ทิศทางธุรกิจก่อสร้างครึ่งหลังปี 2548 และปี 2549

ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจก่อสร้างฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับจากสถานการณ์ตกต่ำของธุรกิจภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานะทางการคลังของรัฐบาลที่ดีขึ้นทำให้รัฐบาลสามารถกลับมาผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ แรงผลักดันจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้ขับเคลื่อนให้การลงทุนโดยรวมของประเทศในด้านการก่อสร้างมีการเติบโตในอัตราสูงถึงร้อยละ 13 ในปี 2547 สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2538 และปัจจุบันแม้ว่าการลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนจะชะลอตัวลงตามภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่การเร่งตัวของการลงทุนในโครงการต่างๆของภาครัฐอาจเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจก่อสร้างโดยรวมจะยังคงสามารถรักษาระดับอัตราการขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 10 ได้อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปี 2548 และปี 2549 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นช่วงระยะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้วัฏจักรที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลงไปพร้อมกับวัฏจักรการลงทุนจึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีโอกาสจะได้รับผลดีจากวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้า

ภาวะการลงทุนในด้านการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาของปี 2548
ภาวะการก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 นับได้ว่ามีการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ร้อยละ 11.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2547

การลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรก มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นทิศทางที่ชะลอลงจากที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 15.4 ในปี 2547 โดยที่สำคัญเป็นการชะลอตัวในโครงการก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของความต้องการที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากภาระรายจ่ายครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นตามค่าครองชีพและราคาน้ำมัน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจเช่น โรงแรม รีสอร์ท ห้างร้านค้าปลีก ก็ชะลอลงจากที่เติบโตสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการก่อสร้างประเภทโรงงานอุตสาหกรรมมีการขยายตัวดีขึ้นจากปี 2547 ซึ่งเป็นไปตามภาวะการขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมหลายประเภทที่มีระดับอัตราการใช้กำลังผลิตเต็มที่แล้ว ตลอดจนการหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ

ในด้านการลงทุนโครงการก่อสร้างของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 14.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นกว่าในช่วงปี 2547 ที่เติบโตร้อยละ 10.7 เป็นไปตามการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2548 รวมทั้งประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนทำได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการลงทุนโครงการก่อสร้างในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2548 และในปี 2549
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนโครงการก่อสร้างของเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 มีปัจจัยลบที่สำคัญคือการชะลอตัวของความต้องการที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของการก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด โดยความต้องการที่อยู่อาศัยยังได้รับแรงกดดันจากภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงตามการพุ่งสูงขึ้นของราคาสินค้าและราคาน้ำมัน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.0 สูงสุดในรอบ 7 ปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปเกินร้อยละ 6.5 ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวเร็วกว่าที่คาดอาจจะยิ่งกดดันให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเร็ว ภาวะกำลังซื้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อที่อยู่อาศัยน้อยลงกว่าในระยะปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยนานขึ้น

นอกจากธุรกิจที่อยู่อาศัยแล้ว การเติบโตของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆก็มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากสัญญาณชี้นำล่วงหน้าของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั่วประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 ลดลงร้อยละ 14.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทที่อยู่อาศัยหดตัวลงร้อยละ 10.9 ประเภทพาณิชยกรรมหดตัวร้อยละ 24 และประเภทอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 24.7 การที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม ธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนการจัดตั้งโรงงานใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของการชะลอตัวจากฐานที่สูงที่ธุรกิจมีแผนการขยายการลงทุนอย่างมากในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 อ่อนตัวลงจากร้อยละ 9.4 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้อัตราการเติบโตทั้งปี 2548 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.3 หรือมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 332,000 ล้านบาท และคาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 373,000 ล้านบาทในปี 2549 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 8 โดยตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะยังคงมีทิศทางชะลอตัวท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น แต่ปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่น่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2548 ซึ่งอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น

การลงทุนภาครัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 การลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐอาจจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ในช่วงครึ่งแรกที่มีการชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่สอง โดยในช่วงครึ่งหลังน่าจะได้รับผลจากแรงกระตุ้นที่รัฐบาลให้หน่วยงานราชการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับปี 2549 ภาครัฐมีแผนการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบคมนาคมขนส่ง พลังงาน การจัดการระบบทรัพยากรน้ำ และโครงการลงทุนเพื่อสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา สาธารณสุข โดยตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2549 ในส่วนของงบลงทุนมีมูลค่า 357,468.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากงบประมาณในปีก่อนหน้า และสำหรับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2549 เป้าหมายเบิกจ่ายตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีจำนวน 208,447 ล้านบาท และเมื่อรวมวงเงินเบิกจ่ายเพิ่มเติมทั้งหมดในกรอบงบประมาณประจำปี 2549 จะมีจำนวน 296,272 ล้านบาท (แม้ว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2548 ที่มีจำนวน 313,072 ล้านบาท แต่สูงกว่ามูลค่าที่ทางการประเมินว่าจะเบิกจ่ายจริงได้ 235,728 ล้านบาท)

จากแผนการลงทุนของภาครัฐประจำปีงบประมาณใหม่นี้ และอาจจะยังมีงบลงทุนของภาครัฐจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายที่จะเหลื่อมเข้ามาในปีงบประมาณ 2549 อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งงบลงทุนของภาครัฐส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60-70 จะเป็นการลงทุนในงานโยธา ตามการคาดการณ์ภายใต้เงื่อนไขกรณีที่ภาครัฐสามารถผลักดันโครงการลงทุนได้ตามเป้าหมาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแนวโน้มการลงทุนโครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจจะมีโอกาสขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในปี 2549 โดยการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐอาจมีมูลค่าสูงกว่า 450,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 370,000 ล้านบาท โดยอัตราการขยายตัวของการลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐ ณ ราคาคงที่คาดว่าอาจจะสูงกว่าร้อยละ 20 เร่งขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.7

สำหรับแผนการลงทุนของภาครัฐในระยะปี 2550-2552 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนรวม 1,047,115 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 349,039 ล้านบาท สำหรับงบลงทุนของรัฐบาลอาจขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐในระยะข้างหน้าด้วย แต่มีการประเมินว่าจะมีมูลค่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 470,000 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจก่อสร้างมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในด้านงานโยธาของรัฐ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอาจมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 550,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การดำเนินโครงการต่างๆคืบหน้าได้ตามแผนการลงทุนที่วางไว้ ผลในการกระตุ้นการเติบโตในธุรกิจก่อสร้างอาจจะสูง (อัตราการขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 10) ในช่วงปี 2549-2550 และจะเริ่มมีการขยายตัวต่ำไปจนถึงหดตัวลงในระยะปีต่อๆไป ตามมูลค่าโครงการที่จะค่อยๆลดลงในช่วงท้ายของโครงการและปริมาณงานด้านโยธาที่จะลดลง แต่ในกรณีที่ความคืบหน้าของโครงการล่าช้า ผลต่อการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างอาจจะกระจายไปในช่วงปีท้ายๆของโครงการมากขึ้น

แนวโน้มการลงทุนโดยรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 705,000 ล้านบาทในปี 2548 เทียบกับมูลค่า 600,036 ล้านบาทในปี 2547 และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 850,000 ล้านบาทในปี 2549 ในกรณีที่โครงการลงทุนของภาครัฐดำเนินการได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม จากการที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ผลของการลงทุนในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 11.9 ในปี 2548 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2547 และคาดว่าอาจจะมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 15 ในปี 2549

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าโครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ไปได้จนถึงปี 2550 และเริ่มชะลอลงมามีอัตราการขยายตัวได้เล็กน้อยในปี 2551 ก่อนที่จะหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าโครงการลงทุนของรัฐอาจจะปรับลดลงในช่วงท้ายของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ นอกจากนี้ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง หรือโครงการรถไฟฟ้าคงจะมีการดำเนินโครงการในด้านงานโยธาเสร็จสิ้นไปหลายส่วน และน้ำหนักจะเริ่มไปอยู่ที่งานระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2550-2552 การลงทุนในด้านการก่อสร้างของประเทศอาจจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 1,000,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี

สรุปและข้อคิดเห็น
ในระยะที่ผ่านมา ธุรกิจก่อสร้างมีอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงผลักดันสำคัญจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเฟื่องฟู ขณะที่รัฐบาลเริ่มกลับมาเดินหน้าแผนการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ในปี 2548 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงตามภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการลงทุนในโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อาจเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจก่อสร้างโดยรวมจะยังมีอัตราการขยายตัวสูงได้อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 7.3 อ่อนตัวลงจากร้อยละ 9.4 ในช่วงครึ่งปีแรก ตามภาวะการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะความต้องการที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ในช่วงครึ่งแรก โดยน่าจะได้รับผลจากแรงกระตุ้นที่รัฐบาลให้หน่วยงานราชการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนในด้านการก่อสร้างตลอดทั้งปี 2548 มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 12 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2547 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 705,000 ล้านบาท เทียบกับมูลค่า 600,036 ล้านบาทในปี 2547

สำหรับปี 2549 คาดว่าการชะลอตัวในธุรกิจที่อยู่อาศัยอาจยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้วัฏจักรขาขึ้นของทิศทางอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่น่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2548 ซึ่งอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 ในด้านการก่อสร้างของภาครัฐ ถ้าในกรณีที่โครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐสามารถดำเนินการให้คืบหน้าได้ตามเป้าหมาย การลงทุนของภาครัฐอาจมีโอกาสที่จะขยายตัวเร่งขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20 เทียบกับคาดการณ์อัตราขยายตัวในปี 2548 ที่ร้อยละ 15.7 ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้นที่อัตราประมาณร้อยละ 15 ในปี 2549 หรือมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 850,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าโครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ไปได้จนถึงปี 2550 และเริ่มชะลอลงมามีอัตราการขยายตัวได้เล็กน้อยในปี 2551 ก่อนที่จะหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าโครงการลงทุนของรัฐอาจจะปรับลดลงในช่วงท้ายของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ นอกจากนี้ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง หรือโครงการรถไฟฟ้าคงจะมีการดำเนินโครงการในด้านงานโยธาเสร็จสิ้นไปหลายส่วน และน้ำหนักจะเริ่มไปอยู่ที่งานระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น

การเติบโตในธุรกิจก่อสร้างจะก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีการเติบโตในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในด้านราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนในด้านการก่อสร้างคาดว่าจะยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ผู้ประกอบการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์จะได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างโดยรวมที่จะค่อนข้างทรงตัว ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2548 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ที่สำคัญเป็นผลจากการอ่อนตัวลงของราคาปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็ก แต่ผู้ประกอบการก็คงจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านอื่นๆ ซึ่งดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิตโดยเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.5 ประกอบกับแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีอาจจะยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนด้านพลังงานที่มีโอกาสที่จะสูงขึ้นอีก ขณะที่วัสดุก่อสร้างหลัก เช่น ปูนซีเมนต์ แม้ในระยะสั้นอาจยังมีแนวโน้มอ่อนตัว ตามการชะลอตัวลงของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และเป็นช่วงนอกฤดูกาลก่อสร้าง แต่ราคามีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ของรัฐเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าธุรกิจก่อสร้างจะได้ประโยชน์จากปริมาณงานโครงการก่อสร้างที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีแรงกดดันในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น การบริหารต้นทุนจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างในระยะปีข้างหน้า