สื่อเพื่อเด็กต้องก้าวไกล..ไปอย่างมีทิศทาง

โครงการยุทธ์ศาสตร์สื่อเด็กเฝ้าระวังถึง ผลของสื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก วอนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนัก และให้ความสำคัญในเนื้อหา สาระ ประเด็นการนำเสนอ ที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของรายการโทรทัศน์ หรือแม้แต่กระทั่งสื่อในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จตุจักร โครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุข (สสส.) ได้เล็งเห็นถึงผลของสื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กเยาวชน และครอบครัว จึงได้จัดทำแผนงานสนับสนุนเพื่อให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตสื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและ ร่วมกันสร้างอนาคตของเด็กไทยให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม จึงเกิดเป็น กิจกรรม “สื่อเพื่อเด็กไทยก้าวไกลไปถึงไหน” ขึ้น

ทั้งนี้ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมการนำเสนอรายงานการวิจัย “เรื่องการนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กของสื่อมวลชนในปัจจุบัน” การเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สื่อเด็ก และการแสดงผลงานจากกลุ่มเยาวชนโครงการสื่อเด็กฯ ซึ่งประกอบด้วย ลิเกเพื่อเด็กและครอบครัว โดยกลุ่มบูรณาการ ,สารคดีท้องถิ่นโดย กลุ่มมดตะนอย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม , นิตยสาร GLOZE ซึ่งเป็นผลงานของเด็กมัธยมในกรุงเทพฯ ,การผลิตหนังสั้นเพื่อเด็ก โดยทัตเทพ ทองทาบ จากthisshortfilm.com การผลิตรายการทีวีเคเบิ้ลท้องถิ่น โดยศูนย์กิจกรรมเยาวชนเมืองพัทยา และ เพลง ดนตรีของเด็กเยาวชน โดย ชมรมเยาวชนอาสาสมัครเกสรลำพู

โดย “ผศ.ลักษมี คงลาภ” นักวิจัยโครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก ได้กล่าวถึงประเด็นการทำวิจัยใน ครั้งนี้ว่ามุ่งผลไปที่สถานการณ์การในการผลิตสื่อสำหรับเด็กของสื่อมวลชนในปัจจุบัน โดยให้ความสนใจ
ไปยังเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-12 ปี เป็นการรวบรวมปัญหาและอุปสรรคของสื่อในการผลิตผลงาน ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้คือ ช่องโทรทัศน์ที่ผลิตรายการสำหรับเด็กมากที่สุดคือ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ช่องทางวิทยุ เอฟ เอ็ม ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับเด็กมีเพียง 3 ช่องเท่านั้น

ในส่วนของนิตยสารมีเพียง 2 ฉบับที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ คือ นิตยสาร JUNIOR MAG และ นิตยสารแก็งค์เด็กสนุก ซึ่งแถมอยู่ในนิตยสาร คิดส์แอนด์สคูล สื่อหนังสือพิมพ์นั้นเปิดพื้นที่สำหรับเด็กน้อยมาก หนังสือพิมพ์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กมากที่สุดคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสดซึ่งให้ความสำคัญกับการลงข่าวของเยาวชนถึง 6 วัน ใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ ซึ่งมองว่าการผลิตรายการโทรทัศน์เด็กนั้นต้องทำบนพื้นฐานของการแข่งขันทางธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถคงอยู่ได้นาน

นอกเสียจากจะมีสายป่านสนับสนุนจากการทำธุรกิจอื่นๆควบอยู่ด้วย ทางผู้ผลิตต้องการอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง และฝากคำพูดทิ้งท้ายอย่างมีความหวังไว้ว่า

“การทำเรื่องตรงนี้ไม่ควรจะเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานใด หรือเอ็นจีโอใดแต่ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายมากกว่า มันควรเป็นการทำงานที่มีความต่อเนื่อง เป็นรูปแบบและเป็นระบบที่ชัดเจนมากกว่านี้ค่ะ” ในขณะที่ “เข็มพร วิรุณราพันธ์” ผู้จัดการโครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า

จะมีการนำเสนอในเรื่องยุทธศาสตร์ภาพรวมโดยอ้างอิงจากการวิจัย“เรื่องการนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กของสื่อมวลชนในปัจจุบัน”ของ ผศ.ลักษมี คงลาภและคณะทำงาน นักวิจัยโครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก ซึ่งผลที่ได้พบว่าพื้นที่สื่อสำหรับเด็กมีน้อยลง น้อยกว่าในอดีต จากการวิจัยพบปัญหาและอุปสรรคในการผลิตสื่อ สานต่อจากการวิจัยในปี2546 มีการร่วมมือกันหลายด้าน โดยรัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนพื้นที่รายการเด็ก เพิ่มเติมกลไกลต่างๆ ส่งเสริมและพัฒนา กองทุน โดยในงานครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มีส่วนสนับสนุน 6 โครงการด้วยกัน เพื่อให้เกิดสื่อตัวแบบสำหรับเด็ก

โดยเป็นกิจกรรมที่เด็กมีส่วนร่วมในการผลิต เช่นโครงการการผลิตหนังสั้นเพื่อเด็กจากมืออาชีพ , สารคดีท้องถิ่นที่ผลิตโดยเด็กเยาวชน กลุ่มมดตะนอย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, การพัฒนาลิเกพื้นบ้านให้เป็นลิเกสำหรับเด็ก, ส่งเสริมดนตรีสำหรับเด็ก จัดทำเป็นซีดี เทปเพลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของเด็กๆเอง

ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตอยากจะให้มีการผลักดันให้เกิดสิ่งดีๆตามยุทธศาสตร์ที่ได้ร่วมกันวางไว้ เพิ่มพื้นที่สื่อสำหรับเด็ก ในทุกแขนงสื่อ เกิดสื่อทางเลือก ขยายผลไปถึงชุมชน เกิดเป็นกลไกที่สนับสนุนให้สื่อเพื่อเด็กคงอยู่ได้นานยิ่งขึ้นบนจอโทรทัศน์ มีความหลากหลายมากขึ้น บนพื้นฐานของความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ให้สื่อเข้าถึงเด็กทุกคนไม่ว่าเขาอยู่ในชนบท หรือในเด็กพิการ และเข้าถึงในทุกชุมชน โดยอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากนี้เราจะเปิดรับโครงการอื่นๆและสนับสนุนโครงการที่ทำงานคล้ายๆกับเราเพื่อกระจายไปสู่ในทุกชุมชน โดยจะมีนักวิชาการ เด็กในพื้นที่ และคนที่ผลิตสื่อสำหรับเด็กอยู่ เข้าร่วมประชุมกันตามท้องถิ่นต่างๆทั้ง 4 ภาค เพื่อพัฒนาเครือข่ายสื่อสำหรับเด็กให้โยงใยถึงกันมากยิ่งขึ้น และในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2548 เวลา 13.00น. ณ หอประชุม Hall of Flam มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมากจะมีกิจกรรมการเสวนา “ในย่ามลุงเนาว์”

ภายใต้โครงการทีวีดีดีของเครือข่าย สสส. ต่อเนื่องไปในเดือนมกราคมกับกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “1001 ไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์ทีวีดีดี” ในวันที่ 27-29 มกราคม 2549 ณ ภัทราวดี เธียเตอร์ ซอยวัดระฆัง เป็นโครงการที่เราจะขับเคลื่อนกันต่อไปในอนาคตค่ะ”