อุตสาหกรรมภาพยนตร์ปี 49 : การพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ระดับการส่งออก

งานเทศกาลภาพยนตร์ “บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล” ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในช่วงระหว่างวันที่ 17-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย การเปิดโอกาสให้กองถ่ายจากต่างประเทศเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นมาก ทั้งในด้านตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2548 มีมูลค่าตลาดในประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกภาพยนตร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 960 ล้านบาท ทั้งนี้จะเห็นว่าภาพยนตร์ไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นและมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ

นอกจากการพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์แล้ว การเปิดตลาดหรือการอาศัยการตลาดมาช่วยนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเพิ่มโอกาสทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมงานมหกรรมภาพยนตร์ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้สามารถจำหน่ายภาพยนตร์หรือบทภาพยนตร์ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในการเปิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศนั้น นอกจากผู้ชมจะมีโอกาสชมภาพยนตร์ที่หลากหลายแล้วยังจะเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้นอกจากภาพยนตร์จะกลายเป็นสินค้าสำหรับส่งออกแล้ว ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่สามารถเผยแพร่ไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาหาร บริการ หรือสินค้าประเภทอื่นๆ ของไทยเราได้ ความสำคัญของภาพยนตร์จึงไม่เพียงเป็นแหล่งความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอื่นๆของประเทศได้ด้วย

ภาพยนตร์ไทย : ภาพรวมของอุตสาหกรรม

ในหลายประเทศอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น สหรัฐ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เนื่องจากประเทศต่างๆ เหล่านี้ต่างเล็งเห็นว่า ภาพยนตร์นั้นมีส่วนสำคัญต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศให้ดำรงอยู่ในประเทศและเผยแพร่เป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศนำรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศของไทยนั้นก็มีแนวโน้มที่จะมีการส่งออกภาพยนตร์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และก็มีภาพยนตร์บางเรื่องที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เข้าร่วมงานประกวดภาพยนตร์ในระดับนานาชาติและได้รับรางวัลรับรองคุณภาพในหลายๆ ด้าน เช่น กำกับการแสดง การลำดับภาพ การตัดต่อ เป็นต้น การเติบโตพัฒนาอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยนั้นกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระดับประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่บ้าง

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมไทย ไว้ดังนี้

? ตลาดภาพยนตร์ไทยในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก

มูลค่าตลาดของภาพยนตร์ในแต่ละปีมีความผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากรายได้ของภาพยนตร์มีความไม่แน่นอน บางเรื่องอาจประสบความสำเร็จสร้างรายได้เกินกว่า 100 ล้านบาท บางเรื่องอาจประสบกับภาวะขาดทุน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2540-2543 มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ค่อนข้างน้อยอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ และกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหลังจากภาพยนตร์ไทยเรื่องนางนากและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง สุริโยทัย ในปี 2544 หลังจากนั้นความนิยมในภาพยนตร์ไทยก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นส่งผลให้ปัญหาทางด้านเงินทุนในการผลิตลดลงและขยายความต้องการชมภาพยนตร์ของตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะความเสี่ยงของภาพยนตร์ยังคงมีอัตราที่สูง ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้เป็นจำนวนมากนั้น ในแต่ละปีจะมีเพียง 2-3 เรื่องเท่านั้นจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายทั้งหมด 40-50 เรื่อง สำหรับมูลค่าตลาดของภาพยนตร์ไทยในปี 2548 มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2547 ที่ผ่านมา

? ตลาดต่างประเทศเริ่มเพิ่มมูลค่าขึ้นแต่ยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก

แม้ว่าในช่วงระยะหลังผู้ประกอบการภาพยนตร์จะสามารถผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยสามารถส่งเป็นสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการจำหน่ายภาพยนตร์ไปฉายโดยตรงยังต่างประเทศ เช่น สุริโยทัย องค์บาก และต้มยำกุ้ง อีกทั้งยังมีการจำหน่ายในลักษณะบทภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์เรื่องชัตเตอร์ เป็นต้น มูลค่าของภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศในปี 2548 มีมูลค่าประมาณ 960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 2547

? ภาพยนตร์ไทยที่ผลิตขึ้นมานั้นมีความหลากหลายของเนื้อเรื่องค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ประเภทผี และ ตลก เสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การผลิตส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่ภาพยนตร์ที่ทำรายได้เท่านั้น ทำให้ความหลากหลายของภาพยนตร์มีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภาพยนตร์จากต่างประเทศ

? ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายในประเทศก็มีเป็นจำนวนมาก

โดยที่ภาพยนตร์ไทยมีสัดส่วนจำนวนเรื่องเพียงร้อยละ 13-15 ของจำนวนภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหมดในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แม้ว่าในปี 2548 ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากภาพยนตร์ไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของรายได้ภาพยนตร์ทั้งหมด แต่การแข่งขันก็มีเพิ่มขึ้น เช่นกัน

? การผลิตที่แม้จะได้รับการพัฒนาไปมาก

แต่ก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถและความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งในด้านการเขียนบท การตัดต่อ การทำสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กส์ นอกจากนี้อุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัยส่วนใหญ่จะต้องอาศัยเงินลงทุนค่อนข้างมาก

? การขาดแคลนแหล่งเงินทุนในการสนับสนุน

ทั้งนี้ในการผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่องอาจต้องใช้เงินทุนในการผลิตค่อนข้างมากโดยประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเรื่อง การหาแหล่งเงินกู้เพื่อการลงทุนทำภาพยนตร์นั้นจากเดิมผู้สร้างสามารถหาเงินทุนด้วยการระดมทุนจากสายหนังหรือผู้จำหน่ายภาพยนตร์ในต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกระบบสายหนังแต่เป็นการจัดจำหน่ายภาพยนตร์จากบริษัทจัดจำหน่ายก็ทำให้การสร้างภาพยนตร์ของแต่ละค่ายผู้ผลิตจำเป็นต้องระดมทุนจากสถาบันการเงินหรือทุนส่วนตัวเอง ซึ่งการระดมทุนผ่านทางสถาบันการเงินนั้นต้องอาศัยเครดิตของผู้สร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากบทภาพยนตร์ยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้มากนัก เพราะถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งทำให้การระดมเงินทุนของผู้สร้างทำได้ค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดทำได้น้อย อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งหันไปร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์กับแหล่งทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และยกระดับภาพยนตร์เพื่อเข้าสู่ตลาดในระดับภูมิภาคได้อีกทางหนึ่งด้วย

? การเพิ่มขึ้นของช่องทางจำหน่ายหรือโรงภาพยนตร์

น่าจะทำให้การกระจายภาพยนตร์ไทยไปสู่กลุ่มผู้ชมได้เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาธุรกิจโรงภาพยนตร์เองก็จำเป็นที่จะต้องรักษารายได้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ดังนั้นจึงมักจะมีการจัดโรงฉายให้กับภาพยนตร์ที่ทำเงินก่อนเสมอ ดังนั้นภาพยนตร์ไทยหลายๆ เรื่องมักจะประสบกับปัญหาจำนวนโรงฉายที่น้อยกว่า อีกทั้งจำนวนวันฉายที่น้อยกว่าภาพยนตร์จากฮอลลีวู๊ดอยู่เสมอ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงระบบการแบ่งส่วนรายได้ระหว่างโรงภาพยนตร์กับผู้ผลิตภาพยนตร์ จากเดิมแบ่งรายได้ 50: 50 มาเป็นอัตราส่วนที่มีการต่อรองกันเอง อาจอยู่ในลักษณะรายได้ของโรงภาพยนตร์ต่อผู้สร้างอัตรา 60: 40 หรือ 70: 30 ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลง นอกจากนี้การจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาค่าชมภาพยนตร์ในบางช่วงอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยส่วนหนึ่ง

? มาตรฐานของภาพยนตร์ที่ปรับตัวดีขึ้น

โดยมีการพัฒนาคุณภาพทั้งทางด้านการผลิต การเขียนบทภาพยนตร์ไทย การวางตัวนักแสดงให้เหมาะสมกับบทบาท ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับของตลาดมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีผู้สร้างส่วนหนึ่งที่ยังมีการผลิตภาพยนตร์ที่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของมาตรฐานภาพยนตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในตัวภาพยนตร์ไทยไม่เพิ่มขึ้นมากนัก หากต้องเสียเงินค่าชมในราคาเดียวกับที่ชมภาพยนตร์จากต่างประเทศแล้ว ทำให้ผู้ชมเลือกที่จะชมภาพยนตร์จากต่างประเทศมากกว่า

? บทบาทของการการส่งเสริมการตลาดที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันความสำเร็จของภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้น มีการนำแนวทางการตลาดมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การจัดเปิดตัวภาพยนตร์ทั้งตามโรงภาพยนตร์และผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ กลายเป็นสิ่งจำเป็นและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเดิมที่ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ มักจะมีนักแสดงเป็นปัจจัยดึงดูดผูชมมาก แต่สำหรับปัจจุบันการตลาดโดยอาศัยนักแสดงอย่างเดียวนั้นกลับไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นความนิยมของผู้ชม การตลาดจึงมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากในงบการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะมีงบการตลาดเป็นส่วนแบ่งที่ค่อนข้างมาก ในบางเรื่องอาจใช้งบประมาณสูงถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการทำตลาดมากขึ้นแล้ว แต่การตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมยังเป็นสิ่งจำเป็นและยิ่งทำให้การตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากการใช้งบประมาณทุ่มงบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ แล้ว การตลาดแบบบอกต่อ หรือ buzz marketing นั้นได้กลายเป็นแนวทางการตลาดที่ทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องประสบความสำเร็จมาแล้ว

? อัตราค่าชมภาพยนตร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แต่หากเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างมีคุณภาพดีแล้ว จะได้รับการสนับสนุนจากคนไทยมากกว่าภาพยนตร์ที่ไม่มีคุณภาพ โดยสังเกตได้จากการเก็บค่าชมภาพยนตร์แม้ว่าค่าชมภาพยนตร์ประเภทนี้จะสูงกว่าราคาค่าชมปกติ โดยสูงถึง 160 บาทต่อคนต่อรอบ แต่ก็มีผู้ที่ต้องการไปชมที่โรงภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามอัตราค่าชมภาพยนตร์ที่สูงนั้นอาจทำให้การเข้าชมภาพยนตร์ลดลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา

? ธุรกิจต่อเนื่องจากภาพยนตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ระลึกต่างๆ ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเพื่อเป็นของสะสม สินค้าที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ เสื้อ หุ่นโมเดลนักแสดง หนังสือ ออกมาวางจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเกมออนไลน์เนื้อหาเกี่ยวกับนักแสดง ขนมขบเคี้ยว ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของภาพยนตร์ด้วย

? ธุรกิจแข่งขันอื่นๆ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

เช่น การขยายตัวของเครื่องเล่นวีซีดี เครื่องเล่นดีวีดี ซึ่งมีราคาถูกลงมากทำให้มีการแพร่กระจายของการใช้เครื่องเล่นเหล่านี้ในครัวเรือนของประเทศมาก แผ่นซอฟท์แวร์วีซีดีและดีวีดีมีราคาจำหน่ายปลีกลดลง หรือสามารถหาเช่าได้จากศูนย์เช่าในราคาถูกกว่า ในราคาเรื่องละ 20-40 บาท และชมได้ทั้งครอบครัว ก็ทำให้ต้นทุนในการชมภาพยนตร์ลดต่ำลงไปกว่าเดิม แม้คุณภาพของภาพและเสียงจะให้อรรถรสในการชมแตกต่างจากการเข้าชมในโรงภาพยนตร์ ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่หันไปชมภาพยนตร์โดยผ่านวีดีโอและวีซีดี โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทย

นอกจากนี้ระยะเวลาเว้นช่วงระหว่างภาพยนตร์ฉายในโรงที่จะทำการผลิตเป็นซีดีนั้นมีระยะเวลาสั้นลงเหลือ 1-3 เดือน หรือการรอรับชมผ่านทางเคเบิลทีวี ยิ่งทำให้ผู้ชมมีทางเลือกในการชมภาพยนตร์มากขึ้น และในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการฉายภาพยนตร์ก็คือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการชมภาพยนตร์ การดาวน์โหลดภาพยนตร์ในราคาถูก แม้ว่าในปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยเนื่องจากความล่าช้าในการดาวน์โหลด แต่หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วสูงรองรับก็จะสามารถขยายบริการให้รวดเร็วได้ นอกจากนี้การพัฒนาสื่อประเภทเครื่องรับโทรทัศน์ให้มีราคาถูกลง โดยปัจจุบัน ร้อยละ 98 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศเพื่อรับชมรายการโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนของโทรทัศน์ในระบบบอกรับสมาชิกกว่าอีก 2 ล้านครัวเรือน เป็นทางเลือกที่มีผลต่อความต้องการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วย

? ปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มีความรุนแรงขึ้นมาก

แม้ว่าจะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปผลิตเป็นแผ่นซีดีได้ แต่ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับที่สูงนั้นก็ส่งผลให้รายได้ของภาพยนตร์ไทยหดหายลงไปด้วย การเพิ่มจำนวนขึ้นของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นอันเนื่องมาจากการเทคโนโลยีการผลิต การก๊อปปี้ มีการพัฒนาขึ้นทำให้กระทำได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำว่าการซื้อสินค้าลิขสิทธิ์มาก ทั้งในรูปแบบการทำด้วยตนเองหรือสามารถหาซื้อได้ง่าย ประกอบกับบทลงโทษที่ไม่รุนแรงมากนัก ทำให้ที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่สามารถแก้ไขให้ลดปริมาณลงได้มากนัก อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความเข้มงวดในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ภายในประเทศมากขึ้น เช่น การป้องกันการลักลอบการถ่ายจากโรงภาพยนตร์ แต่ประเทศอื่นๆ ที่นำภาพยนตร์ไทยไปฉายอาจยังไม่มีการกวดขันในเรื่องลิขสิทธิ์มากนัก ทำให้อาจมีการลักลอบก็อปปี้และนำมาจำหน่ายและกระจายเข้ามาในประเทศได้ตามชายแดน

? สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวน

หากพิจารณาโดยลักษณะของภาพยนตร์แล้ว จัดว่าเป็นบริการให้ความบันเทิงที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือย แม้ว่าอัตราค่าชมภาพยนตร์ต่อเรื่องของไทยจะยังจัดว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรในประเทศแล้ว ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีความผันผวนในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการรับชมภาพยนตร์ โดยที่หากผู้บริโภคคาดการณ์ว่ารายได้ในอนาคตอาจปรับตัวลดลงก็จะทำให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายในการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ลดลงด้วย

การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ : มาตรการจากภาครัฐ

บทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังไม่ชัดเจนนัก อาจเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แล้ว ยังมีมูลค่าไม่สูงมากและยังมีศักยภาพในการส่งออกน้อย ทั้งนี้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมของภาครัฐสามารถแบ่งออกเป็น

– ด้านกฎหมาย

ในปัจจุบันการผลิตภาพยนตร์อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ที่มีส่วนทำให้ภาพยนตร์ที่นำออกฉายนั้นไม่สะท้อนภาพของความเป็นจริง ส่งผลให้ภาพยนตร์ไทยไม่สามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากลได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและประกาศใช้ในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่ในแวดวงของการสร้างภาพยนตร์มีความเห็นว่า ควรยกเลิกการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และหันมาใช้มาตรการอื่นทดแทน เช่น การกำหนดเรตของภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม (ยกเว้นภาพยนตร์เรต X ที่ห้ามฉายอย่างเด็ดขาด) เพื่อความเสมอภาคและยุติธรรมและไม่เป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างภาพยนตร์ด้วย การยกเลิกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์ และกระตุ้นในเนื้อหาของภาพยนตร์มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

– มาตรการทางด้านภาษี

ในการสร้างภาพยนตร์นั้น ต้นทุนของฟิล์มภาพยนตร์และอุปกรณ์ในการถ่ายทำนั้น มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20-30 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การอ่อนตัวของค่าเงินบาทส่งผลให้ต้นทุนเหล่านี้สูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ฟิล์มและอุปกรณ์ยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่า ซึ่งส่งผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องแบกรับภาษีนำเข้าสูงและทำให้ต้นทุนการสร้างสูง ผู้สร้างภาพยนตร์มีความเห็นว่ารัฐบาลควรให้สิทธิพิเศษกับผู้สร้างภาพยนตร์ในการนำเข้าอุปกรณ์การสร้างภาพยนตร์ด้วยการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

– มาตรการส่งเสริมการส่งออก

การส่งออกภาพยนตร์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้น ปัจจุบันได้มีการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเทพ เพื่อดึงดูดให้มีการเจรจาซื้อขายภาพยนตร์กันเหมือนกับที่งานเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยนำภาพยนตร์ไปเข้าร่วมงานเทศกาลต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งในแถบเอเชีย ยุโรปและสหรัฐ

– มาตรการส่งเสริมการลงทุน

จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน 2 ประเด็นคือ

– กิจการสร้างภาพยนตร์หรือบริการแก่ธุรกิจภาพยนต์หรือบริการมัลติมีเดียได้รับสิทธิในการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในทุกเขต และหากตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือ movie town จะได้รับยกเว้นภาษีรายได้เพิ่มเป็น 8 ปี และหากตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนพื้นที่ 3 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี

– การเปิดส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (Movie Town)

จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในทุกเขต แต่จะต้องมีเงื่อนไขในการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ต้องมีโรงถ่ายทั้งในและนอกสถานที่ที่ได้มาตรฐาน มีบริการหลังการถ่ายทำ เช่น ล้างและพิมพ์ฟิล์ม เทคนิคภาพพิเศษ ภาพแอนนิเมชั่น และบริการห้องบันทึกเสียง
ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอกชน 2 รายที่ไดรับการส่งเสริมการลงทุน คือ บริษัทกันตนา มูฟวี่ทาวน์ (2002) และ บริษัทไลท์ เฮ้าส์ฟิล์ม เซอร์วิส จำกัด

ส่งออกภาพยนตร์ : การแข่งขันในระดับภูมิภาค

แม้ว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกภาพยนตร์กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย มูลค่าการส่งออกภาพยนตร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียเองนั้นก็มีค่อนข้างมาก เช่น ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น ที่มีการผลิตภาพยนตร์ทั้งฉายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับประเทศไทย และยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนานาประเทศต่างตระหนักว่าสินค้าภาพยนตร์นั้นกลายเป็นสินค้าในเชิงวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของประเทศและการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไปสู่นานาประเทศและเกิดผลพวงที่ตามมาในการจำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ ของประเทศไปสู่ตลาดโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ที่กระจายเข้าสู่ประเทศต่างๆ ได้นำวัฒนธรรมทางด้านอาหารทำให้ร้านอาหารเกาหลีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น การถ่ายทอดแหล่งท่องเที่ยวเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังให้ทำให้ชื่อเสียงของสินค้าประเภทเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องไฟฟ้า เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

โมเดลธุรกิจของภาพยนตร์เกาหลีใต้เป็นที่น่าจับตามองจากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้การส่งออกภาพยนตร์เกาหลีใต้สามารถทำรายได้เข้าประเทศในปี 2548 สูงถึง 54 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,160 ล้านบาท) มีอัตราการขยายตัวของรายได้ส่งออกประมาณร้อยละ 13 ต่อปี ส่วนรายได้ในประเทศประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (20,000-30,000 ล้านบาท) แนวภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักและสงคราม ซึ่งเป็นการผสมผสานนำเอาวัฒนธรรมของเกาหลีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ด้วย ภาพยนตร์เกาหลีได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทั้งภาครัฐและเอกชนของเกาหลีเอง

โดยที่ภาครัฐนั้นได้กำหนดเป็นกฎหมายว่าจะต้องมีภาพยนตร์เกาหลีเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างน้อย 106 วันต่อปี และปริมาณภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงทั้งหมดต้องมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนโรงภาพยนตร์ และรัฐจะให้เงินสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์ปีละ 10 เรื่อง การสนับสนุนให้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ปูซานอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยใช้งบประมาณในการจัดงานกว่า 1,000 ล้านบาทในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี นอกจากนี้ในส่วนภาคเอกชนยังให้การสรับสนุนทางด้านเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์หรือเข้าเป็นสปอนเซอร์ในการสร้าง เช่น บริษัท ซัมซุง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการนำสินค้าของบริษัทเพื่อโฆษณาในระดับโลกด้วย

นอกเหนือจากเกาหลีใต้แล้วยังมีประเทศอินเดีย ที่มีการผลิตภาพยนตร์จำนวนกว่า 1,000 เรื่อง และกำลังที่จะผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกมากขึ้น ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์เริ่มให้ความสำคัญด้วยการจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นเพื่อโปรโมตภาพยนตร์ของฟิลิปินส์เช่นเดียวกับไทย ส่วนฮ่องกงและญี่ปุ่นนั้นในช่วงระยะหลังอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะไม่เฟื่องฟูเหมือนก่อนแต่ก็ยังมีบทบาทที่สำคัญกับตลาดภาพยนตร์โลกอยู่เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศก็พยายามที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกที่มีมูลค่าในปี 2548 สูงถึงกว่า 5 ล้านล้านบาทและมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 30 ต่อปี

สรุปและข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยนั้น นับว่ามีความสำคัญในด้านการเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่ไทยต้องการส่งเสริมให้มีทั้งมูลค่าในฐานะสินค้าส่งออกและการส่งเสริมวัฒนธรรมของประเทศ นอกจากนี้ยังหวังว่าภาพยนตร์ไทยจะสามารถผลักดันให้เกิดประโยชน์เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมบริการทางด้านอื่นๆ ได้ด้วยนั้น แต่ในความเป็นจริงการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย ยังต้องได้รับการผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยดังนี้

1. การกำหนดแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ชัดเจน โดยภาครัฐ ในฐานะที่ภาพยนตร์จะเป็นสื่อวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างความภูมิใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในลักษณะนี้มาก เช่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ที่มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์โดยการหักรายได้จากภาพยนตร์เข้ากองทุนส่วนหนึ่งและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้มีการผลิตภาพยนตร์ที่ได้คุณภาพออกฉาย และเป็นการส่งเสริมให้อุตสหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศนั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

2. การสนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเขียนบทภาพยนตร์ การตัดต่อภาพยนตร์ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัวในปัจจุบัน และส่งเสริมให้มีการจัดอบรมและพัฒนาบุคลากรในส่วนของผู้ประกอบการเองเพื่อพัฒนาให้บุคลากรให้มีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น

3. การสนับสนุนให้มีการพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงถ่าย ที่ได้มาตรฐานทั้งในและนอกสถานที่ บริการหลังการถ่ายทำ เช่น บริการล้างฟิล์มและพิมพ์ภาพยนตร์ บริการเทคนิคถ่ายภาพพิเศษและภาพแอนนิเมชั่นด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ บริการห้องบันทึกเสียง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีให้บริการบ้างแล้วแต่ก็ยังจัดว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กและยังต้องพัฒนามาตรฐานให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ
4. การปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยทั้งในเรื่องของการจัดประเภทของภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่มีการกล่าวถึงมาเป็นเวลานานแต่ในปัจจุบันยังไม่มีความก้าวหน้าไปมากนัก ในขณะที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างก็ต้องการความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวกันมาก นอกจากนี้ยังต้องเข้มงวดกับปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ

5. การให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต้องรวมไปถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในระบบ cluster หรือมีการพัฒนาที่เป็น value chain อย่างเป็นระบบและต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยให้สามารถรองรับปริมาณงานในประเทศและรองรับในกรณีที่มีการใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศซึ่งมีการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

6. การรักษาคุณภาพในการสร้างภาพยนตร์อย่างจริงจัง สำหรับผู้ผลิตเพื่อให้ผู้ชมได้รับชมภาพยนตร์ที่มีคุณภาพตามที่คาดหวัง ทั้งผู้ชมในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งต้องมีเอกลักษณ์ของตนเองและสามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนไทย มีความผสมผสานในแบบสากล ซึ่งเป็นจุดแตกต่างจากภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดและจะสามารถสร้างตลาดให้ยอมรับได้

7. การนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารและลดความเสี่ยงในการผลิตภาพยนตร์ของผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้มีการนำระบบการตลาดแบบ presale หรือการเสนอขายภาพยนตร์ล่วงหน้าก่อนการสร้าง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาธุรกิจสร้างภาพยนตร์แบบมืออาชีพที่มีการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารรายได้ในอนาคตมาใช้ เช่น Securitization หรือ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่อาจเป็นไปได้ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปสู่จุดหมายและเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของภาพยนตร์ไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาภาพยนตร์ไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างจริงจังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยกันผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยก้าวไปไกลในระดับฮอลลีวู้ดในระยะยาวต่อไป