FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 : ย้ำจุดยืน ยึดประโยชน์ร่วมกัน

การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย มีความเข้มข้นของเนื้อหาการเจรจาต่อรองเพื่อเปิดเสรี หลังจากการเจรจาใน 5 รอบที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเจรจาและทำความเข้าใจท่าทีของแต่ละฝ่าย จึงไม่เกิดผลคืบหน้าของการเจรจามากนัก ที่สำคัญ การเจรจาครั้งนี้องค์กรภาคประชาชนของไทยกว่า 10 องค์กรที่คัดค้านการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ รวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการเจรจากับสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าไทยเสียเปรียบสหรัฐฯ ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ผู้ป่วยไทยจะได้รับผลกระทบจากราคายาที่สูงขึ้น และการเข้าถึงยาเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากความเข้มงวดของสิทธิบัตรยา การเปิดเสรีภาคบริการสาขาที่ไทยยังไม่มีความพร้อมต่อการแข่งขัน เช่น ภาคการเงิน สาขาวิชาชีพ รวมทั้งความกังวลว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาผูกขาดธุรกิจในไทยหลังจากการเปิดเสรีกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภค (หลังจากการแปรรูปแล้ว) เช่น กิจการไฟฟ้า และประปา ที่สำคัญองค์กรภาคประชาชนของไทยเห็นว่า ภาครัฐไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาทั้งหมด ไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาเปิดเสรี FTA กับสหรัฐฯ โดยเห็นว่ารัฐบาลควรขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการลงนามความตกลง FTA กับสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มีลักษณะกว้างครอบคลุมทุกเรื่อง (comprehensive) ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ที่สหรัฐฯ ต้องการให้มีลักษณะการผูกพันการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผูกพันในระยะยาวกับประเทศไทย ต่างกับความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีที่ไทยลงนามไปแล้วกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ไม่ได้ผูกพันความเข้มงวดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ความตกลง FTA กับ 2 ประเทศดังกล่าวจึงไม่ได้ส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาคบริการของไทยที่ยังไม่พร้อมจะเปิดเสรี ได้แก่ สาขาการเงินและโทรคมนาคม ไทยยังไม่มีข้อผูกพันกับออสเตรเลียเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ไทยและออสเตรเลียตกลงที่จะเจรจากันอีกครั้งภายในปี 2551 ส่วนความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ยังไม่ได้ครอบคลุมการเปิดเสรีภาคบริการ แต่จะเจรจาเปิดตลาดภาคบริการภายในปี 2551 เช่นกัน

ท่าทีของสหรัฐฯ จากการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดภาคบริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด การกำหนดมาตรฐานระดับสูงในการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ล้วนเป็นประเด็นที่ระบุในกฎหมายส่งเสริมทางการค้าของสหรัฐฯ (Trade Promotion Authority Act) ที่มอบอำนาจ “Fast Track” ให้ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ เจรจาตามแนวทางของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปรากฏให้เห็นในความตกลง FTA ทวิภาคีที่สหรัฐฯ จัดทำกับสิงคโปร์ และชิลี

หากการเจรจากับสหรัฐฯ ทำให้ไทยต้องยอมรับข้อผูกพันดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ไทยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ เช่น การอนุญาตให้คนสหรัฐฯ เข้ามาประกอบอาชีพซึ่งปัจจุบันสงวนไว้เฉพาะสำหรับคนไทย การเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติให้สหรัฐฯ ในธุรกิจบางประเภท หรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งผู้ประกอบการและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วไป ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งรีบเจรจากับสหรัฐฯ ควรพิจารณาในแต่ละประเด็นอย่างรอบคอบ

FTA ไทย-สหรัฐฯ : ข้อควรระวัง

1. เปิดตลาดสินค้าเกษตร :

ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทย ต้องการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีเพื่อรักษาตลาดส่งออกเดิม และขยายตลาดส่งออกใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทย ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยการจัดทำ FTA จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีและด้านที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ระหว่างกันได้ ดังนั้น การจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ น่าจะส่งผลให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

โดยที่สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของไทย หากไทยไม่จัดทำ FTA กับสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะเสียเปรียบสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่จัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ทำให้สินค้าของประเทศเหล่านี้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ สะดวกขึ้นจากการลดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการ NTBs ของสหรัฐฯ ประเทศที่จัดทำความตกลง FTA กับสหรัฐฯ ไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ บาเรนห์ และชิลี ส่วนประเทศอาเซียนที่สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจา FTA เช่นเดียวกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย

การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ : มูลค่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ % เปลี่ยนแปลง
2545 2546 2547 2547
(ม.ค.-พ.ย.) 2548
(ม.ค.-พ.ย.) 2545 2546 2547 2548
(ม.ค.-พ.ย.)
มูลค่าการค่ารวม 19,656.5 20,688.8 22,714.9 20,845.5 23,583.8 -3.45 5.25 9.79 13.14
การส่งออก 13,509.4 13,596.2 15,508.5 14,182.5 15,657.8 2.35 .64 14.06 10.40
การนำเข้า 6,147.0 7,092.6 7,206.4 6,663.0 7,926.0 -14.14 15.38 1.60 18.96
ดุลการค้า 7,362.4 6,503.5 8,302.1 7,519.5 7,731.9 21.9
-11.7
27.6
2.8
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีมูลค่าการค้ากับไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น มูลค่าการค้าไทย-สหรัฐฯ (ส่งออก+นำเข้า) ราว 23,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2548 คิดเป็นสัดส่วน 11% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าเป็นอันดับ 3 (สัดส่วน 7.3% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2548) รองจากญี่ปุ่น (22%) และจีน (9.36%) ซึ่งจีนแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทยครั้งแรกในปี 2547 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ยอดเกินดุลในช่วง 11 เดือนแรกปี 2548 มีมูลค่าราว 7,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.82% จากช่วงเดียวกันปี 2547 ที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ 7,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรแปรรูป คิดเป็นสัดส่วน 82% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ไทยนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปกว่าครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากสหรัฐฯ รองลงมาเป็นสินค้าทุน (35.6%) และสินค้าอุปโภคบริโภค (7.9%) สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากสหรัฐฯ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

ในช่วงที่ผ่านๆ มา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.5% ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมดไปสหรัฐฯ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงคุ้มครองภาคการเกษตรภายในประเทศ ขณะเดียวกันไทยปกป้องสินค้าเกษตรบางรายการเช่นกัน การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ในประเด็นการเปิดเสรีสินค้าเกษตรจึงมีจุดยืนที่ต่างกัน และเป็นประเด็นอ่อนไหวในการเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้แก่กันและกัน

การเปิดเสรีการค้าสินค้า (ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม)

สหรัฐฯ เรียกร้องไทยภายใต้ FTA ไทยเรียกร้องสหรัฐฯ ภายใต้ FTA
– เปิดตลาดเนื้อโค ข้าวโพด ถั่วเหลือง
(ภาษีถั่วเหลืองของไทยเป็น 0 % แล้ว แต่ไทยมีข้อกำหนดให้ผู้นำเข้าของไทยต้องซื้อถั่วเหลืองในประเทศให้หมดก่อน จึงจะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ )
– สินค้าอุตสาหกรรม : N.A. – เปิดตลาดข้าว น้ำตาล ขนมที่ทำจากข้าว ผลไม้เมืองร้อน
– ลดภาษีรองเท้า ปลาทูน่า กระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณี เสื้อผ้าและสิ่งทอ เซรามิค แก้ว และกระจก

ขณะนี้ไทยกับสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองการลดภาษีสินค้า การเปิดเสรีการค้าสินค้ากับสหรัฐฯ ไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สิ่งทอ/เสื้อผ้า ยานยนต์ อัญมณี และปลาทูน่ากระป๋อง รวมถึงการลดอุปสรรคด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ขณะเดียวกันสินค้าภาคเกษตรที่ไทยยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อโค รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการของไทยที่จะต้องลดภาษีให้สหรัฐฯ ทันที (สินค้าอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดยังไม่ปรากฏชัดเจน) ดังนั้น การเจรจา FTA ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรจะต้องพิจารณาผลดีที่คาดว่าจะได้รับเปรียบเทียบกับผลกระทบด้านลบอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม การจัดทำ FTA ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมเรื่องการค้าบริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมประเด็นเจรจาถึงกว่า 20 หัวข้อ ผลของข้อผูกพันภายใต้ความตกลงฯ จึงครอบคลุมกว้างและลึก

2. ธุรกิจบริการ : ไทยจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เพื่อแทนที่สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (Treaty of Amity and Economic Relations between the Kingdom of Thailand and the United States of America) ที่จัดทำขึ้นในปี 2509 ประกอบกับไทยได้ขอยกเว้นการให้การปฎิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation Treatment : MFN) หรือที่เรียกว่า MFN Exemption กับองค์การการค้าโลกภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการขององค์การการค้าโลก (General Agreement on Trade in Services : GATS) มีระยะเวลา 10 ปี โดยการยกเว้นดังกล่าวหมดอายุลงในปี 2547 (ในช่วงเวลา 10 ปีที่ไทยได้รับการยกเว้นดังกล่าว ไทยไม่ต้องให้สิทธิแก่สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อื่นๆ ภายใต้สนธิสัญญาฯ นี้ เช่นเดียวกับที่ไทยให้สิทธิกับสหรัฐฯ) ส่งผลให้ไทยต้องขยายสิทธิให้กับประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ เท่าเทียมกับที่ไทยให้กับสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาฯ ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นขอต่ออายุ MFN Exemption กับ WTO ไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของ WTO

ภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีฯ ดังกล่าว ไทยและสหรัฐฯ ให้สิทธิแก่กันในการประกอบธุรกิจทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การคลัง ธุรกิจอื่นๆ ยกเว้น 6 สาขา/กิจกรรม ได้แก่ (1) สาขาคมนาคม (2) การขนส่ง (3) การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น (4) การธนาคารที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน (5) การแสวงหาประโยชน์จากที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และ (6) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางเกษตรพื้นเมือง

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ จึงเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้สิทธิในการประกอบกิจการทางพาณิชย์ อุตสาหกรรม การคลัง และธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ไม่เกิน 49% ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ยกเว้น 6 สาขากิจกรรมข้างต้น แตกต่างจากชาติสมาชิก WTO อื่นๆ ที่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นตามพันธกรณีที่ไทยผูกพันไว้กับ GATS ขณะเดียวกันคนไทยได้สิทธิเดียวกันนี้ในการประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ

การที่ไทยไม่ต้องการเปิดเสรีภาคบริการให้กับประเทศอื่นๆ เท่าเทียมกับที่เปิดเสรีให้สหรัฐฯ ภายในสนธิสัญญาฯ ดังกล่าว และ MFN Exemption หมดอายุลงในปี 2547 (ซึ่งประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ มีสิทธิ์เรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีให้ทัดเทียมกับสหรัฐฯ ภายใต้หลักการ MFN) ไทยจึงจำเป็นต้องแปลงสนธิสัญญานี้ มาเป็นการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เพราะภายใต้ความตกลงของ WTO ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำ FTA ทวิภาคีกันได้ โดยไม่ต้องขยายผลที่ให้ภายใต้ FTA กับประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ถ้าไทยไม่จัดทำ FTA กับสหรัฐฯ และสนธิสัญญาฯ ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยไทยไม่ได้รับการต่ออายุ MFN Exemption จาก WTO ไทยต้องให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ให้แก่สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจของภาครัฐที่จะแปลง FTA ทวิภาคีแทนที่สนธิสัญญาทางไมตรีไทย-สหรัฐฯ อาจเกิดผลผูกพันกับไทยให้เปิดเสรีภาคบริการที่กว้างและลึกกว่าข้อผูกพันเดิมภายใต้สนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ เพราะการเปิดเสรีภาคบริการ ครอบคลุมทุกสาขา รวมถึงธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม การขนส่ง ที่แต่เดิมเป็นข้อยกเว้นของสนธิสัญญาไมตรีฯ ไทย-สหรัฐฯ

การเปิดเสรีภาคบริการ

สาขา/รูปแบบ การให้บริการ ท่าที/ความต้องการของสหรัฐฯ ภายใต้ FTA ท่าที/ความต้องการของไทยภายใต้ FTA
สาขาการเงิน เปิดเสรีภาคการเงินอย่างเต็มที่ – เปิดเสรีเฉพาะบริการทางการเงินที่ไทยมีความพร้อม
– เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไปตามแผนแม่บททางการเงินของไทย

สาขาโทรคมนาคม

เปิดเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด เปิดเสรีตามกฎหมายไทย
สาขาวิชาชีพนักบัญชี/นักกฎหมาย/วิศวกร/สถาปนิก/นักออกแบบ ให้ไทยยกเลิกอาชีพสงวน 39 อาชีพตามพระราชกฤษฎีกาการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2522 ชองไทย ชะลอการเปิดเสรีให้คนสหรัฐฯ เข้ามาทำงานในสาขาวิชาชีพ
สาขาสุขภาพ ให้ไทยเปิดเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด ชะลอการเปิดเสรี เพราะเกรงว่าจะทำให้วัฒนธรรมการรักษาของแพทย์ไทยถูกครอบงำโดยความคิดแบบตะวันตก
สาขาการศึกษา ให้ไทยเปิดเสรีโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา การฝึกอบรม และการศึกษาผู้ใหญ่ เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใต้กฎหมายไทย
สาขาลอจีสติก ให้ไทยเปิดเสรีบริการจัดส่งพัสดุด่วน (Express Delivery) – เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีข้อจำกัด
– ให้สหรัฐฯ เปิดตลาดด้านการจัดตั้งธุรกิจ ซ่อมรถยนต์ จำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์
– อนุญาตให้คนไทยเข้าไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเรือ
สาขาค้าปลีก ให้ไทยเปิดเสรีโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เปิดเสรีให้สหรัฐฯ โดยมีเงื่อนไข เช่น เงินลงทุนขั้นต่ำ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสัดส่วนเงินกู้ต่อทุน เป็นต้น
การเคลื่อนย้ายบุคคล ไทยต้องการให้สหรัฐฯ ให้โควตาพิเศษให้คนไทยสามารถไปประกอบวิชาชีพในสหรัฐฯ ได้

การเปิดเสรีภาคบริการ ส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่า เพราะในปัจจุบัน ภาคบริการของไทยยังมีข้อจำกัด/กฎระเบียบค่อนข้างมาก และยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันจากต่างชาติอย่างเต็มที่ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจแต่ละประเภท และพระราชกฤษฎีกาการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2522 ที่ห้ามคนต่างชาติทำงานในอาชีพสงวน 39 อาชีพของคนไทย เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย และวิศวกร รวมทั้งกฎหมายเฉพาะของสาขาบริการที่ระบุเงื่อนไขการเข้ามาประกอบธุรกิจของต่างชาติ เช่น สาขาการเงิน การขนส่ง และโทรคมนาคม การที่ไทยถูกกดดันจากสหรัฐฯ ให้เปิดเสรีภาคบริการ อาจส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายเหล่านี้

3. ทรัพย์สินทางปัญญา : ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นข้อพึงระวังในการเจรจากับสหรัฐฯ ทางการไทยควรมีจุดยืนชัดเจนและพิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไทยจะเสียเปรียบสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เช่น ยารักษาโรคต่างๆ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น หนังสือและเพลง การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ผูกขาดสิทธิ์นานขึ้น โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ทำให้ยาราคาแพงขึ้น และการเข้าถึงยาเป็นไปได้ยาก โดยสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเป็น 25 ปี จากเดิม 20 ปีที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO รวมถึงต้องการจำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) และการนำเข้าซ้อน (Parallel Import) ส่วนการกดดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants : UPOV) จะส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชของไทย เพราะหากนักวิจัยสหรัฐฯ นำพันธุ์พืชไทยไปวิจัยพัฒนาและจดสิทธิบัตร จะได้รับความคุ้มครองในสายพันธุ์พืชใหม่ดังกล่าว ทำให้ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของไทยได้อีกต่อไป

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา ท่าทีสหรัฐฯ ภายใต้ FTA ท่าทีไทยภายใต้ FTA
สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ – ให้ไทยคุ้มครองสิทธิบัตรยา 25 ปี (จากเดิม 20 ปี ตาม ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (Agreement on Trade-Related Intellectual Property Rights : TRIPs)
– ให้ไทยคุ้มครองลิขสิทธิ์ 70 ปี (จากเดิม 50 ปี ตามข้อตกลง TRIPs) – ต้องการคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (Agreement on Trade-Related Intellectual Property Rights : TRIPs) คือ คุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปี และคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี
การคุ้มครองพันธุ์พืช – ต้องการให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) – ต้องการยึดการคุ้มครองพันธุ์พืชตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ ปี พ.ศ.2522
การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ – – ต้องการให้สหรัฐฯ จดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม ผลไม้บางชนิด
การคุ้มครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น – – ข้อเสนอเชิงรุกในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เน้นหลักการแบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของภูมิปัญญา หากนำภูมิปัญญาของอีกฝ่ายไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า คณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วยคณะเจรจามากกว่า 20 คณะ มาจากผู้แทนทั้งภาครัฐและตัวแทนจากสมาคมภาคเอกชนต่างๆ เป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์ในการเจรจาต่อรอง รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีภาคบริการอย่างเต็มที่ในสาขาที่ไทยยังไม่พร้อมต่อการแข่งขัน และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ฝ่ายสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยาที่คนไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงหวังว่าคณะผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทยจะเจรจาโดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และไม่ควรมีข้อจำกัดด้านการกำหนดเวลาให้การเจรจาเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะประเด็นการเจรจาที่อ่อนไหว จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยยึดหลักผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ทางการไทยควรประชาสัมพันธ์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อรับการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ต่อไป
ผลของการที่ไทยจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต ทำให้มีทั้งผู้ได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ประกอบการที่สามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดประเทศคู่ค้า FTA ได้ง่ายขึ้น จากการลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษี และมาตรการ NTBs หรือผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายและราคาต่ำลง ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ประกอบการในสาขาการผลิตที่ถูกสินค้าของประเทศคู่ค้า FTA ที่มีศักยภาพมากกว่าเข้ามาตีตลาด สาขาบริการที่ยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันกับต่างชาติ (เช่น ค้าปลีก และสาขาวิชาชีพ) หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องซื้อยาราคาแพงขึ้นจากการเข้มงวดด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ภาครัฐจึงควรเข้ามาตรวจสอบและติดตามผลกระทบจากการจัดทำ FTA อย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอย่างครบวงจร โดยกำหนดเป็นแผนงานระยะยาว เช่น ด้านเงินช่วยเหลือ ด้านการศึกษา/พัฒนาบุคลากรในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เป็นต้น