ฟิลิปส์เปิดตัวโครงการ “เยาวชนยอดนักประดิษฐ์ฟิลิปส์” ครั้งที่ 5

บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวโครงการ เยาวชนยอดนักประดิษฐ์ฟิลิปส์ ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2548 ในโครงการ “Philips Young Inventors Challenge 2005” เชิญชวนเยาวชนอายุระหว่าง 18-25 ปี นำความรู้มาพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยเซมิคอนดักเตอร์ของฟิลิปส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์และนำมาใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเยาวชนไทยและวงการธุรกิจอุตสาหกรรมต่อไป อีกทั้งเป็นการนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกที่ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกว่า 53 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จึงได้จัดให้มีการประกวดนี้ขึ้นทั่วประเทศ โดยมีแนวคิดหลัก คือ การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ของฟิลิปส์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ มาใช้เป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและเติมเต็มให้แก่ชีวิต โดยจะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือช่วยประหยัดพลังงานด้วย

มร. ยาน เอ็กเกอร์บีน ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟิลิปส์ตระหนักดีว่าในสังคมยุคดิจิตอลอย่างปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อการสื่อสาร รวมทั้งข้อมูลและความบันเทิงได้สะดวกรวดเร็วนั้น องค์ประกอบสำคัญซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานล้วนประกอบไปด้วย เซมิคอนดักเตอร์หลากหลายชนิดแตกต่างกันไปตามประเภทของอุปกรณ์ โดยเฉพาะไมโครคอนโทรลเลอร์ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด เช่นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ อุปกรณ์ประหยัดพลังงานน้ำ-ไฟฟ้า อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ หุ่นยนต์ รีโมตคอนโทรล ฯลฯ

ไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นอุปกรณ์ประเภทสารกึ่งตัวนำที่รวบรวมฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ไว้ภายในตัวเอง ภายในประกอบด้วยหน่วยรับข้อมูลและโปรแกรม หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ หน่วยแสดงผล ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง ทำให้มีขนาดเล็ก และสามารถเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับตัวได้และง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้งาน

มร.เอ็กเกอร์บีน กล่าวต่อไปอีกว่า ฟิลิปส์ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำด้านการพัฒนาและผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก และมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเสนอโซลูชั่นที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์สำหรับการใช้งานด้านต่างๆ ทั้งด้านการสื่อสาร การเชื่อมต่อกันของผู้บริโภค และการพัฒนาอุปกรณ์ดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่แล้วให้สูงยิ่งขึ้นไป และเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทางด้านเทคโนโลยีในอนาคต

โครงการเยาวชนยอดนักประดิษฐ์ฟิลิปส์ จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างทัศนคติที่ดีของเยาวชนต่อองค์ความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งโครงการด้านการศึกษาที่ฟิลิปส์ได้เข้ามาดำเนินการ

บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระดับ อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาหรืออายุระหว่าง 18-25 ปี จากทุกภูมิภาคร่วมประกวดโดยจัดเป็นทีมๆละไม่เกิน 4 คน นำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีไอซีไมโครคอนโทรลเลอร์ของฟิลิปส์เป็นส่วนประกอบ โดยทีมผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกไอซีไมโครคอนโทรลเลอร์ 8 บิท ตระกูล LPC9XX ของฟิลิปส์ จากเวปไซต์ฟิลิปส์ได้ที่ www.semiconductors.philips.com

โดยส่งโครงร่างโครงงานเป็นรูปเล่ม จำนวน 2 ฉบับ ภายในวันที่ 12 กันยายน 2548 เพื่อทำการพิจารณาคัดเลือกโครงร่างโครงงานจำนวน 12 โครงงาน โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับบอร์ดทดลองพร้อมไอซีไมโครคอนโทรลเลอร์ฟิลิปส์ ได้รับเชิญเยี่ยมชมโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ฟิลิปส์ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นโรงงานระดับโลกที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และรับทุนสนับสนุนการสร้างสิ่งประดิษฐ์โครงการละ 10,000 บาท ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2548 เพื่อนำไปพัฒนาสร้างสิ่งประดิษฐ์มาประกวดรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 31 มกราคม 2549 ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร

ผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาพร้อมโล่ห์เกียรติยศและเกียรติบัตร รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท โดยรางวัลประกอบไปด้วย รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 15,000 บาท

สำหรับคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-8318400 ต่อ 4834, 4832 และส่งผลงานได้ที่ บริษัท รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด เลขที่ 932 ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800 วงเล็บมุมซอง “โครงการ PHILIPS YOUNG INVENTORS CHALLENGE 2005”