สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2549: ขยายตัวได้…ภายใต้ข้อจำกัดจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ย

เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยการขยายสินเชื่อในหลายประเภท เช่น สินเชื่อสำหรับธุรกิจก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มีทิศทางที่ชะลอตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการก่อสร้าง ความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ถดถอยลงในช่วงระหว่างปี อันเป็นผลกระทบจากภาวะน้ำมันแพง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และความผันผวนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจเช่น เหตุธรณีภิบัติภัย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงการขยายสินเชื่อในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ที่ผ่านมา ตลอดจนประเมินถึงแนวโน้มการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้:

ตลาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ที่ผ่านมา

• ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2548 ขยายสินเชื่อสุทธิได้เพียง 6.09% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากปีก่อนหน้า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้นำมาปรับปรุงผลกระทบจากการควบรวม/ยกระดับกิจการ และปรับปรุงผลจากการไถ่ถอนตั๋วเงินของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์รัฐ (อันมีผลทำให้ยอดสินเชื่อต่ำกว่าที่ควรจะเป็น)แล้ว จะได้ว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ขยายตัว 6.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจาก 9.13% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547 หรือหากพิจารณาในแง่ของเม็ดเงินของการขยายสินเชื่อ จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยขยายสินเชื่อใหม่สุทธิได้ประมาณ 2.2 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากสิ้นปี 2547 ประมาณ 4.5%) ชะลอตัวลงจาก 3.3 แสนล้านบาทที่ทำได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 (ขยายตัว 7.48% จากสิ้นปี 2546)

หากพิจารณาเฉพาะสินเชื่อดี (Performing Loans) ที่ไม่รวมหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) นั้น พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทย สามารถขยายสินเชื่อดีสุทธิได้ประมาณ 2.32 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากสิ้นปี 2547 ประมาณ 5.4%) ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ทำได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 ที่ประมาณ 3.43 แสนล้านบาท (ขยายตัว 8.94% จากสิ้นปี 2546) ขณะที่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว จะได้ว่า สินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ขยายตัว 8.13% ชะลอตัวลงจาก 11.75% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547

• สินเชื่อของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางมีการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เมื่อแบ่งธนาคารพาณิชย์ไทยออกเป็น 3 กลุ่มธนาคารตามขนาดของสินทรัพย์ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินทรัพย์มากกว่า 10% ของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และทหารไทย) กลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีขนาดสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 3-10% ของสินทรัพย์รวมของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นครหลวงไทย และไทยธนาคาร) และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 3% ของระบบธนาคาร (ธนาคารเอเชีย ธนชาต สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และยูโอบี รัตนสิน) นั้น พบว่า กลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อ 11.1% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มธนาคารที่เหลือ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดกลางที่สินเชื่อขยายตัว 8.3% และกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่สินเชื่อเติบโต 4.8% โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากของปี 2547 ขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีการขยายสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นจากที่เคยติดลบในปี 2547 ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงมูลค่าของการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 นั้น ธนาคารขนาดใหญ่สามารถขยายสินเชื่อสุทธิได้สูงสุดประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่ 3.2 หมื่นล้านบาท

• การชะลอตัวลงของสินเชื่อ กระจายไปในประเภทอุตสาหกรรมและบริการหลักๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2548 ที่ผ่านมา ประเภทสินเชื่อที่มีการขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลง ได้แก่ สินเชื่อสำหรับธุรกิจก่อสร้าง การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและการคมนาคม ตัวกลางทางการเงิน รวมทั้ง สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลสำหรับการจัดหาที่อยู่อาศัย และสำหรับการบริโภคประเภทอื่นๆ ซึ่งรวมถึงบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loans) ขณะที่สินเชื่อภาคการผลิต ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่ครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อหลักนั้น มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ก่อนที่ธุรกิจในหลายหมวดจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น (ยกเว้นหมวดการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จากการปรับสถานะของบริษัทเงินทุนบางแห่งมาเป็นธนาคารพาณิชย์)

การขยายสินเชื่อประเภทต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ประเภทธุรกิจ % ส่วนแบ่งตลาด ครึ่งแรก-47 ไตรมาส 4/47 ไตรมาส 1/48 ไตรมาส 2/48 ไตรมาส 3/48 *
การผลิต 26.5% 5.9% 1.3% 0.0% 1.4% 4.5%
การก่อสร้าง 3.1% -0.2% 1.3% 1.5% -5.6% 6.4%
การขายส่ง ขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ และของใช้ 18.0% 3.0% 0.0% 1.6% 1.4% 1.6%
โรงแรมและภัตตาคาร 4.1% 3.7% 2.1% 2.6% 0.6% 4.0%
การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม 4.2% 9.8% 1.7% 4.4% -0.4% -3.7%
ตัวกลางทางการเงิน 10.6% -12.5% -0.3% -3.0% -6.2% 3.3%
บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ 7.9% 11.0% -0.7% 1.2% 10.3% -8.0%
อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 18.3% 8.8% 2.5% 2.0% 1.7% 11.5%*
– การจัดหาที่อยู่อาศัย 11.4% 8.5% 5.7% 3.2% 2.4% 5.3%
– การซื้อ/เช่าซื้อยานยนต์ 1.3% 8.8% 10.1% 4.9% 68.2% 446.9%
– การบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ 4.7% 10.1% -4.2% -0.5% -1.8% 4.7%
รวม 100.0% 3.5% 0.4% 0.5% 1.0% 3.2%
ที่มา: ธปท. และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

หมายเหตุ: * สินเชื่อที่ขยายตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3/48 โดยเฉพาะในหมวดการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เป็นผลจากการควบรวมธุรกิจ/ยกสถานะของบริษัทเงินทุนบางแห่งมาเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ขณะที่ ตารางข้างต้น ได้เว้นช่วงของข้อมูลในไตรมาส 3/47 เนื่องจากฐานสินเชื่อได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย ดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

• ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2548 นี้ อาจเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะเร่งขยายสินเชื่อเพื่อทำเป้า โดยหากพิจารณาจากข้อมูลตามงบการเงินแล้ว พบว่า จนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2548 ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งยังคงขยายสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปีพอสมควร ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าว จึงน่าจะอาศัยจังหวะในช่วงอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อเร่งทำยอดสินเชื่อ ทั้งนี้ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการขยายสินเชื่อให้ได้ตามเป้าขั้นต่ำที่ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2548 นั้น ประมาณว่าสินเชื่ออาจต้องเติบโตอีกราว 1 แสนล้านบาทในระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งสามารถแปลงเป็นสินเชื่อดี ณ สิ้นปี 2548 ที่ขยายตัวประมาณ 7.9% จากสิ้นปี 2547 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเร่งทำเป้าสินเชื่อ เพื่อให้ได้อัตราการเติบโตของสินเชื่อดีดังกล่าว อาจสูงเกินไป ท่ามกลางภาวะการบริโภคและลงทุนที่เพิ่งจะฟื้นตัว ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินอัตราการเติบโตของสินเชื่อดีสำหรับทั้งปี 2548 ที่ประมาณ 6.6-7.3% (คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 2.8-3.1 แสนล้านบาท) ซึ่งชะลอตัวลงจาก 11.75% ในปี 2547 (คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 4.5 แสนล้านบาท)

แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2549

สำหรับในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์คงจะเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการแข่งขันหลายประการ โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

• การขยายตัวที่เร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทย คงจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจำกัดความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน สำหรับในปี 2549 ภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในปี 2548 ผนวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศเร่งตัวขึ้นจากปี 2548 ส่งผลตามมาให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2549 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ของปี 2548 ที่ประมาณ 4.2-4.5% มาที่ประมาณ 4.5-5.0% ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น คงจะช่วยให้ภาคเอกชนมีความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่อเนื่องจากปี 2548 ท่ามกลางภาวะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชน อาจเผชิญข้อจำกัดในช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2549

จริงอยู่ว่าในปี 2549 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้รับการปรับขึ้นไปนั้น ยังมีระดับต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) คาดว่าสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม ก็น่าจะรักษาระดับการขยายตัวต่อไปได้ โดยจากการศึกษาวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 รอบในอดีต คือในช่วงระหว่างปี 2531-2534 และปี 2537-2538 นั้น อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับลดลงภายในช่วงประมาณ 1 ไตรมาสหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นไปสูงสุดแล้ว (โดย ณ จุดที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมักจะมีระดับเหนือกว่า Nominal GDP) ก่อนที่จะนำมาสู่ภาวะการชะลอตัวของการขยายสินเชื่อในระยะต่อมา ทั้งนี้ สำหรับในปี 2549 คาดว่า Nominal GDP น่าจะมีค่าเหนือระดับ 8.0% ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับประมาณการของอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ประมาณ 7-8% ดังนั้น จึงน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในประเภทสินเชื่อแล้ว จะได้ว่าการบริโภคของภาคครัวเรือนมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากกว่าการลงทุนของภาคธุรกิจ (โดยพิจารณาจากค่าสหสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่ 73.09% สูงกว่าดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่มีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1.8%) ทำให้คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 คงจะมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อและความต้องการสินเชื่อสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกิดขึ้นเพื่อการจัดหาสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบัตรเครดิต นอกเหนือไปจากนั้น การควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือนของธปท. มาตรการกระตุ้นการออมของทางการด้วยการออกมาตรการการออมภาคบังคับ (ซึ่งตามกำหนดการเดิม อาจเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติในช่วงต้นปี 2549) และราคาน้ำมันในประเทศในปีหน้าที่จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีนี้นั้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยลบต่อสินเชื่อผู้บริโภคประเภทดังกล่าวเช่นกัน

ถึงแม้ว่าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในกลุ่มของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อบัตรเครดิต อาจได้ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดด้านอำนาจซื้อของผู้บริโภคในปีหน้า แต่ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loans) อาจได้รับความสนใจจากผู้บริโภคต่อไป ตราบใดที่รายจ่ายของผู้มีเงินเดือนประจำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับรายได้ ประกอบกับสินเชื่อประเภทนี้ มักมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำลังปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อประเภทดังกล่าว อีกทั้ง ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่ตลาดที่อยู่ในความสนใจของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ มากนัก เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงด้านเครดิตสูง และมีพอร์ตสินเชื่อขนาดเล็ก ดังนั้น โอกาสการเติบโตของสินเชื่อประเภทนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทย จึงอาจยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัดในปี 2549

• ประเภทสินเชื่อที่คงจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ไทยในปีหน้า คงเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูง การผลิตเพื่อส่งออก การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 อุตสาหกรรมสำคัญที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเข้าหาระดับเต็มที่ หรือมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80% เช่น หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ (94.7%) เคมีภัณฑ์ (96.0%) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (86.4%) รถปิกอัพ (83.4%) และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive (102.9%) ซึ่งสะท้อนว่าอุตสาหกรรมดังกล่าว อาจมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต อันอาจนำมาสู่ความต้องการขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินตามมา ขณะที่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเภทอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับสูงส่วนใหญ่ดังกล่าว เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้คาดว่าในปี 2549 อุตสาหกรรมประเภทนี้ จะยังคงได้รับความสนใจจากธนาคารพาณิชย์ผู้ปล่อยกู้ต่อไป ถึงแม้ว่าในภาพรวมแล้ว การส่งออกในปี 2549 อาจมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปี 2548 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ยังน่าจะได้รับผลพลอยได้จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 2.55 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2549 อีกด้วย ขณะที่ถึงแม้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจไม่ได้มีบทบาทในการปล่อยกู้โดยตรงให้กับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐดังกล่าวมากนัก เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่มีวงเงินสูงและมีระยะเวลาของโครงการสินเชื่อค่อนข้างยาว อาจส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นและค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) ของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในระยะปานกลาง-ยาวได้ แต่คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทย คงจะอาศัยปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางอ้อม ผ่านการขยายสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็กรองลงมา ที่คงจะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐข้างต้น อีกทั้งผ่านการเป็นนายหน้าจัดหาเงินทุน หรือ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารพาณิชย์ไทย ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุธรณีภิบัติภัยตั้งแต่ปลายปี 2547 ซึ่งภาวะการท่องเที่ยวที่สดใสขึ้นนี้ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยให้กับธุรกิจดังกล่าวด้วย

• อย่างไรก็ตาม อนาคตอุตสาหกรรมหลายประเภท อาจขึ้นอยู่กับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยในช่วงที่ผ่านมา ข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ทำไว้กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น ไทย-อาเซียน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ และอาเซียน/ไทย-จีน มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ขณะที่ ทางการไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอีกบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าว คงจะทยอยบังคับใช้ตามมา ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า เมื่อมองในภาพกว้าง การเปิดการค้าเสรีจะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้าในหมวดเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้เมืองร้อน แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ผลกระทบจะค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับประเทศคู่เจรจา อีกทั้งในหลายกรณี อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี แตกต่างกัน ขึ้นกับอำนาจในการต่อรองและความยืดหยุ่นในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างไป ซึ่งย่อมจะทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อและความเสี่ยงเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น

สรุปผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่อสินค้า/อุตสาหกรรมต่างๆ

ผลกระทบ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน
วันที่บังคับใช้ 1 ม.ค.48 คาดว่า ก.ย.49 1 ม.ค.47 (สำหรับกรอบอาเซียน-จีน)
บวก รถปิกอัพ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารแปรรูป ผักผลไม้สด อาหารทะเลกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งสด-ต้ม-แช่เย็น-แปรรูป ผักผลไม้แปรรูป-กระป๋อง ผลไม้เมืองร้อน กล้วย สัปปะรดสด รองเท้า อัญมณี สิ่งทอ และ FDI ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลไม้เมืองร้อน พืชผักบางประเภท (มันสัมปะหลัง) ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช กระดาษและกระดาษแข็ง น้ำตาล
ลบ นมผงขาดมันเนย เนื้อโคแช่เย็นแช่แข็ง ไวน์ รถยนต์ขนาดเกินกว่า 3,000 ซีซี ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กบางประเภทที่ไม่ได้ผลิตในไทย ผลไม้เมืองหนาว เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ฝ้าย ปุ๋ย ของเด็กเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง รถบรรทุกราคาถูก
ที่มา: บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

• อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อ โดยแม้เศรษฐกิจอาจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2549 แต่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2549 อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทย จนนำมาสู่การไหลย้อนกลับของหนี้เอ็นพีแอลที่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว (Relapsed NPLs) และ/หรือ การเพิ่มจำนวนของเอ็นพีแอลใหม่ (New NPLs) ได้ อย่างไรก็ตาม หากการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลจากทั้ง 2 สาเหตุดังกล่าวในปี 2549 ต่ำกว่าขนาดการปรับโครงสร้างหนี้และการลดปัญหาหนี้ด้วยวิธีอื่น เช่น การตัดหนี้สูญ และการขายหนี้ (โดยจากข้อมูลของธปท. ผลรวมของการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลรายใหม่ และเอ็นพีแอลที่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 17,429 ล้านบาทต่อเดือน ต่ำกว่าการลดลงของเอ็นพีแอลอันเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และสาเหตุอื่นๆ ที่มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 27,058 ล้านบาทต่อเดือน) คาดว่าเอ็นพีแอลในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจทยอยปรับตัวลดลงได้ในปีหน้า แต่ก็คงจะไม่ใช่อัตราที่รวดเร็วเหมือนในอดีต เนื่องจากเอ็นพีแอลที่เหลืออยู่น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนของปัญหามาก (Hard Core NPLs) นอกจากนี้ แนวทางของธปท. ในการสนับสนุนให้มีการโอนเอ็นพีแอลและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีเอ) ออกจากธนาคารพาณิชย์ไทย ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้น คงจะช่วยให้ขนาดหนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อดี นั้น ปัจจัยลบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อใหม่มากขึ้น เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ แต่ในภาวะที่ธนาคารพาณิชย์อาจถูกกดดันให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการไหลออกของเงินฝากไปยังตลาดทุน ในจังหวะที่ธปท.อาจสานต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นั้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ต้องฝากความหวังไว้ที่การขยายสินเชื่อมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงอาจถูกกดดันให้ต้องปรับองค์ประกอบของพอร์ตสินเชื่อ โดยหันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทน (Margin) สูงขึ้น หรือลงมาเล่นในตลาดสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งความยั่งยืนของรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อประเภทดังกล่าว และคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในภาพรวม คงจะขึ้นกับระบบบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีประสิทธิภาพ

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าในปี 2549 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น อันถือเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการสินเชื่อในภาพรวม แต่ก็อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อจากภาคครัวเรือนที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมากกว่าความต้องการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้แนวโน้มสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบัตรเครดิต น่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากในปี 2548 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อของภาคธุรกิจ ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ดี และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งเสริมการขยายสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ให้ไม่ด้อยไปกว่าของปี 2548 โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตใกล้ระดับเต็มที่แล้ว อุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว กระนั้นก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทำให้ในภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า สินเชื่อดี (Performing Loans) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 น่าจะเติบโตได้ประมาณ 2.8-3.3 แสนล้านบาท หรือ 6.2-7.2% ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการของปีนี้ที่ 2.8-3.1 แสนล้านบาท หรือ 6.6-7.3% (โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อดีปี 2549 อยู่ในกรอบที่ต่ำกว่าของปี 2548 เนื่องจากผลของฐานสินเชื่อดีที่ใหญ่ขึ้น)

ทั้งนี้ ประเด็นที่ควรจะต้องติดตามในปีหน้า คงจะได้แก่ ผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีต่อความสามารถในการแข่งขันของลูกค้าสินเชื่อในภาคธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ แม้ว่าในปัจจุบัน ปํญหาเอ็นพีแอลจะลดน้ำหนักลงมากจากอดีต แต่เนื่องจากเอ็นพีแอลที่เหลือมีความซับซ้อนของปัญหามาก อีกทั้งสภาพการแข่งขันในการขยายสินเชื่อระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่มีความรุนแรงขึ้น (ตามจำนวนผู้เล่นในตลาดที่ผ่านการยกระดับ ควบรวม และปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) ผนวกกับความเสี่ยงที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2549 ส่งผลให้ ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์ โดยหันมาหาตลาดสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทน (พร้อมความเสี่ยง) สูงขึ้น เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขของวัฏจักรดอกเบี้ยและสภาพการแข่งขันที่บีบคั้นขึ้นดังกล่าว ถือเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญสำหรับระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยงเครดิตและระบบการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540