ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จัดเวิร์คช้อป นักเขียน-นักวาดการ์ตูน รุ่นเยาว์ โครงการ 2

ปราจีนบุรี 4 ตุลาคม 2548 — ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จับมือสามหน่วยงาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมการ์ตูนไทย สานต่อค่ายนักเขียน-นักวาดการ์ตูน รุ่นเยาว์โครงการ 2 เปิดรับเยาวชนที่ฝันอยากเป็นนักเขียนและนักวาดการ์ตูนเข้าทำเวิร์คช้อปกับนักเขียน-นักวาดการ์ตูนมืออาชีพในระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2548 ที่ธารณีรีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความเป็นของโครงการกล้าวรรณกรรม และโครงการ 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝันว่า “ในปี 2547 ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนศรีนครินทรวิโรฒ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัด‘ค่ายกล้าวรรณกรรม’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทยที่มีทักษะด้านการเขียนให้เป็นนักเขียนที่ดีมีคุณภาพต่อไปในอนาคต ทั้งนี้มีเยาวชนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 55 คน นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมการ์ตูนไทย จัด ‘ค่าย 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน’ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนที่มีทักษะทางการวาดการ์ตูน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดเตรียมต้นฉบับและการผลิตหนังสือการ์ตูน โดยมีเยาวชนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 66 คน”

นายก่อศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีนี้ ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการดังกล่าวสืบเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 โดยจัดค่ายกล้าวรรณกรรม และค่าย 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝันพร้อมกันระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2548 ณ ธารณีรีสอร์ท จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองค่ายสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายทางวิชาการจากนักเขียน นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่มุ่งเน้นการปลูกฝังแนวคิดด้านจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หรือ Public Mind ให้แก่เยาวชนทั้ง 2 โครงการ ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มีเยาวชนผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 155 คน จำแนกเป็น โครงการกล้าวรรณกรรม 78 คน และโครงการ 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน 77 คน

ด้าน ผศ. อำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะหนึ่งในแกนนำกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามุ่งเน้นปลูกฝังแนวคิดด้านจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หรือ Public Mind ให้แก่เยาวชนทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังละเลยเรื่องดังกล่าว โดยผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมขาดความรู้สึกหวงแหนและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสาธารณสมบัติต่างๆ พร้อมกันนี้ เรายังต้องการให้เยาวชนทั้ง 2 ค่ายได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และมีความเอื้ออาทรต่อกัน แม้จะมีความแตกต่างด้านศาสนา ภูมิลำเนา หรือแม้แต่ทางร่างกาย เนื่องจากโครงการนี้ เปิดโอกาสให้เยาวชนที่บกพร่องทางการได้ยินเข้าร่วมกิจกรรมถึง 7 คน”

“ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ได้รู้ว่ายังมีเยาวชนไทยรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ให้ความสนใจอาชีพนักเขียน เพราะการเขียนหนังสือนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาแล้ว ยังช่วยให้ผู้เขียนได้พัฒนาในหลายด้าน เช่น ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความละเอียดรอบคอบ และช่วยให้มีการจัดลำดับความคิดที่เป็นระบบมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเยาวชนที่ได้เข้าฝึกอบรบในครั้งนี้ สำหรับวิทยากรที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์และให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์งานเขียนให้กับเยาวชนค่ายกล้าวรรณกรรมรุ่นที่ 2 นี้ จะเป็นนักเขียนที่มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมาย อาทิ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี ไพรวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์จากผลงาน “ม้าก้านกล้วย” ประชาคม ลุนาชัย นักเขียนเรื่องสั้น-นวนิยายมือรางวัล จตุพล บุญพรัด นักเขียนและบรรณาธิการจากแพรวสำนักพิมพ์ พรชัย แสนยะมูล เจ้าของนามปากกา ‘กุดจี่’ นักเขียนและบรรณาธิการสำนัก-พิมพ์ไม้ยมก และหยก บูรพา เจ้าของผลงาน ‘อยู่กับก๋ง’ เป็นต้น” นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าว

“สมาคมการ์ตูนไทย ยังรู้สึกประทับใจกับการจัดค่ายการ์ตูนรุ่นที่หนึ่ง ‘ปฏิบัติการ 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน’ และโครงการพิเศษ ‘วัยใสหัวใจการ์ตูน รหัสหัวใจน้อยๆ ที่หมู่บ้านเด็ก’ ที่ทำให้เราพบว่าเยาวชนหลายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถน่าจะเป็นนักวาดการ์ตูนได้ หากได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เราจึงรู้สึกยินดีที่ ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จัดโครงการนี้ขึ้นอีกครั้ง การ์ตูนนิสต์หลายท่านจากสมาคมการ์ตูนไทย อาทิ สมชาย ปานประชา หัวหน้ากลุ่มเบญจรงค์เจ้าของผลงานการ์ตูน ‘อยู่กับก๋ง’ สุรพล พิทยาสกุล (พล ข่าวสด) เจ้าของผลงานการ์ตูน ‘หนูนากับป้าแจ่ม’ ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ เจ้าของผลงานการ์ตูน ‘เพชรฆาตสังเวียนเดือด’ มังกร สรพล เจ้าของผลงานการ์ตูน ‘Flying Man จาพนม’ คุณสิทธิพร กุลวโรตตมะ ‘ครูอ๋า’ นักเขียนคอลัมน์เด็กในนิตยสารกุลสตรี ขวด เดลินิวส์ ผู้เขียนการ์ตูนล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ อาจารย์พลังกร สุรเดช ผู้เขียนการ์ตูนในหนังสือพิมพ์วัฏฏะ: การศึกษา อาจารย์ศักดา วิมลจันทร์ บรรณาธิการ Section เมืองการ์ตูน ในหนังสือพิมพ์ วัฏฏะ: การศึกษา รวมทั้ง โอม รัชเวทย์ และสละ นาคบำรุง จากทีมเขียนการ์ตูน ‘ทองแดง’ ซึ่งทุกท่านเต็มใจมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคการเขียนการ์ตูนอย่างเข้มข้นเช่นเคย” นายศักดา แซ่เอียว (เซีย ไทยรัฐ) อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทยกล่าว

ตลอดระยะเวลา 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 4 – 7 ตุลาคม เยาวชนทั้ง 160 คนจะได้อบรมเชิงปฏิบัติการแยกตามความสนใจ โดยในบางช่วงได้จัดให้ทั้งสองค่ายทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ “เยาวชนกับ การเขียนเชิงสร้างสรรค์” โดย อาจารย์ศุภกิจ นิมมานนรเทพ ประธานชมรมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตะวันออก ของ ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น กิจกรรมสำรวจแหล่งการเรียนรู้ อุทยานแห่งชาติทับลาน “เติมพลังชีวิตด้วยศาสตร์เทควันโด” โดย อาจารย์กฤตวิทย์ สุรชวาลา กรรมการบริหารสมาคมวูซูแห่งประเทศไทย กิจกรรมสันทนาการจากกลุ่มพี่ๆ เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับ การ์ตูนนิสต์ นักเขียนมืออาชีพ รวมทั้งเพื่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย และในวันเปิดค่ายยังจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม” โดย สุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ นักเขียน และผู้ดำเนินรายการ ‘คนค้นฅน’ และ ‘หลุมดำ’ อีกด้วย

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อบ่มเพาะต้นกล้าที่มีความสามารถทางวรรณกรรมและการเขียนการ์ตูนแล้ว คณะทำงานยังตั้งใจจะปลูกฝังให้ต้นกล้าเยาวชนของเรา มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมตามกำลังความสามารถ รู้สึกหวงแหนและร่วมดูแลรักษาสาธารณสมบัติต่างๆ รวมไปถึงมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมในการสร้างความสมานฉันท์ เพราะเราปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยในวันข้างหน้าเป็นสังคมที่สร้างสรรค์ อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความจริงใจ และเกิดสันติภาพ ซึ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับเยาวชนของเราในวันนี้” นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย