กิจการโทรคมนาคม : ผลจากการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาจากต่างประเทศ

ข่าวการเข้ามาซื้อหุ้นของนักลงทุนจากต่างประเทศในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจของทุกฝ่ายในขณะนี้ ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ได้ครอบคลุมบริการโทรคมนาคมที่หลากหลาย เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการสื่อสารดาวเทียม บริการอินเทอร์เน็ต บริการทางด้านข้อมูล ธุรกิจโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้ได้เพิ่มบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากประเทศหนึ่งเพื่อเข้าซื้อกิจการโทรคมนาคมได้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกในขณะนี้ การขยายเครือข่ายการให้บริการของกิจการในลักษณะเดียวกันในหลายแห่งของโลกของบริษัทข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มขึ้น เพิ่มการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะนำมาซึ่งผลตอบแทนทางการเงินที่จะได้รับกลับมาในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงที่จะต้องมีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในประเทศเพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ประเทศที่ไทยจะตกลงเปิดเสรีกับหลายประเทศในลักษณะพหุภาคีและทวิภาคี ทำให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมกิจการในลักษณะที่เคยผูกขาดไปสู่การแข่งขันอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไทยเองก็เป็นประเทศเป้าหมายที่กลุ่มทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แม้ว่าตลาดให้บริการโทรคมนาคมของไทยในหลายประเภทมีแนวโน้มของการเติบโตของตลาดไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีศักยภาพทางการตลาดที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน

ภาวะการให้บริการโทรคมนาคมไทย

ในอดีตธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมในประเทศมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ที่ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศ เช่น บริการโทรศัพท์ทางไกล บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทศท. ให้บริการกิจการโทรคมนาคมในประเทศ เช่น บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งได้เปิดให้สัมปทานให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะ BTO (Built-Transfer-Operate) กับบริการหลายประเภท ซึ่งทำให้ความแพร่หลายของบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงสร้างการให้บริการโทรคมนาคมภายใต้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ทำให้ต้องมีการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานเอกชนและในปี 2544 ทศท. ได้เตรียมความพร้อมในการแปรรูปไปเป็นเอกชนโดยการจัดตั้งเป็น บมจ. ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ในปี 2545 กสท. ได้จัดตั้งเป็น บมจ. กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อแข่งขันให้บริการกับบริษัทเอกชนอื่นๆ ในขณะที่บริษัทที่ได้รับสัมปทานจะยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการตามสัมปทานที่ได้รับอยู่ สำหรับสภาพการให้บริการโทรคมนาคมของไทยที่สำคัญสามารถสรุปได้ดังนี้

? โทรศัพท์พื้นฐานภายในประเทศ มีผู้ให้บริการ 3 ราย คือ บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ทีทีแอนด์ที มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานทั้งหมด 6.48 ล้านเลขหมายนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

? โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ บมจ. ทีโอที คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. กสท. โทรคมนาคม ซึ่งการแข่งขันในการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ มีและการนำเทคโนโลยีโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Voice over Internet Protocol (VoIP) หรือ IPphone เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อัตราค่าโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศมีอัตราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบของบริการให้มีความหลากหลาย มีช่องทางโทรผ่านได้ทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์สาธารณะ และการโทร.ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์

? โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ให้บริการอยู่ 5 ราย คือ เอไอเอส, แทค, ทีเอออเรนจ์, ฮัทช์ (ซีดีเอ็มเอของ กสท.) และ ไทยโมบาย (1900 เมกกะเฮิร์ทของ ทีโอที) มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 30 ล้านราย (พ.ย. 48) หรือร้อยละ 48 ของประชากรทั้งประเทศ

? บริการอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ไอเอสพีเอกชน จำนวน 18 ราย ที่ได้รับสัมปทานการให้บริการจาก กสท. ในปี 2548 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 7.4 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ11.7 ของประชากรทั้งประเทศ

? บริการสื่อสารดาวเทียม ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวคือ บมจ. ชินแซทเทลไลท์ มีดาวเทียมในวงโคจรแล้ว ช่องทางดาวเทียมสามารถให้บริการได้ทั้งบริการทางด้านโทรทัศน์ บริการสื่อสารข้อมูล บริการอินเทอร์เน็ต

ตารางโครงสร้างการตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย
ประเภทบริการ จำนวนผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ
โทรศัพท์ในประเทศ 3 ราย • บมจ. ทีโอที ทั้งในเขตกรุงเทพและต่างจังหวัด
• ทรู คอร์เปอเรชั่น เฉพาะในกรุงเทพ
• TT&T เฉพาะในต่างจังหวัด
โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ 2 ราย • บมจ. ทีโอที
• บมจ. กสท. โทรคมนาคม
โทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย • ไทยโมบาย
• เอไอเอส
• ดีแทค
• ออเรนจ์
• ฮัทช์
บริการอินเทอร์เน็ต 17 ราย • เคเอสซี
• ซีเอสล็อกอินโฟร์
• อินเทอร์เน็ตไทยแลนด์
• แปซิฟิกอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
บริการสื่อสารดาวเทียม 1 ราย • ชินแซทเทลไลท์
ที่มา : รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ในปี 2544 มีการจัดทำ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินกิจการในขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ยังจัดตั้งไม่เสร็จ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของ พ.ร.บ.ฯ มีการกำหนดเพดานการถือหุ้นของต่างชาติไว้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น และมีการเรียกร้องให้มีการขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติเพิ่มขึ้นในขณะนั้น และในวันที่ 20 มกราคม 2549 ได้มีการอนุญาตให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ฯ ให้บริการทุกประเภทที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฯ สามารถมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นจากต่างชาติได้ไม่เกินร้อยละ 49 การขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติให้เพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีการเข้าสู่การร่วมกิจการกับต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจให้บริการโทรคมนคมหลายแห่ง มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเคลื่อนย้ายเงินทุนของผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2540 การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในครั้งนั้นทำให้ธุรกิจสื่อสารสามารถขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นได้อีก และมีเงินเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการสื่อสารจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัลโดยโดยเฉพาะในกลุ่มของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพการให้บริการและขยายจำนวนผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานองค์กรอิสระในการกำกับดูแลการให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ การออกกฎเกณฑ์การแข่งขัน และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทต่างๆ และในปี 2548 ได้ให้ใบอนุญาตประกอบการกับ กสท. และ ทศท. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 4 ราย การเปิดเสรีการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่คาดว่าจะกำหนดใช้ในปี 2549 เช่น ค่าธรรมเนียนมการให้บริการอย่างทั่วถึง (universal services) ร้อยละ 4 ของรายได้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ร้อยละ 3 ค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่รอ้ยละ 2 ค่าธรรมเนียมเลขหมาย ร้อยละ 1 เป็นต้น

กิจการโทรคมนาคมของไทยนั้น มีลักษณะของธุรกิจที่มีความซับซ้อนทั้งในเชิงการตลาดและในเชิงนโยบาย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสรุปเป็นประเด็นสำคัญดังนี้

– โครงสร้างของผู้ให้บริการยังอยู่ในระบบกึ่งผูกขาด

หรือบริษัทที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ยังอยู่ภายใต้การให้สัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ หรือมีอายุสัมปทานที่แน่นอน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีความพยายามที่จะเปิดเสรีการให้บริการมากขึ้น เพื่อขยายการลงทุนและการให้บริการที่มีความทั่วถึง การตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อดูแลการให้บริการแทนที่การกำกับดูแลการโดยภาครัฐ แต่เนื่องจากองค์กรอิสระเพิ่งจะจัดตั้งขึ้นทำให้การจัดกฎเกณฑ์การแข่งขันและระเบียบการให้บริการ รวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่เป็นการเปิดเสรีที่มากนัก การเปิดใบอนุญาตในลักษณะสัมปทานทำให้โครงสร้างของตลาดมีลักษณะเป็นตลาดของผู้ให้บริการที่มีจำนวนน้อยราย (oligopoly) หรือมีการกระจุกตัวของการลงทุนและการมีส่วนแบ่งในตลาดที่ค่อนข้างมากในบางราย

– การเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ทำได้ยาก

ในอดีตการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ทำให้ยาก เนื่องจากต้องรอการเปิดสัมปทานจากภาครัฐ และธุรกิจโทรคมนาคมมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ คือ ต้องอาศัยเงินลงทุนในการวางเครือข่ายการให้บริการค่อนข้างมาก และความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น คลื่นความถี่ที่เหมาะสมต่อการให้บริการสื่อสารในเชิงพาณิชย์มีน้อย และวงโคจรที่จำกัดของการให้บริการดาวเทียม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก แม้ว่าจะเปิดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ก็จะสามารถรองรับจำนวนผู้ให้บริการได้จำกัด ซึ่งประเด็นที่นี้ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการของต่างประเทศไปยังกลุ่มทุนที่ให้บริการอยู่แล้วในประเทศ เพื่อต้องการสิทธิในการให้บริการจากคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นจะทำให้ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรคลื่นความถี่บรรเทาลงได้บ้าง เช่น การพัฒนาเครื่องมือสำหรับการบีบอัดสัญญาณที่ทำให้คลื่นความถี่ 1 คลื่น สามารถเปิดให้บริการโทรทัศน์ได้หลายช่อง เป็นต้น

– การจัดหาเทคโนโลยีเป็นการนำเข้าทั้งหมด

การดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีทั้งหมดจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถผลิตเองได้ทำให้การลงทุนมีมูลค่าสูง และเป็นลักษณะต่างคนต่างจัดการลงทุน ผู้ให้บริการบางรายลงทุนทางด้านเทคโนโลยีในลักษณะร่วมทุนกับต่างชาติ ในขณะที่บางรายลงทุนเครือข่ายด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการมักจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนเทคโนโลยีจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล การหายไปของธุรกิจเพจเจอร์หลังจากมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจากโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 2 ไปยัง รุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ทำให้การลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกของการขยายเครือข่ายจะเป็นเพื่อการทดแทนการขาดแคลนของการเข้าถึงบริการ และจะเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับกับความต้องการทางด้านข้อมูลและการเชื่อมโยงของเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายของการใช้มากยิ่งขึ้น

– ตลาดที่ค่อนข้างกระจุกตัว

ในบริการที่มีลักษณะขยายตัวของตลาดมาก เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้จะมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 48 ของประชากรทั้งประเทศ แต่การกระจุกตัวของผู้ใช้ยังอยู่ในพื้นที่เขตเมือง ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลยังมีผู้ใช้ไม่มากนัก เช่นเดียวกับบริการอินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการกระจุกตัวของการใช้นั้นมาจากเครือข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการไม่ทั่วถึง เนื่องจากการขาดแคลนทางด้านเงินทุนในการให้บริการและกฎเกณฑ์ในการกำหนดให้ผู้ให้บริการจะต้องมีการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ทำให้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเน้นเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ที่จะเกิดผลตอบแทนทางด้านการเงินต่อผู้ให้บริการเท่านั้น

– ตลาดค่อนข้างอิ่มตัว

ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสารในประเทศขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ล้านราย และผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอีกประมาณ 7.4 ล้านราย อย่างไรก็ตามบริการทั้งสองประเภทนั้นได้เข้าสู่ภาวะการชะลอตัวของจำนวนผู้ใช้ และคาดว่าการเติบโตของจำนวนผู้ใช้จะไม่สูงเท่ากับที่ผ่านมาเนื่องจากฐานของจำนวนผู้ใช้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า อัตราการเติบโตของผู้ใช้ในช่วงปี 2549-2551 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่การเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-7 ต่อปี ทั้งนี้ข้อจำกัดส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวของเครือข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการ และค่าบริการที่ยังคงอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับรายได้ของประชากรในระดับภูมิภาค ที่จะเป็นตลาดใหม่สำหรับการขยายจำนวนของผู้ใช้ ในขณะที่ตลาดในเมืองที่มีฐานผู้ใช้บริการจำนวนมาก จะพัฒนาคุณภาพการให้บริการไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ หรือ บริการเสริมต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการให้บริการ ซึ่งจะเห็นว่าบริการเสริมหรือคอนเทนท์ต่างๆ นั้นได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่รุนแรงนั้นยังทำให้ผู้ให้บริการมักจะประสบกับปัญหาทางด้านงบประมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากอัตราค่าบริการที่จะสามารถเรียกเก็บได้จากผู้ใช้บริการนั้นจะอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ในขณะที่ต้นทุนต่อการให้บริการค่อนข้างสูงและต้องการผู้ใช้บริการมากเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดการให้บริการ (economies of scale) แต่ผู้ให้บริการในประเทศหรือผู้ให้บริการคอนเทนท์ในประเทศนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้ประสิทธิภาพจากการใช้เทคโนโลยีของผู้ประกอบกิจการต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

– การแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังไม่เรียบร้อย

กระบวนการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโทรซึ่งได้แก่หน่วยงานรัฐ 2 แห่ง คือ กสท. และทศท. ซึ่งต้องเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชน และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้ให้บริการ (operator) เพื่อแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันของผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมทุกแห่ง ซึ่งในปัจจุบันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเพื่อเป็นบริษัทแล้ว และบริษัททั้งสองแห่งเริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นรายแรกจาก กทช. อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานยังต้องมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในการให้บริการโทรคมนาคมบางประเภท เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ซึ่งมีหลายธุรกิจที่แต่เดิมมีลักษณะผูกขาด นอกจากนี้รายได้ที่สำคัญของทั้งสองหน่วยงานยังมาจากส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทที่ได้รับสัมปทานอีกด้วย นอกจากนี้หากหน่วยงานทั้งสองแห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีต่างชาติเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจโทรคมนาคม : ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายทุนจากต่างประเทศ

การเข้าสู่ภาวะการเปิดเสรีในกิจการโทรคมนาคมนั้น ได้ส่งผลกระทบทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนจากต่างประเทศไปสู่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน การควบรวมกิจการ และ การเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition : M&A) เป็นกระแสที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพทางด้านการเงินและมีความพร้อมทางด้านบริการอยู่แล้ว ได้นำเงินไปลงทุนในกิจการในลักษณะเดียวกันในหลายแห่งของโลก ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มขึ้น เพิ่มการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำมาซึ่งผลตอบแทนทางการเงินที่จะได้รับกลับมาในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้การหลอมรวมของเทคโนโลยี (Technology Synergy) ยิ่งทำให้ผู้ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและคอนเทนท์มีความได้เปรียบ นอกจากนี้ยังคาดว่าการรวมคอนเทนท์นั้นจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ลดแรงกดดันทางการแข่งขัน รวมถึงได้ผลผลิตจากความสามารถของทั้งสองกิจการ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการและเพิ่มอำนาจการต่อรองของกิจการด้วย

สำหรับแนวโน้มในประเทศไทย ความเคลื่อนไหวของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมหลายประเภทในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ทั้งจากการเข้าซื้อ-ขายกิจการ การร่วมทุน การเคลื่อนย้ายหรือถอนทุนจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาร่วมทุนและการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการแข่งขันของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนค่อนข้างมากตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อีกทั้งแนวโน้มของราคาค่าบริการเริ่มลดลง การแข่งขันดังกล่าวมีลักษณะไร้พรมแดนทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนและการเข้าซื้อกิจการของผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ไปสู่ตลาดให้บริการโทรคมนาคมในอีกหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้การขยายตัวของตลาดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดในช่วงต่อไปมีการชะลอตัวลงและทำให้รายได้จากการดำเนินงานมีแนวโน้มลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมภายหลังการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนี้

1. ตลาดให้บริการมีแนวโน้มที่จะมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ผู้ใช้บริการอาจจะได้ประโยชน์ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้สถานภาพทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจมีแนวโน้มเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการขยายเครือข่ายหรือการพัฒนาของเทคโนโลยีให้ทันสมัย และเป็นการเข้าสู่แนวทางของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนลดลง และถ้าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนำมาสู่การปรับราคาค่าบริการที่ลดลง และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น อาจจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกและมีความหลากหลายมากกว่าเดิมด้วยอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม

2. มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เนื่องจากกลุ่มทุนที่เข้ามาร่วมลงทุนมีการลงทุนในลักษณะเครือข่ายทั่วโลก ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องนำมาตรฐานการให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การเตรียมตัว ไปสู่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 หรือ 4 หรือการเปิดใช้ธุรกิจดาวเทียมเป็นอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งใหม่ การเพิ่มคอนเทนท์หรือบริการเสริมที่เป็นลักษณะที่มีความหลากหลาย

3. การแข่งขันที่รุนแรงในฐานของจำนวนผู้ให้บริการแบบน้อยรายในปัจจุบัน อาจนำไปสู่การผูกขาดของตลาดได้ในอนาคต ถ้าผู้ให้บริการเดิมมีการครอบงำตลาด หรือมีส่วนแบ่งตลาดที่มากพอที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในธุรกิจโทรคมนาคมกำลังมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะที่มีการแข่งขันน้อยรายยิ่งขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับการอนุญาตประกอบการจาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ยิ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการเดิมในตลาดมีโอกาสที่จะทำตลาดได้มากกว่าผู้ประกอบการรายใหม่

4. ผู้ประกอบการรายเล็กในตลาด ซึ่งมีเงินทุนในการขยายกิจการอาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ธุรกิจที่เป็นหัวใจของบริการสื่อสารหรือธุรกิจที่มีตลาดขนาดใหญ่จะเป็นโอกาสของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กอาจจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมาก และต้องหันไปเน้นตลาดที่มีเฉพาะมากยิ่งขึ้น หรือการก้าวไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง เช่น คอนเทนท์ทางด้านข้อมูลซึ่งมีแนวโน้มของตลาดที่ดีกว่า

5. รัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านเงินลงทุนและในด้านการบริหาร จำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพราะตลาดบริการโทรคมนาคมนับจากนี้มีการเติบโตไม่มากนัก ประกอบกับการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอาจส่งผลต่อการดำเนินงานของกิจการได้

6. กฎเกณฑ์การแข่งขันในการให้บริการจะต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะป้องกันการผูกขาดของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว หรือมีหน่วยงานที่จะต้องดูแลและพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่การกำกับดูแลนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันของตลาด

สรุป

ตลาดให้บริการโทรคมนาคมไทยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา การแข่งขันของผู้ให้บริการในปัจจุบันทำให้การให้บริการโทรคมนาคมไทยมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาของเทคโนโลยีและการเปิดให้เอกชนเข้ามาให้บริการทำให้การขาดแคลนการสื่อสารในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายในการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมตามข้อตกลงทางการค้าทำให้ไทยต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแข่งขันทางด้านกิจการโทรคมนาคมลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนและให้บริการได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในกิจการโทรคมนาคมจากต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อดีของการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศนั้นทำให้ตลาดให้บริการมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความกังวลต่อการจะเข้ามาผูกขาดกิจการโทรคมนาคมของต่างประเทศในไทยนั้นก็ทำให้ไทยเองต้องสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันเพื่อป้องกันการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ส่งเสริมการแข่งขันที่มีประสิทธิผลและไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างประเทศ