อัญมณีและเครื่องประดับครึ่งหลังปี’48 : การนำเข้าทองคำยังสูง…ส่งผลขาดดุลต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงโดยเฉพาะการผลิตเครื่องประดับ การเจียระไนพลอย และการเผาพลอย ขณะเดียวกันประเทศไทยยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเจียระไนอัญมณีที่สำคัญของโลกอีกด้วย

ซึ่งตามรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรพบว่ามูลค่าการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 มีมูลค่า 141,947.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 108,742.4 ล้านบาทในช่วงเดียวกันในปี 2547 คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.54 โดยเป็นมูลค่าการนำเข้า 84,745.9 ล้านบาท และเป็นมูลค่าการส่งออก 57,201.6 ล้านบาท คิดเป็นภาวะขาดดุล 27,544.3 ล้านบาท

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสถานะการณ์การค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยรวมน่าจะยังคงสภาพขาดดุลการค้า โดยคาดว่าภาพรวมของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12

ศักยภาพอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลก

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการแข่งขันของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยน่าจะสามารถรักษาสถานภาพการแข่งขันไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2547 เนื่องจากความต้องการสินค้าประเภทนี้ในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งสถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของโลกในปี 2547 ตามรายงานของ Global Trade Atlas ล่าสุดมีมูลค่าทั้งสิ้น 145,366.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีมูลค่า 2,634.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 และครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 15 ของโลกด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.81 โดยประเภทสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเทอมดอลลาร์ ได้แก่ อัญมณีสังเคราะห์(เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.92) เครื่องประดับเทียม(เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.41) เพชร(เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.22) พลอย(เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.94) เครื่องประดับแท้(เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.62) ส่วนประเภทสินค้าที่มีอัตราการเติบโตลดลงได้แก่ไข่มุก(ลดลงร้อยละ 12.91) ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (ลดลงร้อยละ 64.07)

โดยทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 2.15 ในปี 2545 และสัดส่วนร้อยละ 2.17 ในปี 2546 โดยผู้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของโลกอันดับหนึ่งในปี 2547 คือสหรัฐอเมริกาในสัดส่วนร้อยละ 12.44 ตามมาด้วยเบลเยี่ยม(สัดส่วนร้อยละ 10.81) สหราชอาณาจักร(สัดส่วนร้อยละ 9.66) ฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 9.75) และอินเดีย(สัดส่วนร้อยละ 8.74) ซึ่งหากพิจารณาแยกรายประเภทสินค้าพบว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยหลายรายการมีบทบาทติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศแรกในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นพลอย(ไทยครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 10.7) เครื่องประดับแท้(ไทยติดอันดับ 8 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.9 โดยเครื่องประดับเงินของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในตลาดโลกด้วยสัดส่วนร้อยละ 19.13) อัญมณีสังเคราะห์(ไทยติดอันดับ 8 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.44) และเพชร(ไทยติดอันดับ 9 ด้วยสัดส่วนร้อยละ1.25) ส่วนเครื่องประดับเทียม(ไทยติดอันดับ 11 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.19) โดยทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2547 ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยแต่ละประเภทต่างมีสัดส่วนลดลง ยกเว้นส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเพชร และอัญมณีสังเคราะห์ที่พบว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

ในการพิจาณาถึงความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ โดยวัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) ที่มีเกณฑ์กำหนดว่าถ้าค่า RCA ของประเทศใดมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้านั้นๆ ในตลาดหนึ่ง (ซึ่งในที่นี้สินค้าคืออัญมณีและเครื่องประดับและตลาดคือตลาดโลก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าค่า RCA มากกว่า 2 แสดงว่าประเทศนั้นมีความได้เปรียบหรือมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับค่อนข้างดี และถ้าค่า RCA มากกว่า 10 ก็แสดงว่าประเทศนั้นมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นไปอีก ซึ่งข้อมูลการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของตลาดโลกที่นำมาศึกษาได้นำมาจากฐานข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าโดยภาพรวมของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2547 ยังมีศักยภาพในการแข่งขันโดยมีค่า RCA เท่ากับ 1.56 ซึ่งหากแยกรายประเภทสินค้าพบว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้แก่พลอยที่ไทยมีค่า RCA เท่ากับ 9.23 เครื่องประดับแท้(ค่า RCA เท่ากับ 4.22) อัญมณีสังเคราะห์ (ค่า RCA เท่ากับ 2.97) เครื่องประดับเทียม(ค่า RCA เท่ากับ 2.75 ) เพชร (RCA เท่ากับ 1.08 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่การส่งออกเพชรของไทยมีค่า RCA มากกว่า 1)

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลก

สินค้า ส่วนแบ่งตลาด(ร้อยละ) RCA
2545 2546 2547 2545 2546 2547
เพชร 0.91 1.14 1.25 0.79 0.98 1.08
พลอย 13.21 11.51 10.70 11.50 10.05 9.23
ไข่มุก 0.30 1.24 0.90 0.26 1.07 0.78
อัญมณีสังเคราะห์ 3.20 2.78 3.44 2.78 2.40 2.97
ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป 1.11 1.35 0.41 0.97 1.17 0.36
เครื่องประดับแท้ 5.08 5.21 4.90 4.42 4.50 4.22
เครื่องประดับเทียม 3.41 3.42 3.19 2.97 2.95 2.75
โดยรวม(HS 71) 2.15 2.17 1.81 1.87 1.88 1.56
ที่มา Global Trade Atlas รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ : เพชร(HS7102.31 และ HS7102.39) พลอย(HS7103) ไข่มุก(HS7101) อัญมณีสังเคราะห์(HS7104)
ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป(HS 7108) เครื่องประดับแท้(HS7113) เครื่องประดับเทียม(HS7117)

ครึ่งแรกปี 2548 : อัญมณีและเครื่องประดับไทยประสบภาวะขาดดุลการค้า

ถึงแม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยภาพรวมในปี 2548 จะยังมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 พบว่าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดดุลการค้าต่อเนื่องจากปี 2547 ทั้งที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มนี้ของไทยส่วนใหญ่มีภาวะการค้าที่เกินดุล โดยจากรายงานของกรมศุลกากรพบว่าในปี 2541 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยเกินดุลคิดเป็นมูลค่า 38,385.1 ล้านบาท ขณะที่ใน 2547 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยขาดดุล 13,609.1 ล้านบาท และในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยก็ขาดดุลต่อเนื่องคิดเป็นมูลค่า 27,544.3 ล้านบาท โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 17.73 ด้วยมูลค่าการส่งออก 57,201.6 ล้านบาท ส่วนอัตราการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 40.88 ด้วยมูลค่า 84,745.9 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นพบว่ามูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการส่งออกกว่าเท่าตัว

โดยประเภทของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่มีการขาดดุลการค้ามากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 คือทองคำที่ไม่ได้ขึ้นรูปที่ขาดดุลคิดเป็นมูลค่า 39,281.6 ล้านบาท (โดยเป็นการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 42,645.3 ล้านบาท และเป็นการส่งออกมูลค่า 3,363.7 ล้านบาท ) ตามมาด้วยเพชรซึ่งขาดดุลคิดเป็นมูลค่า 10,116.8 ล้านบาท (มูลค่าการนำเข้า 26,203.5 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 16,086.7 ล้านบาท ) และเงินที่ขาดดุลมูลค่า 5,852.3 ล้านบาท(โดยนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 6,252.2 ล้านบาท และเป็นการส่งออกมูลค่า 399.9 ล้านบาท ) ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยเกินดุลการค้าประกอบด้วยเครื่องประดับแท้(เกินดุล 25,290.8 ล้านบาท) เครื่องประดับเทียม(เกินดุล 1,809.2 ล้านบาท) พลอย(เกินดุล 1,710.9 ล้านบาท) เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ามักเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ ขณะที่สินค้าที่ไทยเกินดุลการค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่มีการนำวัตถุดิบนำเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสินค้าเครื่องประดับทั้งแท้และเทียม ส่วนพลอยที่เกินดุลนั้นสืบเนื่องจากการเจียระไนพลอยของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในฐานะที่มีฝีมือการเจียระไนได้สวยและมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาทางด้านภาวะการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 พบว่าไทยนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 84,745.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 60,155 ล้านบาทที่นำเข้าจากช่วงเดียวกันในปี 2547 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40.88 ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดคือทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50.32 ของมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม ตามมาด้วยเพชร(สัดส่วนร้อยละ 30.92) เงิน(สัดส่วนร้อยละ 7.38) เครื่องประดับแท้(สัดส่วนร้อยละ4.73) พลอย(สัดส่วนร้อยละ 3.13) และเมื่อพิจารณาถึงระดับอัตราการขยายตัวของการนำเข้าก็พบว่าทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปยังคงครองอันดับหนึ่งด้วยระดับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ตามมาด้วยเครื่องประดับแท้ (ขยายตัวร้อยละ 48.0 ) เงิน(ขยายตัวร้อยละ 21.38) เครื่องประดับเทียม(ขยายตัวร้อยละ 17.5 ) และเพชร (ขยายตัวร้อยละ 17.2) ตามลำดับ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอย หรือโลหะมีค่าอย่างทอง เงิน และแพลตินัม และต่างมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยทั้งนี้ภาวะการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมมักเป็นไปในทิศทางที่มูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้า แต่ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยกลับมากกว่ามูลค่าการส่งออกโดยเฉพาะในส่วนของทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปที่พบว่าไทยขาดดุลถึง 39,281.6 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2548 ประกอบกับทิศทางของราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่างต้องเร่งสั่งซื้อวัตดุดิบมาไว้เพิ่มมากขึ้นสำหรับการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป นอกจากนี้ผู้บริโภคหลายรายก็หันมาถือครองทองคำเพื่อการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแหล่งนำเข้าอัญมณีและะเครื่องประดับที่สำคัญ 5 อันดับแรกในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล และอินเดีย ตามลำดับ โดยประเภทสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียมากที่สุดคือทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 99.17 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยจากออสเตรเลีย ขณะที่ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์พบว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่คือทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปเช่นกัน ส่วนอิสราเอลและอินเดียพบว่าประเภทสินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเพชร โดยเพชรที่นำเข้าจากอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นเพชรก้อนที่ยังมิได้เจียระไน ขณะที่เพชรที่นำเข้าจากอินเดียนั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพชรที่เจียระไนแล้ว

ขณะที่ในด้านการส่งออกพบว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 มีมูลค่าทั้งสิ้น 57,201.6 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 โดยประเภทของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สามารถสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าสูงสุดคือเครื่องประดับแท้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.22 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเครื่องประดับทองมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 67.28 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีแท้โดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ตามมาด้วยเครื่องประดับเงิน(สัดส่วนร้อยละ 30.24) และเครื่องประดับแพลตินัม(สัดส่วนร้อยละ 2.2) ขณะที่มูลค่าการส่งออกเพชรมีสัดส่วนร้อยละ 28.12 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยรวมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพชรที่เจียระไนแล้ว ส่วนพลอย ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป และเครื่องประดับเทียมมีสัดส่วนร้อยละ 7.63 ร้อยละ 5.88 และร้อยละ 3.57 ตามลำดับ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดคือไข่มุก(เติบโตร้อยละ 157.32) ตามมาด้วยเครื่องประดับแท้(เติบโตร้อยละ 29.87) อัญมณีสังเคราะห์(เติบโตร้อยละ 18.86) และเพชร(เติบโตร้อยละ 13.04) ตามลำดับ ซึ่งตลาดหลักที่สำคัญยังคงเป็นตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(15ประเทศ) ตามมาด้วยอิสราเอล ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ครึ่งหลังปี2548 : การนำเข้ายังคงขยายตัวสูงกว่าการส่งออก

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสถานการณ์การค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยรวมน่าจะยังคงสภาพขาดดุลการค้า โดยคาดว่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 ขณะที่ภาพรวมของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้สถานการณ์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2548 เผชิญกับภาวะขาดดุลได้แก่

* สถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับจากคู่แข่งสำคัญของไทยทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าและความพร้อมของวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันบรรดาผู้นำตลาดเครื่องประดับแท้อย่างอิตาลี สหรัฐอเมริกา หรือฮ่องกงต่างก็ไม่หยุดนิ่งในการสร้างสรรค์ชิ้นงานนำแฟชั่นผ่านการจัดการตลาดที่มีประสิทธิภาพและขยายตัวสู่ตลาดโลกในวงกว้างมากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ทางด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

* แม้ว่าโครงการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆจะเป็นโอกาสที่ทำให้ปัญหาด้านการผลิตในส่วนของการขาดแคลนพลอยดิบบรรเทาลง แต่ขณะเดียวกันการที่ไทยลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ย่อมเปิดโอกาสให้สินค้าราคาถูกจากจีนและอินเดียเข้ามารุกขยายตลาดในไทยได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเครื่องประดับเทียม ทำให้โอกาสที่มูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับเทียมจะเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูง

* ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีความพร้อมในการทำงานซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญและความประณีตในชิ้นงานตามแบบ รวมถึงปัญหาการถูกซื้อตัวแรงงานฝีมือไทยโดยบรรดาคู่แข่งทั้งจีน มาเลเซีย และอินเดีย เป็นต้น อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงานฝีมือด้านการออกแบบค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยคืบหน้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไป

* ปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารอุตสาหกรรมทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดที่ยังไม่อย่างกว้างขวางเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มตลาดใหม่ๆอย่างประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป หรือกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก เป็นต้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการวางกลยุทธ์ทางการตลาดค่อนข้างมากอีกทั้งยังทำให้โอกาสในการบุกตลาดใหม่ๆไม่กว้างขวางเท่าที่ควรด้วย นอกจากนี้ยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบที่เป็นองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆในภาคธุรกิจ รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโลกภายใต้แบรนด์ไทย

* การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังเป็นไปไม่จริงจังและต่อเนื่องนัก ทำให้ยังคงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการด้านการผลิตพอสมควร

* ทิศทางของราคาทองคำที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่างต้องเร่งสั่งซื้อวัตดุดิบสำหรับการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปจึงยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคหลายรายก็หันมาถือครองทองคำเพื่อการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการนำเข้าทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปยังน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังปี 2548

* สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่า 60 ดอลลาห์ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งหลังปี 2548 น่าจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในต่างประเทศหลายประเทศพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามูลค่าการขาดดุลในช่วงครึ่งหลังปี 2548 น่าจะมีมูลค่าน้อยกว่าครึ่งแรกปี 2548 เนื่องจากภาครัฐมีความเข้มงวดมากขึ้นในการนำเข้าทองคำที่มีส่วนสำคัญค่อนข้างมากที่ทำให้ภาวะการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยภาพรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2548 ประสบภาวะขาดดุล โดยภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้นำเข้าทองคำไม่ให้มีการนำเข้าทองคำเกินเดือนละ 6-7 ตันในช่วงครึ่งหลังปี 2548 ประกอบกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญหลายประการที่กระตุ้นให้สถานการณ์ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดต่างประเทศสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2548 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อันได้แก่

* ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปยังคงพึงพอใจในฝีมือการเจียระไนเพชรและพลอยของช่างฝีมือไทย รวมถึงดีไซน์ของทั้งเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับเทียมที่มีการผลิตไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแฟชั่นและความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยสังเกตได้จากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 ไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.81 ร้อยละ 16.96 และร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ตามลำดับ

* ปัจจุบันโรงงานผลิตเครื่องประดับในไทยมีศักยภาพในการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานีที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการผลิตอัญมณีและเครี่องประดับประมาณ 50 บริษัทแล้ว อันประกอบด้วยโรงงานเจียระไนเพชร เจียระไนพลอย โรงงานผลิตเครื่องประดับทอง เครื่องประดับทองคำขาว และเครื่องประดับเงิน พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สำนักงานศุลกากร และบริษัทขนส่งสินค้าอัญมณี เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านิคมอุตสาหกรรมอัญธานีจะทวีบทบาทเพิ่มขึ้นตามลำดับสำหรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต

* โครงการการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย บาห์เรน จีน สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่พบว่าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นรายการหนึ่งที่ไทยกับประเทศดังกล่าวมีการเจรจาเพื่อลดภาษีระหว่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าไทยน่าจะมีแหล่งวัตถุดิบประเภทเพชรพลอยจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายฐานคู่ค้าเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วย

บทสรุป

แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2548 สถานการณ์การค้าของอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยภาพรวมจะมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องจากครึ่งแรกปี 2548 โดยสินค้าทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปจะยังคงเป็นสินค้าที่มีการขาดดุลการค้ามากที่สุดทั้งนี้เนื่องจากราคาทองคำยังคงทรงตัวในระดับสูง แต่หากพิจารณาภาวะการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมการส่งออกนำเข้าทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปในช่วงครึ่งหลังปี 2548 มีโอกาสเกินดุลการค้าได้ และน่าจะจะก้าวสู่การเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตด้วย แม้จะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดต่างประเทศท่ามกลางศักยภาพของประเทศคู่แข่งที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรเร่งหาโอกาสในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศหรือเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับตลาดมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสกิจการตนเองให้สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ฐานข้อมูลทั้งในส่วนผู้บริโภค ตัวแทนจำหน่าย คู่ค้า และแหล่งวัตถุดิบ(เพราะหากผู้ผลิตสามารถหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกกว่าได้ก็จะมีข้อได้เปรียบที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกได้ด้วย)

ขณะเดียวกันควรมีการปรับปรุงระบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการวางแผนผลิตภัณฑ์ด้วยการพยายามสร้างรูปแบบแปลกใหม่ สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสอดคล้องกับแฟชั่นหรือความต้องการสมัยนิยมให้มากขึ้น การวางตำแหน่งสินค้าให้ชัดเจน ควบคู่กับการวางแผนการตลาด และการบริหารต้นทุนที่ดีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการตั้งราคาที่ก่อให้เกิดกำไรที่มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ทั้งในด้านการผลิตและการตลาดในเชิงรับและรุกอย่างจริงจังน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยควรให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้นพร้อมทั้งยังสามารถรักษาและสร้างโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดโลกได้ด้วย

ขณะเดียวกันภาคเอกชนควรมีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับประเทศทั้งนี้เพื่อสรรหานโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม หรือการเร่งผลิตแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการออกแบบให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และการผลิตนักออกแบบให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูงทั้งคู่ค้าหลักรายเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป และคู่ค้ารายใหม่ๆที่น่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นตลาดอินเดีย และจีน หรือประเทศสมาชิกใหม่ของกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น