ดอลลาร์ทุบเงินยูโรร่วง …อานิสงส์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ

เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยนญี่ปุ่น โดยซื้อขายอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 1.16 ดอลลาร์/ยูโร และ 118 เยน/ดอลลาร์ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในยุโรปและญี่ปุ่นยังคงอึมครึม ส่งผลให้นักลงทุนพอใจที่จะลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าอ่อนไหวหลังจากที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจอังกฤษอ่อนกำลังลง ประกอบกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Tony Blair เริ่มเผชิญมรสุมทางการเมือง สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ฟื้นตัวเป็นลำดับ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะยังคงทะยานสูงขึ้นอย่างมากก็ตาม

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่ารายงานภาวะการจ้างงานสหรัฐฯค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่ตลาดเงินกลับเมินปัจจัยลบเหล่านั้น และสนใจเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 4.0% ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยยูโรและอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่น จึงจูงใจให้นักลงทุนหันไปลงทุนในหลักทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น แรงซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลอเมริกันซึ่งออกประมูลเป็นมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับบริษัทสหรัฐฯที่ทำธุรกิจอยู่ในต่างแดนก็พยายามส่งเงินผลกำไรกลับประเทศเป็นจำนวนมากในระยะนี้ เนื่องจากใกล้หมดเขตผ่อนปรนด้านภาษีของรัฐบาลอเมริกัน ทำให้ปริมาณความต้องการเงินดอลลาร์ขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา

ในขณะเดียวกัน เงินยูโรก็ตกอยู่ในสภาพอ่อนไหวอย่างหนัก เป็นผลจากความวุ่นวายในฝรั่งเศสที่ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงในเขตเมืองสำคัญต่างๆ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ไม่สงบครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปีของฝรั่งเศส นอกจากนี้ การประท้วงก่อความวุ่นวายของเยาวชนต่างชาติในยุโรปยังแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ เบลเยียม และเยอรมนี เป็นต้น นับเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินยูโรตกต่ำลงทะลุแนวต้าน 1.1750 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นอัตราซื้อขายครั้งแรกของสกุลเงินยูโร

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ฉุดให้ค่าเงินสกุลเดียวยุโรปดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ท่าทีของรัฐมนตรีคลังของกลุ่มยูโรที่ไม่ต้องการให้ธนาคารกลางยุโรปปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และซ้ำเติมปัญหาการว่างงานในยุโรป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ย ได้ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของตลาดเงินออกจากตัวเลขยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯเดือนกันยายน ซึ่งมีมูลค่า 66.1 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่า 59.35 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม ด้วยเหตุนี้ เงินดอลลาร์จึงยังคงเป็นขวัญใจของนักลงทุนในช่วงปลายสัปดาห์ ปล่อยให้ค่าเงินยูโรและเงินเยนญี่ปุ่นร่วงลงต่ำสุดในรอบ 24 เดือน

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าซบเซา โดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบราว 1.74 ดอลลาร์/ปอนด์ ทั้งนี้ เพราะผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมไม่น่าพอใจนักในเดือนกันยายน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง 0.3% นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกและอัตราเพิ่มของราคาบ้านพักอาศัยในอังกฤษและเวลส์ก็อ่อนตัวลง ล้วนกระตุ้นให้ตลาดกังวลว่าอังกฤษอาจลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางด้านการเมืองในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความคิดเห็นขัดแย้งกันระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลในประเด็นเกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย พลอยทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์ได้รับแรงพยุงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ จากตัวเลขขาดดุลการค้าอังกฤษเดือนกันยายนดีกว่าที่คาดไว้

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ทรุดต่ำลงในตอนต้นสัปดาห์ สาเหตุหลักมาจากความเข้มแข็งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวต่ำกว่าระดับเฉลี่ย 60 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ราคาทองคำได้ฟื้นตัวสูงขึ้นเป็นลำดับในเวลาต่อมา แม้ว่าเงินดอลลาร์ยังคงทำสถิติสูงต่อไป ปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ ก็คือ เหตุการณ์ร้ายแรงในฝรั่งเศสและลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาถือทองคำ อีกทั้ง ความเข้มแข็งของราคาทองคำขาว ก็มีส่วนช่วยจูงใจให้มีแรงซื้อในโลหะมีค่าอื่นๆ รวมถึงทองคำด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 เทียบกับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.1810 ดอลลาร์/ยูโร (1.1688 ดอลลาร์/ยูโร) 117.62 เยน (118.29 เยน) และ 1.7456 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7414 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 เท่ากับ 457.90 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 467.40 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548