ธุรกิจสิ่งพิมพ์ครึ่งหลังปี’48 : ตลาดในแผ่ว…ตลาดนอกพุ่ง

จากรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในตลาดหลักทรัพย์ช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ซึ่งสอดคล้องกับรายได้จากค่าโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2548 ยังคงสามารประคองตัวภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แต่สำหรับสถานการณ์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีหลังนั้นตลาดในประเทศไม่สดใสนัก แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์ของประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศที่ชะลอตัว

ยกเว้นธุรกิจสิ่งพิมพ์ในภาคส่งออกที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก อันเป็นผลจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่ไทยมีการรับจ้างพิมพ์งานสิ่งพิมพ์รายใหญ่ของไทยยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ในขณะเดียวกันจากการที่ภาครัฐและผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ของไทยได้มีการเร่งขยายตลาดการรับจ้างพิมพ์งานออกไปจากตลาดดั้งเดิม ไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพอื่นๆอย่างต่อเนื่องก็ช่วยให้ตลาดรับจ้างพิมพ์งานเพื่อการส่งออกของธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบถึงกำลังซื้อของประชาชนในระดับรากหญ้า ในขณะเดียวกันต้นทุนกระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาโดยราคากระดาษพิมพ์เขียนในช่วง 6 เดือนแรกได้มีการปรับขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 33,450 บาทต่อตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2548 ก็ยังคงสามารถประคองตัวฝ่าวิกฤตได้พอสมควรดังจะพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ซึ่งมีกำไร 527.1 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันปี 2547 ที่มีกำไร 491 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงประคองตัวภายใต้สถานการณ์หลายประการที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ของไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยการปรับการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพทำให้ช่วยลดต้นทุนดำเนินการลงได้ค่อนข้างมาก สำหรับในส่วนของรายได้นั้นผลจากการที่ภาครัฐของไทยมีการเร่งกระจายงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาพืชผลการเกษตรที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นก็ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดได้มาก

ในขณะเดียวกันธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยหนุนทางด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ของผู้สมัครและพรรคการเมืองทั้งในส่วนของสิ่งพิมพ์ประเภทใบปลิวและป้ายโฆษณารวมทั้งสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ซึ่งถือเป็นช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคการเมืองในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวได้ระดับหนึ่ง งบโฆษณาที่ธุรกิจต่างๆใช้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 มีเม็ดเงินโฆษณาผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสิ้น 11,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 6.3 โดยงบโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์มีทั้งสิ้น 8,851 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ส่วนงบโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารมีทั้งสิ้น 3,145 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1

ประการสำคัญจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยทั้งตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปยังคงเดินหน้าฝ่าวิกฤติการณ์น้ำมันได้อย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของไทยยังคงมีการรับจ้างพิมพ์งานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ของไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2548 ที่มีทั้งสิ้น 58.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปซึ่งถือเป็นตลาดรับจ้างพิมพ์งานรายใหญ่อันดับ1และ2 ของไทยมีอัตราการขยายตัวทางด้านการส่งออกสิ่งพิมพ์สูงถึงร้อยละ 9.4 และร้อยละ 41.8 ตามลำดับ

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2548 นี้คาดว่าตลาดสิ่งพิมพ์ในประเทศมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าหลายฝ่ายทั้งภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนจะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2548 จะปรับตัวดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับผลดีจากทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวในอัตราสูงกว่าในช่วง ครึ่งปีแรก ซึ่งจะส่งผลดีต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ แต่จากการที่เศรษฐกิจไทยยังคงมีความอ่อนไหวและเปราะบางอยู่หลายจุดไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาทางด้านอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆและกดดันให้มีการชะลอการบริโภคหรือการลงทุนลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆอาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ปฏิทิน ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ในขณะเดียวกัน ผลจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆมีแนวโน้มที่จะชะลอการใช้เม็ดเงินโฆษณาของบริษัทลงเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้กระทบต่อรายได้ค่าโฆษณาของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีหลัง

2. ปัจจัยเสี่ยงจากการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิต ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับอุปสรรคทางด้านต้นทุนการผลิตที่มีการปรับขึ้น อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบประเภทกระดาษมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมัน ในขณะเดียวกันต้นทุนค่าขนส่งก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากภาครัฐตัดสินใจลอยตัวราคา น้ำมันดีเซลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา และรวมไปถึงต้นทุนอื่นๆ อาทิ ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแต่การปรับราคาจำหน่ายสิ่งพิมพ์รวมทั้งอัตราค่าโฆษณาของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ในภาวะที่กำลังซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจชะลอตัวลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยลบกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งปีหลังได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะตลาดภายในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังที่ไม่เอื้ออำนวย แต่สำหรับตลาดการรับจ้างพิมพ์งานจากต่างประเทศกลับมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสิ่งพิมพ์สำคัญของไทย ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์สูง แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาต้นทุนการผลิต สิ่งพิมพ์ในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากทำให้งานสิ่งพิมพ์ในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีการเคลื่อนย้ายการผลิตงานสิ่งพิมพ์มายังต่างประเทศมากขึ้น โดยคู่แข่งของไทยในตลาดการรับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ในตลาดเหล่านี้ที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ไทยจะมีความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและทักษะแรงงานด้านสิ่งพิมพ์ที่ชำนาญเมื่อเทียบกับจีนและอินเดีย

ในขณะเดียวกันสิ่งพิมพ์ไทยก็มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งผลให้ไทยมีการขยายตัวทางด้านการส่งออกสิ่งพิมพ์ยังเกิดจากการที่ภาครัฐและผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ของไทยได้มีการขยายตลาดงานพิมพ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการรับจ้างพิมพ์งานจากตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ขยายออกไปสู่ตลาดใหม่ๆอาทิ ตลาดประเทศในกลุ่มอินโดจีน ตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งตลาดที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันอาทิ ออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าในปี 2548 ไทยจะสามารถส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นการรับจ้างพิมพ์จากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 55

กล่าวโดยสรุปแล้ว ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2548 แม้ว่าตลาดในประเทศจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของไทยยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดการรับจ้างพิมพ์งานต่างประเทศซึ่งยังคงมีการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะราคาน้ำมันที่จะไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจากปัจจุบันมากนักซึ่งถ้าราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมากภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังก็อาจจะชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์ของประเทศต่างๆได้

ฉะนั้นมาตรการที่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ต้องเร่งกระทำนั่นคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ โดยในส่วนของผู้ประกอบการโรงพิมพ์นั้นควรมีการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยเพื่อให้แข่งขันได้ทั้งจากคู่แข่งในและต่างประเทศ ในขณะที่สำนักพิมพ์ต่างๆก็ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตหนังสือ นิตยสาร วารสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์สามารถฝ่าวิกฤตในช่วงที่ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากขึ้นได้