ปีใหม่ปีจอ : เอ็มเอ็มเอส – ช็อปปิ้งออนไลน์..ขยายตัว

เทศกาลส่งความสุขในช่วงท้ายของปีเวียนกลับมาอีกครั้ง ในช่วงนี้หลากหลายธุรกิจมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายซื้อหาสินค้าเพื่อร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่ กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากการจ่ายโบนัสปลายปี แนวโน้มของเศรษฐกิจปี 2548 ที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2549 ก็จะมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การยอมรับและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทำให้รูปแบบในการดำรงชีวิตเริ่มปรับเปลี่ยนตามไปด้วย โดยเฉพาะการแพร่กระจายของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นและเริ่มมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารช่องทางเดิมที่เคยได้รับความนิยม เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน ไปรษณีย์ มีอัตราการขยายตัวลดลงจนถึงมีการใช้งานลดลงกว่าเดิม เนื่องจากการใช้การ์ดอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Card) และ การส่งข้อความอวยพรผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งเอสเอ็มเอสและเอ็มเอ็มเอส แทนการส่งการ์ดอวยพรกระดาษผ่านทางไปรษณีย์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจะมีจำนวนประมาณ 31.2 ล้านเลขหมาย และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 8.4 ล้านราย

สำหรับการใช้บริการสื่อสารประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี 2548 ต่อเนื่องในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปริมาณการใช้บริการในช่วงดังกล่าวดังนี้

โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงเทศกาลต่างๆ ปริมาณการใช้โทรศัพย์เคลื่อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยแบ่งออกเป็น
1) การใช้บริการทางด้านเสียง (voice service) หรือ บริการทางด้านเสียง (โทรออก-รับสาย) เพื่อกล่าวคำอวยพร ซึ่งได้รับความนิยมสูงกว่าการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก

2) บริการเสริม (value-added services) ซึ่งกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมและมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริการที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการส่งข้อความสั้น หรือ SMS (Short Massage Service) รองลงมาเป็นบริการส่งข้อความมัลติมีเดีย หรือ MMS (Multimedia Message Service) ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2548 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เคยใช้บริการส่งข้อความสั้น เร้อยละ 84. 1 และมีผู้ใช้บริการที่เคยส่งข้อความมัลติมีเดีย ร้อยละ 15.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.9 ในปี 2547 นอกจากนี้บริการเสริมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ บริการดาวน์โหลดริงโทน ร้อยละ 57.6 ดาวน์โหลดรูปภาพ ร้อยละ 46.5 ในขณะที่การใช้บริการ WAP หรือ GPRS ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีการใช้งานถึงร้อยละ 20.4

ในช่วงปกติที่ผ่านมา การส่งข้อความสั้นมีปริมาณการส่งโดยเฉลี่ยประมาณวันละ 5 ล้านข้อความต่อวัน หรือ 150 ล้านข้อความต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความคุ้นเคยกับบริการส่งข้อความสั้นมากขึ้น และพัฒนาไปสู่การส่งข้อความมัลติมีเดีย เมื่อโครงข่ายได้รับการพัฒนาให้สามารถส่งข้อความไปมาระหว่างโครงข่ายของผู้ให้บริการแต่ละรายได้ นอกจากนี้เครื่องลูกข่ายที่รองรับบริการก็มีแนวโน้มของราคาต่ำลงด้วย พร้อมทั้งอัตราค่าบริการมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเทียบกับการใช้บริการทางด้านเสียงแล้ว เอสเอ็มเอสจะเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างบุคคล (person to person) ที่ถูกที่สุดคือสามารถสื่อสารได้ใจความในครั้งเดียวของการส่ง นอกจากนี้คอนเทนท์หรือเนื้อหาของบริการ (application to person) ยังมีความหลากหลายและเป็นส่วนกระตุ้นให้มีการส่งเอสเอ็มเอสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ คอนเทนท์ทางด้านความบันเทิง ทั้งในรูปแบบของการส่งข้อความเข้าร่วมกับรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงความคิดเห็น การโหวตลงคะแนนผลตัดสินการประกวดร้องเพลง การตอบปัญหาชิงรางวัล และรวมไปถึงการส่งเอสเอ็มเอสชิงรางวัลจากสินค้าและบริการประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม บัตรเครดิต ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ล้วนแต่มีการนำเอสเอ็มเอสมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบใหม่กันอย่างกว้างขวาง

สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของขวัญของคนกรุงเทพในระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2548 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ร้อยละ 22.9 ของกลุ่มตัวอย่างนิยมส่งข้อความจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2006 (31 ธันวาคม 2548 – 1 มกราคม 2549) จะมีผู้ใช้บริการส่งข้อความเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติประมาณ 5 เท่า หรือรวมเป็นจำนวนประมาณ 50 ล้านข้อความ โดยกลุ่มพนักงานบริษัท เป็นกลุ่มที่มีการใช้บริการส่งข้อความอวยพรปีใหม่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.5 ของผู้ที่ส่งข้อความทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 23.9 กลุ่มข้าราชการ คิดเป็นร้อยละ 19.2 และกลุ่มกิจการส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 11.6 ซึ่งหากเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2547 จะพบว่า ปริมาณการส่งข้อความปีใหม่ในกลุ่มของพนักงานบริษัทมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงปีใหม่ของปีนี้ คาดว่า ปริมาณการส่งข้อความมัลติมีเดียจะมีอัตราการส่งเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอัตราค่าบริการได้ปรับลดลงจาก 15 บาทต่อครั้งเหลือเพียง 3-6 บาทต่อครั้งเท่านั้น หรือผู้ใช้บริการอาจซื้อแพ็กเก็จส่งข้อความได้ในราคาพิเศษเพื่อส่งในช่วงเทศกาล ซึ่งจะมีทั้งบริการส่งข้อความข้อความสำเร็จรูป ข้อความรูปภาพ และ ข้อความภาพเคลื่อนไหว ที่ผู้ใช้บริการสามารถหาดาวน์โหลดได้จากผู้ให้บริการคอนเทนท์ทั่วไป ซึ่งลงประกาศโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แผ่นพับ หรือ ทางเว็บไซต์ จะได้รับความนิยมขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการบางรายส่งข้อความไปยังผู้ใช้บริการ หรือสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ เพื่อหวังให้ผู้รับได้ทำการส่งต่อ (forward) ไปให้กับผู้รับรายอื่นๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นปริมาณการใช้งานอีกทางหนึ่ง นอกเหลือจากการให้บริการส่งข้อความแล้วยังมีบริการเสริมอื่นๆที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เช่น การส่งเพลง ให้กับผู้รับสายปลายทาง โดยมีค่าบริการ 18-20 บาทต่อครั้งอีกด้วย

บริการอินเทอร์เน็ต จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มจำนวนเป็น 8.4 ล้านราย ในปี 2548 นั้น จะมีส่วนผลักดันให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลายในการส่งข้อความส่งความสุขมีการขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เมล์ และ การ์ดอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-การ์ด จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าปกติประมาณร้อยละ 30-40
จากการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของขวัญของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2547 พบว่า ร้อยละ 7.4 ของกลุ่มตัวอย่างจะใช้บริการส่งอี-การ์ดเพื่ออวยพรในวันปีใหม่กับผู้อื่น ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจในปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณเพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่นิยมส่งอี-การ์ดมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มพนักงานบริษัท คิดเป็นร้อยละ 36.9 รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 30.3 กลุ่มข้าราชการ คิดเป็นร้อยละ 17.4 และกลุ่มเจ้าของกิจการ คิดเป็นร้อยละ 11.5

บริการ อี-การ์ด มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกปี นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวผลักดันแล้ว ยังมีความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ก้าวเข้าสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและจุดเด่นของบริการ อี-การ์ด ก็คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย รวดเร็วในการส่ง นอกจากนี้ยังมีสีสันสวยงาม รูปแบบมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งการ์ดธรรมดา การ์ดดนตรี และการ์ดที่เคลื่อนไหวได้ มีบริการให้เลือกทั้งที่เป็นบริการฟรี และบริการที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนมากบริการอี-การ์ดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้นจะมีรูปแบบของการ์ดที่สวยงามและเทคนิคการสร้างที่ซับซ้อนให้เลือกใช้บริการมากกว่า อย่างไรก็ตามบริการดังกล่าวยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยมากนัก ประกอบการความไม่มั่นในกับระบบการชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-payment ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำให้การธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากนัก

นอกเหนือจากการส่งการ์ดอวยพรแล้ว ยังมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งที่สั่งซื้อของขวัญและของกำนัลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับความนิยมมากในตลาดต่างประเทศและแพร่หลายเข้ามาในประเทศ และมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น การใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.9 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2546 เป็นร้อยละ 29.9 ในปี 2547 กลุ่มผู้ชายมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าเพศหญิง และสินค้าที่ได้รับความนิยมมากคือ หนังสือ คิดเป็นร้อยละ 41.9 รองลงมาเป็นซอฟท์แวร์ ภาพยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และการสั่งจองสินค้าต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า บริการสื่อสารได้พัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลายขึ้น สนองตอบความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น ทั้งในด้านรูปแบบ ความเร็ว และค่าใช้จ่าย เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตนั้น มีแนวโน้มว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยเรามากขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข อย่างไรก็ตาม แม้การสื่อสารในยุคปัจจุบันจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่เป็นอยู่และไม่เป็นภาระต่อตนเองมากจนเกินไป