ประทีบโคมไฟและของใช้งานรื่นเริงในสหรัฐฯ :ไทยต้องปรับกลยุทธ์…เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

สหรัฐอเมริกานับเป็นผู้นำเข้าสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆที่สำคัญอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนานด้วยมูลค่าการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35-40 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของตลาดโลกในแต่ละปี โดยในปี 2547 ตามข้อมูลของ U.S. Department of Commerce พบว่าสหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,973.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า 6,397.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าประเภทนี้ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ โดยสามารถถือครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวโดยรวมของสหรัฐฯในแต่ละปี และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากจีนคิดเป็นมูลค่า 4,664.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจีนก็สามารถถือครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดิมที่ระดับร้อยละ 72.92 รองลงมาเป็นเม็กซิโก(สัดส่วนร้อยละ 11.38) แคนาดา(สัดส่วนร้อยละ 3.57) และไต้หวัน(สัดส่วนร้อยละ 1.81) ขณะที่ไทยสามารถครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 10 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 0.51

สำหรับการค้าสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาพบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีพอสมควร แม้ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯไม่มากนักก็ตาม โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ที่สำคัญที่สุดของไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 28-30 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในแต่ละปี และจากรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2547 ไทยส่งออกสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 38.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 16.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทย ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆระหว่างไทยกับสหรัฐฯน่าจะขยายตัวได้ดีต่อไปในปี 2548 ด้วยอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 43-45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีกิจกรรมค่อนข้างอลังการและเอิกเกริกในการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับสินค้าประทีปโคมไฟ ของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆของไทยที่ผลิตในปัจจุบันได้มีการนำวัสดุธรรมชาติภายในประเทศมาเป็นองค์ประกอบสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของเครื่องปั้นดินเผา ผ้าไหม หรือกระดาษสา เป็นต้น ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีความหลากหลาย แปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากขึ้น ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ไทยส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่า 36.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2547

โดยทั้งนี้ แม้ว่าตลาดสหรัฐฯจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่มีสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งหากพิจารณาศักยภาพการแข่งขันของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯแยกตามประเภทสินค้า พบว่ามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

?ประทีปโคมไฟ

ในแต่ละปีสหรัฐฯนำเข้าประทีปโคมไฟคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจีนเป็นประเทศที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุดในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในระดับร้อยละ 59.3 ในปี 2544 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.6 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ตามรายงานของ U.S. Department of Commerce ส่วนคู่แข่งรายสำคัญอื่นๆ เช่น เม็กซิโก แคนาดา และเยอรมนี ก็มีสัดส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ขณะที่ไทยมีอัตราการขยายตัวและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.88 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 0.21 ในปี 2544 เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 (ซึ่งไทยติดอันดับ 18) ทั้งนี้พบว่าคู่แข่งในอาเซียนที่มีอัตราขยายตัว และสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอาจจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคตคือเวียดนาม (ในปี 2544 เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.02 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.04 ในปี 2547 และสัดส่วนร้อยละ 0.06 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548) ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์มีอัตราขยายตัวและสัดส่วนตลาดลดลงต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงค่าดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) ก็พบว่าสินค้าประเภทนี้ของไทยยังมีศักยภาพต่ำ ดังนั้นผู้ประกอบการสินค้าประทีปโคมไฟของไทยในตลาดสหรัฐฯจึงต้องเร่งศึกษาความเคลื่อนไหวของคู่แข่งนอกเหนือจากจีนที่มีส่วนแบ่งมากกว่าไทยสูงมากอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงการตลาด และผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นอีก นอกจากนี้ควรมีการเพิ่มมูลค่าโดยการมีแบรนด์ของตนเองเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

?ของใช้ในเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆ

เป็นสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30-35 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆโดยรวมของสหรัฐฯในแต่ละปี ซึ่งอัตราการเติบโตของการนำเข้าสินค้าประเภทนี้มักจะแปรผันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอย่างชัดเจน โดยในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯซบเซาอย่างปี 2545-2546 การนำเข้าสินค้าของใช้ในเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆมีอัตราการเติบโตไม่เกินร้อยละ 5 ขณะที่ในปี 2547 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกระเตื้องขึ้น การนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ก็มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในระดับร้อยละ 10.5 และเติบโตชะลอตัวลงในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่เริ่มทรงตัวในปี 2548

โดยผู้ครองความเป็นหนึ่งในตลาดสินค้าของใช้ในเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆในตลาดสหรัฐฯก็คือ จีน ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของสหรัฐฯในแต่ละปี ซึ่งเป็นการยากที่คู่แข่งรายอื่นๆจะตามทันได้ภายในเร็ววัน ทำให้จีนน่าจะสามารถครองความเป็นหนึ่งได้อีกนาน ดังนั้นคู่แข่งของไทยจึงเป็นบรรดาประเทศที่ต้องการแย่งชิงความเป็นที่สองในตลาดของใช้ในเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆในสหรัฐ อย่าง เม็กซิโก ไต้หวัน โปแลนด์ ฮ่องกง และอินเดีย ที่ต่างมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกับไทย โดยแต่ละประเทศดังกล่าวมีส่วนแบ่งตลาดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.02 เป็นรองจากเม็กซิโก(สัดส่วนร้อยละ 1.18) ไต้หวัน(สัดส่วนร้อยละ 1.13) และโปแลนด์(สัดส่วนร้อยละ 1.06) โดยทั้งนี้เมื่อพิจารณาค่า RCA พบว่าสินค้าของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆของไทยยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพไม่สูงนัก และมีแนวโน้มส่วนแบ่งที่ลดลง

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรจะต้องเร่งสร้างความโดดเด่นให้แก่สินค้าด้วยการผสมผสานศิลปะไทยและสากล พร้อมพัฒนาเทคนิคการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายยิ่งขึ้น และลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียของวัตถุดิบให้ต่ำลงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าและเร่งขยายช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทดิสเคานท์สโตร์ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมตลาดเป้าหมายอย่างกว้างขวางในลักษณะ franchise ทั่วประเทศสหรัฐฯ เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างยิ่งขึ้น

การที่สหรัฐฯเป็นตลาดที่มีพื้นที่ใหญ่มหาศาล มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่ตลอดเวลา และมีการแข่งขันทางการค้านำเข้าในระดับสูงมาก ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯจึงควรจะต้องศึกษา และติดตามความเปลี่ยนแปลงของตลาดและกลยุทธ์ของคู่แข่งขันทางการค้าในตลาดสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและบรรยากาศการแข่งขันในตลาดได้อย่างรวดเร็วด้วย ยิ่งการผลิตประทีปโคมไฟ ของใช้ในงานเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆของไทยส่วนใหญ่เป็นการเน้นรับจ้างผลิตให้กับบริษัทจากต่างประเทศที่เเม้ว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ได้รับการสั่งซื้อหรือสั่งผลิต และนำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้

แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในส่วนของพัฒนาการของคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาด การจัดทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ จึงมีความสำคัญค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพื่อปกป้องรักษาลูกค้าไม่ให้เปลี่ยนไปสั่งซื้อจากคู่แข่งแทน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของคุณภาพการผลิต สีสัน และรูปแบบ ตลอดจนวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยเฉพาะการอาศัยวัสดุของไทยเป็นหลักเพิ่มขึ้นเพื่อให้สินค้าประเภทนี้ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และให้ความรู้สึกที่คุ้มค่าแก่ลูกค้ามากที่สุด นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรหันมาบริหารการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือลดการสูญเสียต้นทุนให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของโรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประทีปโคมไฟ ของใช้ในงานเทศกาลคริสต์มาส และงานรื่นเริงอื่นๆของไทย พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการต้องให้ความระมัดระวังอย่างสูงในเรื่องของความสะอาด สุขอนามัย และความปลอดภัยในการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในวัยต่างๆกัน รวมถึงศึกษา และติดตามรายละเอียดกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆอย่างเคร่งครัดด้วย เพราะสหรัฐฯเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคค่อนข้างสูง และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกฎระเบียบให้ทันสมัยและทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกห้ามจำหน่ายหรือการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้บริโภคหรือจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในภายหลัง หากเกิดกรณีที่สินค้าได้ผ่านการนำเข้า และถูกนำออกวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯแล้ว แต่ได้ก่อให้เกิดอันตรายในภายหลังแก่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้านั้นๆไปใช้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สินค้าไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคต่อไปในอนาคตได้

นอกจากนี้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกก็ต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้า และเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายให้สามารถกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะการเจาะตลาดกลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทดิสเคานท์สโตร์ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมตลาดเป้าหมายอย่างกว้างขวางในตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ และหากผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องการที่จะขายโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค ก็สามารถกระทำได้โดยผ่านทางการค้าในลักษณะ mail order หรือ การค้าผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้จะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าผู้ผลิตและผู้ส่งออกเปิดสำนักงานตัวแทนและแหล่งกระจายสินค้าในสหรัฐฯ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างความเชื่อถือและความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ลูกค้าต่อสินค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ดีระหว่างบริษัทและลูกค้าอีกด้วย

จากการที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดจำนวนการสูญหายของสินค้าและแคตตาล็อกที่ส่งถึงลูกค้า และลดปัญหาเรื่องการจัดการด้านการเงินด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายอื่นๆได้อีก เช่นค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ และค่าไปรษณียากร เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรจะต้องมีการปรับใช้กลยุทธ์การตลาดในเชิงรุกมากขึ้น โดยต้องมีการวางกลุ่มเป้าหมายและการจัดจำหน่ายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องอาศัยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และการรวมกลุ่มกับบรรดาผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในหมวดหมู่สินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ทั้งในรูปแบบของการเชิญลูกค้าทั้งกลุ่มเป้าหมายในอนาคตและปัจจุบันมาชมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นภายในประเทศ รวมถึงการนำสินค้าไปแสดงในห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในงานเทศกาลและงานรื่นเริงต่างๆของไทยมีโอกาสขยายตัวสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมายิ่งขึ้น

บทสรุป

ตลาดสหรัฐอเมริกานับเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยตลาดย่อยหลายตลาดที่รองรับสินค้าหลากหลายชนิด คู่แข่งขันของไทยจึงมีเป็นจำนวนมาก ความได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันทางการค้าในระหว่างประเทศคู่แข่งขันจึงขึ้นอยู่ความสามารถในการผลิต ต้นทุนในการผลิต ระยะทางและระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ความผันแปรเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่างๆภายในประเทศผู้ผลิตเอง และสิทธิพิเศษที่ได้รับจากการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าโอกาสที่สินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆของไทยจะแข่งขันเพื่อให้มีส่วนแบ่งตลาดสินค้าประเภทนี้ใกล้เคียงกับจีนที่ครองความเป็นผู้นำในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก (โดยขณะนี้จีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดสหรัฐฯได้เกินกว่าร้อยละ 70) เพราะไทยมีความเสียเปรียบจีนที่ปัจจุบันถูกยกให้เป็น Factory of world ไปแล้ว ทั้งในด้านค่าจ้างแรงงาน ความพร้อมของวัตถุดิบ และเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการถ่ายทอดจากต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปในจีน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เป้าหมายของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยนับจากนี้ควรเป็นไปในลักษณะของการรักษาส่วนแบ่งตลาด และการพยายามแข่งขันเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้สามารถติดอันดับ 2 ให้ได้โดยเร็วมากกว่า เพราะสินค้ากลุ่มนี้ของไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ดีทั้งในส่วนของมูลค่าและส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้ของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 10 และแม้ว่าไทยจะมีความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบบ้างต่อเม็กซิโกและอินเดียที่ครองอันดับ 2 และอันดับ 5 ตามลำดับในส่วนของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเสียเปรียบในส่วนของระยะทางและระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าต่อเม็กซิโก(อันดับ 2) และแคนาดา(อันดับ3) แต่ด้วยฝีมือการผลิต แนวโน้มการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ทั้งที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ และการพยายามสรรหาวัตถุดิบภายในประเทศมาใช้เพื่อการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยยังน่าจะมีโอกาสสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต ทั้งในส่วนของรูปแบบ ความหลากหลาย และคุณภาพของสินค้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องมีการปรับใช้กลยุทธ์การตลาดในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการขายในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทดิสเคานท์สโตร์ในสหรัฐฯ และการเปิดขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น หรือการสร้างความแตกต่าง/เอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า การออกตัวสินค้าใหม่ๆอยู่เสมอ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการส่งผลงานประกวดผลิตภัณฑ์ในเวทีต่างๆ ในระดับสากล ซึ่งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องก็นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะงานแสดงสินค้าทำหน้าที่เสมือนเป็นทั้งศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ และแหล่งนำเสนอสินค้าประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและงานรื่นเริงอื่นๆชนิดใหม่ๆจากกลุ่มผู้ผลิตถึงกลุ่มผู้ค้าส่งและค้าปลีก เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดสู่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายต่อไป

นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะคู่แข่งในอาเซียนอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนามที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งควรหันมาให้ความสำคัญในด้านการเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดยุโรป ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ที่มีแนวโน้มนิยมสินค้ากลุ่มนี้จากไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯที่แม้จะเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงมากด้วย