“แถลงข่าว” ผลประกอบการมกราคม-กันยายน 2548 ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)

ผลประกอบการก่อนการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี
ในไตรมาส 3 ปี 2548 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,320 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2547 ซึ่งมีกำไร 1,413 ล้านบาท ลดลงจำนวน 93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 เมื่อรวมกับกำไรในครึ่งปีแรก จำนวน 3,265 ล้านบาท ทำให้ 9 เดือนแรกปี 2548 ธนาคารมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 4,585 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไร 5,114 ล้านบาท ลดลงจำนวน 529 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ทั้งนี้ สาเหตุเป็นผลจากปัจจัยสำคัญดังนี้

– ใน 9 เดือนแรกปี 2547 ธนาคารมีกำไรจากเงินลงทุนสูงถึง 1,365 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2548 มีเพียง 561 ล้านบาท ลดลงจำนวน 804 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 59

– ธนาคารมีผลขาดทุนจากการปริวรรตจำนวน 48 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2547 มีกำไรจำนวน 144 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ปรับปรุงการบันทึกบัญชีมูลค่าทรัพย์สินสาขาต่างประเทศ (เคย์แมน) จากสกุลเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินบาท การทำรายการดังกล่าวทำให้เกิดขาดทุนจากผลต่างอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 199 ล้านบาท หากไม่รวมรายการดังกล่าว ธนาคารมีกำไรจากการปริวรรตจำนวน 151 ล้านบาท

– จากนโยบายในการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง ในช่วง 9 เดือน ปี 2548 ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญฯ จำนวน 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 164 ล้านบาท

– นอกจากนั้นธนาคารได้ตั้งสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรวมจำนวน 524 ล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองการด้อยค่าอสังหาริมทรัพย์ธนาคารที่มิได้ใช้งานและทรัพย์สินรอการขายที่ตั้งในครึ่งแรกปี 2548 จำนวน 300 ล้านบาท และสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินอื่นเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาส 3 อีกจำนวน 224 ล้านบาท รายการสำคัญเป็นสำรองขาดทุนจากเงินทดรองจ่ายแทนธนาคารศรีนครซึ่งอยู่ระหว่างรอเรียกเก็บจากผู้ชำระบัญชีธนาคารศรีนครจำนวน 65 ล้านบาท จากการควบรวมระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารกับธนาคารศรีนคร โดยการเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ทำให้ต้องยกเลิกระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่เป็นจำนวน60 ล้านบาท และจากบัญชีตั้งพักในอดีตที่ค้างมาเป็นเวลานานจำนวน 80 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวข้างต้น ธนาคารมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนปี 2548 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจำนวน 12,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจำนวน 4,415 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 7,308 ล้านบาท เป็น 8,366 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19

จากผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2548 ธนาคารมีกำไร 2.17 บาทต่อหุ้น อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับร้อยละ 18.27 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เท่ากับร้อยละ 1.31 มูลค่าหุ้นตามบัญชี ณ 30 กันยายน 2548 เท่ากับ 15.94 บาทต่อหุ้น

ฐานะการเงิน
ณ 30 กันยายน 2548 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 463,105 ล้านบาท หนี้สินรวม 429,425 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 33,680 ล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เท่ากับร้อยละ 11.65 เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.73 สินทรัพย์รวมลดลงจาก ณ 31 ธันวาคม 2547 จำนวน 8,929 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งแรกปี 2548 มีการไถ่ถอน AMC Note ของบบส.สุขุมวิท จำนวน 55,080 ล้านบาท ขณะที่เงินให้สินเชื่อ (ไม่รวม AMC Note) เพิ่มขึ้นจำนวน 21,287 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ต่อปี ทำให้โครงสร้างสินทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อเพิ่มจากร้อยละ 45 เมื่อสิ้นปี 47 เป็นร้อยละ 50 ณ สิ้นกันยายน 2548

ด้านสินเชื่อ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ารวมทั้งสิ้น 10,386 ราย จำนวนเงิน 135,669 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างไม่รวม AMC Note ณ 30 กันยายน 2548 จำนวน 232,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 จำนวน 21,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 13 ต่อปี ขณะที่สามารถควบคุม NPL ได้ โดย ณ 30 กันยายน 2548 มี NPL จำนวน 11,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 11,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 447 ล้านบาท ประกอบด้วย NPL ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพจำนวน 144 ล้านบาท และ NPL จากการรับโอนหนี้คืนจาก บบส.สุขุมวิท (บบส.เพชรบุรี) จำนวน 731 ล้านบาท หากไม่รวม 2 รายการดังกล่าว NPL ลดลงจากมิถุนายน 2548 จำนวน 428 ล้านบาท

โดยสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อเท่ากับร้อยละ 3.86 และกรณีไม่รวม TPI เท่ากับร้อยละ 1.69 ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ขณะที่มีสำรองหนี้สูญฯ รวมทั้งสิ้น 10,617 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91 ของ NPL และหากไม่นับ TPI อัตราส่วนดังกล่าวจะสูงถึงร้อยละ 207

ด้านเงินฝาก
ณ 30 กันยายน 2548 ธนาคารมียอดเงินฝากทั้งสิ้น 392,390 ล้านบาท เป็นสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์รวมกันร้อยละ 35 เงินฝากประจำร้อยละ 65

รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2548 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรวม 12,781 ล้านบาท และมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ 8,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,089 ล้านบาท และ 1,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9 และร้อยละ 14 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อ ธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 1.94 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 2.23 ในปี 2547 และเป็นร้อยละ 2.51 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2548 ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 2,304 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนจำนวน 743 ล้านบาท เป็นผลจากการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน จำนวน 804 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมจำนวน 1,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 215 ล้านบาท หรือร้อยละ 19 ทั้งนี้รายได้ค่าธรรมเนียมคิดเป็นร้อยละ 8.89 ของรายได้รวม สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.64 ของรายได้รวม

จำนวนเครื่อง ATM
ณ 30 กันยายน 2548 ธนาคารมี ATM ทั้งสิ้น 1,120 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 จำนวน 213 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23