่ยังจะต้องสานต่อคือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในโครงการที่จำเป็น เช่น ศาลาประชาคม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถนนลาดยาง ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสียไฟฟ้า สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น

โครงการบูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งอันดามัน ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ขั้นที่สามขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นธงนำในการดำเนินการ ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และหวังที่จะให้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ผู้ที่ดำเนินโครงการเป็นการช่วยด้วยความจริงใจ และจากความร่วมมือของชาวบ้าน เพื่อช่วยกันสร้างชีวิตใหม่ในหนทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสุขและยั่งยืนต่อไป.

ข้อมูลเพิ่มเติม
ดีแทค หรือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ ยูคอม หรือ บมจ. ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ถือเป็นองค์กรแรก ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยนับตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ดีแทคและสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน ได้ประสานกับองค์กรต่าง ๆ อีก 30 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา) ยามยาก มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด เครือซีเมนต์ไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ไทยทีวีสีช่อง 3 และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นต้น จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งอันดามัน” ขึ้น เพื่อร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยได้ตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือทั้ง 6 จังหวัดที่ประสบภัย คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งเมื่อทำการช่วยเหลือประชาชนจนบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่งแล้ว ได้ย้ายมาตั้งศูนย์ถาวรที่จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดและประชาชนยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก จนปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวยังคงปฏิบัติการอยู่

การช่วยเหลือประชาชนในระยะเวลาที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย การช่วยแก้ไขปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันอย่างทันท่วงที การส่งพนักงานไปเป็นล่ามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การมอบถุงยังชีพ โลงศพ ผ้าห่อศพ ข้าวสาร อาหารแห้ง การตั้งโรงทาน การส่งอาสาสมัครไปร่วมทำการเก็บศพ การสร้างบ้านชั่วคราวแบบน็อคดาวน์ การตั้งหอเตือนภัย และการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันที่จังหวัดพังงา เป็นต้น

ต่อมาได้มีการสำรวจหมู่บ้านที่ประสบภัยเพื่อทำการช่วยเหลือระยะยาวในรูปแบบบูรณาการ กล่าวคือจะมีการช่วยสร้างบ้านถาวร การพัฒนาอาชีพ และสนับสนุนการสร้างสังคมของชาวบ้านที่จะมาอาศัยอยู่ร่วมกันขึ้นใหม่ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงหลักการที่ต้องมีความปลอดภัย วิถีชีวิต การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ของดีแทคได้ทำการสำรวจในทุกพื้นที่ที่ประสบภัยในจังหวัดพังงา สรุปผลได้ว่า พื้นที่หมู่ 2 บ้านบางขยะ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีความพร้อมที่จะจัดทำการช่วยเหลือแบบบูรณาการ จึงได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกองบัญชาการทหารสูงสุด ทำการก่อสร้างบ้านจำนวน 80 หลังตามที่ทาง อบต. คึกคัก ได้เสนอขอความช่วยเหลือมา โดยใช้งบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้ฝึกอบรมอาชีพและช่วยพัฒนาทางสังคมให้แก่ชาวบ้านที่ต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมอีกด้วย

รูปแบบกิจกรรมที่จะทำการช่วยเหลือแก่ประชาชนในแบบบูรณาการ
1. การฝึกอบรมอาชีพเพื่อให้สามารถประกอบเป็นอาชีพได้
2. การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เช่น การอบรมวิชาการโรงแรมเบื้องต้น โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ทำการอบรมในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ที่จะสมัครเข้าไปทำงานในโรงแรม รีสอร์ต ได้รับการคัดเลือก และทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น เนื่องจากได้รับการฝึกมาแล้วจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
3. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์บริการ เพื่อเชื่อมโยงกับสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับชาวนาในภาคอีสานในการรับซื้อข้าวมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคายุติธรรม สหกรณ์ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้จะได้เป็นตัวแทนในการขายข้าวในราคาถูกให้แก่ชาวพังงา และต่อไปก็จะจัดให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าร่วมกัน ระหว่างชาวอีสานกับชาวบางขยะ เป็นต้น
4. สนับสนุนให้มีร้านค้าชุมชนในหมู่บ้านนี้ ซึ่งแต่ละคนจะลงทุนร่วมกัน ทุกคนจะช่วยกันซื้อสินค้า แล้วนำผลกำไรกลับคืนสู่แต่ละคนที่ถือหุ้น โดยทางโครงการจะช่วยเหลือในการฝึกอบรมการบริหารจัดการ การขาย การจัดหาสินค้าในราคาถูก สำหรับสินค้าที่จะจำหน่ายในร้าน เช่น สินค้าที่ชุมชนผลิตขึ้นเอง สินค้าอุปโภค บริโภค โทรศัพท์มือถือ ข้าวสาร ฯลฯ
5. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์ เพื่อให้ทุกคนรู้จักการออม และกู้เงินในดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ และทำประโยชน์อื่นๆ
6. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารขยะ โดยการรับซื้อขยะที่สามารถนำไปแปรรูปได้ แล้วนำไปจำหน่ายต่อ ซึ่งมีหน่วยงานมารับซื้อ
7. จัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน สาขาจังหวัดพังงา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ และเผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมของหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในวิทยุส่วนหนึ่งจะมาจากพี่น้องในหมู่บ้านนี้ด้วย
8. ทำการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน เพื่อเป็นที่ศึกษา หาความรู้ ของประชาชนในหมู่บ้าน
9. ตั้งศูนย์บริการสาธารณสุข
10. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญยิ่งขึ้น
11. ส่งเสริมให้มีการศึกษา ดูงาน กิจกรรมของชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ เพื่อให้ชุนชนได้นำแบบอย่างที่ดีมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป