“ยูเอฟพี” ปั้นโปรเจกต์ “กุ้งครบวงจร” ย้ำคุณภาพตีตลาดโลก

บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี) หนึ่งในผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่เยือกแข็งรายใหญ่ของประเทศไทย จับมือกับผู้ประกอบการผลิตกุ้งตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เร่งปั่นคุณภาพให้ได้มาตรฐานโลกเพื่อรับมือกับมาตรการคุมเข้มจากหลายประเทศ เริ่มโปรเจกต์มีผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตลูกกุ้ง อาหารกุ้ง เกษตรกร และผู้ส่งออกเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 13 กลุ่ม ย้ำจุดยืนโปร่งใส – ยุติธรรมในทุกขั้นตอน มั่นใจ “วิน-วิน” ด้วยกันทุกฝ่าย

นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด และฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กลุ่มยูเอฟพีมียอดส่งออกปีละกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ใช้วัตถุดิบที่เป็นกุ้งเพื่อการผลิตและส่งออกปีละประมาณ 20,000 – 40,000 ตัน หรือคิดเป็น 8-12% ของกุ้งที่ผลิตได้ในประเทศไทย โดยแนวโน้มของตลาดอุตสาหกรรมการส่งออก ผู้ส่งออกไทยยังต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงอยู่ ซึ่งจะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดนำเข้าสำคัญ นอกจากนี้ยังคงมีความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตของประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพเรื่องการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้เป็นจุดแข็งของการผลิตกุ้งไทย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

“บริษัทได้จัดตั้งโครงการ “กุ้งครบวงจร” (Integrated Operation of Shrimp Business) เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกที่เป็นการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้ง ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ มีมูลค่าเกือบแสนล้านบาทต่อปี โดยมีฐานการส่งออกที่สำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และเพื่อให้พร้อมรองรับกับการแข่งขันในตลาดโลก รับมือนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) หรือการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (Free Trade Area หรือ FTA) ซึ่งไทยมีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว และประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์”

โครงการกุ้งครบวงจร (Integrated Operation of Shrimp Business) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันของกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซึ่งต้องการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการส่งออกกุ้งของประเทศไทย อาทิ บริษัท โกล์ด คอยน์ สเปเชียลิตี้ส์ ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตอาหารกุ้งรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก บริษัท ซาย อาคควา สยาม จำกัด บริษัทผู้ผลิตลูกกุ้งชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์กุ้ง กลุ่มเกษตรกร โดยแต่ละกลุ่มจะดำเนินการภายใต้กรอบและข้อกำหนดที่คณะกรรมการของโครงการได้กำหนดไว้ โดยอาศัยความร่วมมือ การดูแล และความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการในแต่ละกระบวนการทั้งผู้ผลิตอาหารกุ้ง ผู้ผลิตลูกกุ้ง ผู้เลี้ยงกุ้ง โรงงานผลิตและส่งออก รวมทั้งภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ภายใต้แนวคิด “Supply Chain” ทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพในแต่ละกระบวนการได้อย่างชัดเจนและโปร่งใสในทุกขั้นตอน (Full Traceability) และให้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับสมาชิกทุกกลุ่ม

ข้อมูลจากข้อมูลของกรมประมง ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกกุ้งไทยในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก 7.7% หรือเพิ่มจาก 418,000 ตัน เป็น 450,000 ตัน หรือ เพิ่มในด้านมูลค่าถึง 20% จาก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ