เมกะโปรเจ็กต์:เศรษฐกิจโตขึ้น เสถียรภาพยากขึ้น

การลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท จะมีผลทำให้เศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้าเติบโตสูงกว่าในกรณีที่ไม่มีการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ประมาณร้อยละ 1 แต่จะมีผลทำให้การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้ายากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลสูงขึ้นตามลำดับจากปี 2549 เป็นต้นไปจนถึงระดับประมาณ 5-6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5-6 ของ GDP ในปี 2552

จากการคำนวณของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรากฎว่า หากรัฐบาลใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.7 ล้านล้านบาทในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระหว่างปี 2548-2552 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.4 ต่อปีในระยะ 5 ปีข้างหน้า สูงกว่ากรณีที่ไม่ลงทุนประมาณร้อยละ 1 ต่อปี

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยยังคงพึ่งพาการนำเข้าตามโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ลดลงจากระดับปัจจุบัน การลงทุนจำนวน 1.7 ล้านล้านบาทในระยะ 5 ปีดังกล่าวจะส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวในอัตราสูง

การศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 บาทจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 35 บาท ดังนั้นการลงทุนตามแผนงานเมกะโปรเจ็กต์ 1.7 ล้านล้านบาท จึงมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ ประมาณว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุลในระดับประมาณร้อยละ 3 ในปี 2549 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับร้อยละ 5-6 ของ GDP ในปี 2552 นอกจากนั้น หากสัดส่วนการนำเข้าของการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์สูงกว่าร้อยละ 35 การนำเข้าจะสูงขึ้นกว่าที่ประมาณไว้และทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ด้วย

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงดังกล่าวจะมีผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินทุนจากภายนอกประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลซึ่งทำได้โดยการกู้ยืมจากต่างประเทศโดยตรงของภาครัฐ หรือการกู้ยืมจากต่างประเทศโดยภาคเอกชน แต่หากไม่มีการกู้เงินจากต่างประเทศทั้งจำนวนที่ต้องนำเข้าตามโครงการ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การชดเชยการขาดดุลส่วนที่เหลือจะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงและ/หรือต้องพึ่งการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ

ในกรณีของการพึ่งเงินทุนไหลเข้านั้นเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามีความไม่แน่นอนสูง และมีผลกดดันทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้นเพื่อจูงใจให้เงินไหลเข้าพร้อมกับมีผลทำให้การบริหารเสถียรภาพค่าเงินบาทเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่การส่งออกของประเทศต้องชะลอตัวลงจากเหตุการณ์ภายนอก เช่น การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ดังนั้น จึงควรพิจารณากำหนดลำดับความสำคัญของแผนการลงทุนตามโครงการเมกะโปรเจ็กต์ไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อให้สามารถตัดทอนลงได้ก่อนที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

สำหรับการตัดทอนแผนงานที่มีประสิทธิภาพนั้นควรทำโดยวิธีเลื่อนออกไปทั้งโครงการ เนื่องจากการเริ่มโครงการไปก่อนแล้วจำเป็นจะต้องหยุดหรือชะลอลงในภายหลังจะมีผลทำให้การลงทุนนั้นเสียเปล่าหรือขาดประสิทธิภาพ

ในส่วนเงินลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เป็นเงินบาท ความต้องการเงินทุนดังกล่าวจะมีผลทำให้สภาพคล่องภายในประเทศลดลง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงและเร็วขึ้นกว่ากรณีที่ไม่มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ สำหรับประเด็นนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะมีการเตรียมการอย่างระมัดระวังไว้ล่วงหน้า เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นรวดเร็วจนถึงระดับหนึ่ง อาจมีผลกระทบทำให้อัตราความเจริญเติบโตไม่เร่งตัวขึ้นร้อยละ 1 ตามที่ได้ประมาณการไว้ข้างต้นก็เป็นได้