แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดจีนปี 2549

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2548 และ 2549 จะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกันราว 4.3%

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังพัฒนาไม่เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่ประเทศทั้งสามมีความสำคัญต่อประเทศอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตสินค้า เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ เป็นต้น

ช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกัมพูชา ลาว และพม่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2548 และปี 2549 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.3% และ 6.1% ตามลำดับ เทียบกับอัตราขยายตัว 7.7% ในปี 2547 เศรษฐกิจลาวจะขยายตัว 7.3% ในปี 2548 และ 7% ในปี 2549 จากที่ขยายตัว 6.4% ในปี 2547 ส่วนเศรษฐกิจของพม่าจะเติบโต 4.5% ในปี 2548 และ 3.5% ในปี 2549 เทียบกับอัตราเติบโต 5% ในปี 2547

เศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า ในปี 2549 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตในปี 2548 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศทั้งสามยังคงได้รับแรงเกื้อหนุนจากการขยายตัวของการส่งออก การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติ การระบาดของโรคไข้หวัดนก และแนวโน้มราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า สรุปได้ดังนี้

1. การขยายตัวของสินค้าส่งออกของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า
? สินค้าเกษตร – จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยาและแม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย โดยไทยซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของลาว และพม่า ตกลงยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มันฝรั่ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน และไม้ยูคาลิปตัส และส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปร่วมผลิตสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้านและรับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า การทำสัญญาเกษตรพันธะ (contract farming) โดยส่งออกสินค้าเกษตรเหล่านี้มาไทยโดยไม่เสียภาษี ทำให้สินค้าเกษตรส่งออกของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า มีช่องทางขยายตลาดในประเทศไทยได้กว้างขวางขึ้น

ภาคเกษตรกรรม เป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญสำหรับประเทศกลุ่มอินโดจีน มูลค่าภาคเกษตรต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นสัดส่วนราว 39% 53% และ 54.6% สำหรับกัมพูชา ลาว และพม่า ตามลำดับ ประชาชนราว 80% ของประเทศเหล่านี้อาศัยอยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้นการส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคชนบทของประเทศเหล่านี้ และส่งเสริมฐานะของประชาชนที่มีรายได้ต่ำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขึ้น

? สินค้าอุตสาหกรรม – ส่งออกสิ่งทอ & เสื้อผ้าสดใสหลังเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของโลก
หลังจากเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของโลกในวันที่ 1 มกราคม 2548 ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งกัมพูชาและลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอ โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2548 บังคลาเทศ กัมพูชา และศรีลังกา ส่งออกสิ่งทอไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10%

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมของกัมพูชาช่วงครึ่งปีแรก 2548 มีมูลค่า 820 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ทั้งนี้ รายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาเป็นแหล่งรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศสำคัญที่สุดของกัมพูชา กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2547 ขยายตัวถึง 25% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 (สัดส่วน 65% ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดของกัมพูชา) รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป (สัดส่วน 29%) และอื่นๆ (สัดส่วน 6%)

สำหรับลาว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอช่วงครึ่งปีแรก 2548 มีมูลค่า 62.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลาวส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอไปสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนถึง 95% ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวทั้งหมด ปัจจุบันมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น ไทย และเวียดนามย้ายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอเข้าไปในลาว เนื่องจากค่าแรงงานในลาวต่ำกว่า

ช่วงกลางปี 2548 จีนเผชิญกับมาตรการจำกัดการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ภายใต้มาตการ Safeguard Measure ของ WTO ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2551 ส่งผลให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหันไปนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นการทดแทน เป็นผลดีต่อกัมพูชาและลาวที่มีแนวโน้มว่าการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2549 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระดับปกติ (Normal Trade Relation) กับลาวในปี 2547 ทำให้ลาวได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ให้กับสินค้าจากลาวหลายประเภทเหลือ 5-20% จากเดิมที่ลาวต้องเผชิญกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ สูงถึง 40-90% ทำให้สินค้าส่งออกจากลาวสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น จากช่วงก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2541-2545 ลาวมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณปีละ 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่ของลาวมาจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ทางด้านการส่งออกของพม่า แม้ว่าการส่งออกของพม่าถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ในปี 2546 เนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอของพม่าไปสหรัฐฯ เคยขยายตัวได้ดี การส่งออกสินค้ารายการนี้ไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอทั้งหมดของพม่า ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของพม่าอันดับ 2 รองจากไทย อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกของพม่าไปสหรัฐฯ ไม่ค่อยแจ่มใสนัก แต่การส่งออกทั้งหมดของพม่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากพม่าส่งสินค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียได้เพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศไทย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่าที่คาดว่าจะมีปริมาณสำรองมากและขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและขุดเจาะ ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของพม่าที่นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก ส่วนสินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ของพม่า ได้แก่ ไม้สักและผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

•ความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-อินโดจีน
ไทยนับว่าเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ลาว และพม่า โดยไทยเป็นประเทศตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของลาว และพม่า ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2548 ลาวส่งออกมาไทยมูลค่า 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 84% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 พม่าส่งออกมาไทยมูลค่า 1,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 33% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 สำหรับกัมพูชา แม้ไทยไม่ได้เป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา เพราะตลาดส่งออกหลักของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี และอังกฤษ เนื่องจากกัมพูชาได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศเหล่านี้ แต่ไทยเป็นประเทศที่กัมพูชานำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา ทั้งนี้ กัมพูชานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากไทยมากที่สุด มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาจากไทย รองลงมา ได้แก่ น้ำตาลทราย ปูนซีเมนต์ และเครื่องดื่ม

คาดว่าการขยายตัวของสินค้าส่งออกของกัมพูชาและลาวในปี 2548 และปี 2549 จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศทั้งสอง ที่ขาดดุลการค้าติดต่อกันมาหลายปี โดยในปี 2547 กัมพูชาขาดดุลการค้ามูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลาวขาดดุลการค้าราว 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับพม่า ปรากฏยอดเกินดุลการค้ากับต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

2. การลงทุนภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภค & การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
รัฐบาลของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่ามีแผนขยายการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ประชาชน ประกอบกับการที่ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เช่น การปรับปรุงถนนในกัมพูชาเพื่อเกื้อหนุนการลงทุน การค้าและการท่องเที่ยว ส่วนลาวร่วมมือกับไทยและฝรั่งเศสสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชามีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2548 โดยช่วง 10 เดือนแรกปี 2548 โครงการลงทุนใหม่และโครงการขยายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนสูงสุดนับจากปี 2542 รวมมูลค่า 976 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชาส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนด้านการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป/สิ่งทอ ก่อสร้าง การท่องเที่ยว ไม้แปรรูป น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ และปูนซีเมนต์ ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากที่สุด ได้แก่ จีน โดยโครงการลงทุนของจีนได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนช่วง 10 เดือนแรกปี 2548 มูลค่า 442 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ ไทย (66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไต้หวัน (41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นต้น

ส่วนเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในลาวในสาขาหลัก ได้แก่ ด้านพลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า (hydropower) และการทำเหมือง ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ลาวได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงปลายปี 2552 ถือเป็นโครงการลงทุนของต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในลาว โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างลาว ไทย และฝรั่งเศส มูลค่าก่อสร้าง 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทางการลาวจะได้รับรายได้จากการให้สัมปทานการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ค่าภาคหลวง ภาษีและเงินปันผลจากผลการดำเนินการ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS เพื่อหาพลังงานทดแทนการใช้น้ำมัน และผลักดันให้ลาวเป็นแหล่งพลังงานของเอเชีย

ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาวเป็นอันดับ 1 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 โครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนจากลาวมีมูลค่า 451 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับปี 2547 ไทยลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น 20.75% จากปี 2546 คิดเป็นสัดส่วน 10.6% ของมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในลาว และมีแนวโน้มที่ไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ลาว และพม่ามากขึ้นในปี 2549 เพราะผู้ประกอบการไทยมีแผนย้ายฐานการผลิตอ้อยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเข้าไปทำสัญญาและส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานในไทย เนื่องจากไทยประสบปัญหาผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องผลิตเอธานอล

สำหรับพม่า แม้พม่าจะถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า แต่ในปี 2547 นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าเป็นมูลค่าสูงราว 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 34.7% จากปี 2546 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากประเทศเกาหลีใต้ จีน และไทย นอกจากนั้นเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ การขนส่ง และธุรกิจโรงแรม ในปี 2547 จีนเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่ามากเป็นอันดับ 1 มูลค่าลงทุนกว่า 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในพม่า

พม่ามีก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก การส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศอันดับ 1 ของพม่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของพม่าระบุว่า พม่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ขุดเจาะบนชายฝั่ง 19 แหล่ง และแหล่งขนาดใหญ่นอกชายฝั่งอีก 3 แหล่ง คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองรวมกัน 2.5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมันดิบสำรองรวม 3,200 ล้านบาร์เรล ในปี 2547 พม่ามีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรวม 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ นับตั้งแต่พม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วงปลายปี 2531 จนถึงปลายปี 2546 มีการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวม 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบริษัทน้ำมันต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่ามาจากประเทศอังกฤษ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และแคนาดา ในบรรดาประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่ามากเป็นอันดับ 1 รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

นับว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชา ลาว และพม่ายังขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และค่าแรงงานต่ำ จึงเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของประเทศในภูมิภาคและนอกภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค/โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

3. การท่องเที่ยวขยายตัว การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า เพราะเป็นแหล่งนำรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศที่สำคัญ การท่องเที่ยวของกัมพูชา ลาว และพม่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีโบราณสถานเก่าแก่และเป็นที่ตั้งของเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก จึงเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สนใจเดินทางไปเที่ยวชม ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชาจำนวน 683,000 คน เพิ่มขึ้นราว 40% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ทางการกัมพูชาคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2549 และ 3 ล้านคน ในปี 2553 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ไทย ไต้หวัน จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์

สำหรับลาว ในปี 2547 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปลาวจำนวนมากกว่า 890,000 คน สำหรับ 6 เดือนแรกปี 2548 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปลาวจำนวนราว 550,000 คนเพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันปี 2547 โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 314,250 คน เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ชาวเวียดนาม 79,092 คน (เพิ่มขึ้น 39%) และชาวอเมริกัน 23,646 คน (เพิ่มขึ้น 24%) ส่วนพม่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพม่าจำนวน 656,910 คน ในปี 2547 เพิ่มขึ้น 10% จากจำนวน 597,015 คน ในปี 2546

4. โอกาสจากการเปิดเสรีทางการค้าของโลก
ปัจจุบันการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าสู่ตลาดภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยังคงมีอุปสรรค อาทิ การกำหนดโควตานำเข้าข้าว การกำหนดอัตราภาษีสูงสำหรับสินค้านอกโควตา (over-quota import) นอกจากนี้ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังคงมีท่าทีปกป้องการปฏิรูปนโยบายภาคการเกษตร อีกทั้งโครงสร้างภาษีภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังคงต่างกันมากระหว่างสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบกับสินค้าเกษตรแปรรูป คือ อัตราภาษีสินค้าเกษตรแปรรูปอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราภาษีสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตรเป็น 0% ซึ่งการกำหนดภาษีเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อย่างกัมพูชา ลาว และพม่า ในการพัฒนาสินค้าเกษตรส่งออกไปสู่สินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ ประเทศฮ่องกง ระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2548 แม้ว่ายังไม่ได้สามารถปิดรอบการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาได้สำเร็จ แต่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร คือ ประเทศสมาชิก WTO จะต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรทุกรูปแบบภายในปี 2556 ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วที่ปกป้องภาคเกษตรอย่างมาก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร เพราะสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ส่งออกสินค้าเกษตรด้วย แต่ประเทศกำลังพัฒนาควรระวังไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้วหาช่องทางกีดกันสินค้าเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าสู่ตลาดประเทศพัฒนาแล้วโดยใช้รูปแบบอื่นๆ

การหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในกรอบ WTO ที่มีเป้าหมายให้กระบวนการของการค้าชายแดนมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศรายได้ต่ำ เช่น กัมพูชา ลาว และพม่า ในการปรับปรุงกระบวนการของการค้าชายแดน เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบและเพิ่มกำไรให้กับผู้ส่งออกของประเทศ

? ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดจีนในปี 2549 สรุปได้ดังนี้

1) ภัยคุกคามจากไข้หวัดนก – การระบาดของโรคไข้หวัดนกมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคระบาดซ้ำซาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ปีกในประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม รวมถึงกัมพูชาและลาว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารสัตว์ปีกที่ถูกมาตรการห้ามนำเข้าจากตลาดส่งออกสำคัญๆ ดังนั้น โรคไข้หวัดนกจึงเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า หากไม่มีการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

2) ราคาน้ำมัน – คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2549 ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของกัมพูชา ลาว และพม่า มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ IMF ประมาณการว่าปี 2548 กัมพูชา ลาว และพม่า จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นสัดส่วน 4.8%, 6.4% และ 0.7% ต่อ GDP ตามลำดับ

3) มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ – ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยเฉพาะการกักตัวนางอองซาน ซูจี ทำให้นานาประเทศคว่ำบาตรพม่า ดังนั้น หากการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองในพม่ายังไม่มีความคืบหน้า จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของพม่า บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และกระทบต่อการท่องเที่ยวในพม่า ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงผลลบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียนในสายตาชาวโลก จึงพยายามกดดันให้พม่าปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย โดยที่ประชุมผู้นำอาเซียนในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตกลงส่งผู้แทนอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ในพม่า นับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อปัญหาทางการเมืองของพม่า

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของกัมพูชา ลาว และพม่า จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศทั้งสาม อีกทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกับจีน ไทย และเวียดนาม เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้กัมพูชา ลาว และพม่า มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นสมาชิกรุ่นหลังของอาเซียน (ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2540 และกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542) ประเทศทั้งสามจะต้องยกเลิกภาษีสินค้าใน 9 สาขา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร, ประมง, ผลิตภัณฑ์ไม้, ผลิตภัณฑ์ยาง, สิ่งทอ, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, เทคโนโลยี-สารสนเทศ และสาขาสุขภาพ ภายในปี 2555 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเร่งรัดการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2563 จะทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า รวมตัวกับประเทศอาเซียนเดิมอีก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนฯ และเวียดนาม โดยอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวและมีฐานการผลิตร่วมกัน รวมทั้งจะต้องเปิดเสรีการค้าสินค้า ภาคบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า อย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนโดยรวม