สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ : กดดันไทยเจรจา FTA

สหรัฐฯ ต้องการเจรจาจัดทำ FTA กับไทยให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2549 ก่อนที่อำนาจการเจรจาการค้าของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ (Fast Track) ภายใต้กฎหมายส่งเสริมการค้าของสหรัฐฯ (Trade Promotion Authority Act) จะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2550 โดยสหรัฐฯ อาจเพิกถอนสิทธิจีเอสพี (Generalized System of Preference : GSP) ที่ให้กับสินค้าส่งออกของไทยในปัจจุบัน หากไทยไม่พยายามเร่งรัดการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ จากปัจจุบันที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ 17,064.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2548 ที่ใช้สิทธิจีเอสพีมีมูลค่า 3,575.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จำนวนสินค้ากว่า 1,200 รายการ) ขยายตัว 13.74% จากปี 2547 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพี 3,143.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การใช้สิทธิจีเอสพีของสินค้าส่งออกไทยในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปสหรัฐฯ โดยไทยใช้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 4 ในปี 2548 รองจากประเทศอินเดีย แองโกลา และบราซิล ตามลำดับ ส่วนอันดับที่ 5 ได้แก่ อินโดนีเซีย สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ใช้ประโยชน์จากการใช้สิทธิจีเอสพี โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้าสหรัฐฯ มีมูลค่าสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อัญมณีและเครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า 2. เครื่องรับโทรทัศน์สี 3. บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก 4. ยางเรเดียล และ 5. เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินที่มีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น

สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิจีเอสพี 5 อันดับแรก

มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สินค้าส่งออกของไทย 5 อันดับแรกที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ มูลค่านำเข้าของสหรัฐฯรวมทั้งหมดจากโลก (1) มูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งหมดในโครงการ GSP (2) มูลค่านำเข้าจากไทยภายใต้โครงการ GSP (3) % สัดส่วนของ (3) ต่อการนำเข้าสินค้านี้ในโครงการ จีเอสพี % สัดส่วนของ (3) ต่อการนำเข้าสินค้านี้ทั้งหมดของสหรัฐฯ
1. อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า 5,820.5 2,768 610.4 22 10.5
2. เครื่องรับโทรทัศน์สี 476.8 170.2 189.7 111 39.8
3. บรรจุภัณฑ์ทำด้วย พลาสติก 1,262.4 204 131.8 64.6 10.4
4. ยางเรเดียล 2,504.1 100.9 90.3 89.5 3.6
5. เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินมีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น 869.7 176.0 178.5 101.4 20.5
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลจาก United States International Trade Commission (USITC) Trade Database

รายการสินค้าส่งออกของไทย 5 อันดับแรกที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ อัตราภาษี MFN (Most-Favored Nation) ปี 2548 คู่แข่งของไทยในสหรัฐฯ
อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า 5.5% อินเดีย จีน อิตาลี ฮ่องกง ตุรกี เม็กซิโก
เครื่องรับโทรทัศน์สี 3.9% มาเลเซีย จีน เม็กซิโก ฮ่องกง เบลเยี่ยม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น
บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก 3.0% แคนาดา จีน ไต้หวัน เม็กซิโก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง
ยางเรเดียล 4.0% แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ บราซิล สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส เม็กซิโก ไต้หวัน อินเดีย
เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินมีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น 5.0% จีน อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย สเปน อิสราเอล แคนาดา ฮ่องกง
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลจาก USITC Trade Database และ United States Trade Representative (USTR)

สินค้าไทยที่อยู่ในข่ายถูกตัดสิทธิจีเอสพีในการทบทวนโครงการการให้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ในเดือนกรกฎาคม 2549 ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก (HS 3923.21.00) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าบรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติกของสหรัฐฯ จากไทย ในปี 2548 มูลค่า 131.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินกว่าเพดานที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ (Competitive Need Limits : CNL) ที่มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติกส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา MFN ที่ 3% จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีภายใต้โครงการสิทธิจีเอสพี แต่ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยมากนัก เพราะมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ และการถูกตัดสิทธินี้ไม่ได้เป็นการถาวร หากปีต่อมามูลค่าส่งออกสินค้านี้ของไทยมีมูลค่าต่ำกว่าเพดานที่กำหนด ไทยสามารถร้องขอคืนสิทธิจีเอสพี หรือขอยกเว้นเพดานการส่งออก (Competitive Need Limits Waivers : CNL Waivers) โดยสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้โดยไม่จำกัดเพดาน แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทั้งนี้สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เคยถูกสหรัฐฯ ระงับสิทธิจีเอสพี เนื่องจากส่งออกไปสหรัฐฯ เกินเพดานที่กำหนด เช่น ของที่ประกอบด้วยอัญมณีที่มีค่าและกึ่งมีค่า เตาไมโครเวฟ กระเบื้อง- ปูพื้นและผนัง เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ที่ทำด้วยโลหะเงิน และภาชนะหุงต้มและเครื่องครัวอื่นๆ ทำด้วยอลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เกินเพดานที่กำหนดในปี 2548 แต่ไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพี เนื่องจากสหรัฐฯ ยกเว้นเพดานการส่งออกสินค้าดังกล่าวให้ไทย ได้แก่ เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงิน และเครื่องรับโทรทัศน์สี โครงการสิทธิจีเอสพีที่ไทยได้รับจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ (เริ่มต้น 1 ตุลาคม 2544 – 31 ธันวาคม 2549) จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ยื่นเสนอขอต่ออายุโครงการฯ ออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2554 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากในช่วงระยะหลังมานี้ การต่ออายุโครงการจีเอสพี สหรัฐฯ ต้องคำนึงถึงกฎการบริหารงบประมาณสำหรับโครงการจีเอสพี คือ ต้องหาเงินอุดหนุนโครงการให้ได้ก่อนต่ออายุโครงการสิทธิจีเอสพี

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ให้อำนาจกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยประธานาธิบดีจะใช้ดุลพินิจเพื่อผ่อนผันการระงับสิทธิจีเอสพี และการคืนสิทธิจีเอสพีให้กับประเทศต่างๆ ได้ โดยนอกจากจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว เช่น ระดับการพัฒนาของประเทศ ยังคำนึงถึงเงื่อนไขการเปิดตลาดสินค้า ภาคบริการและการลงทุน ประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิแรงงาน รวมทั้งการให้การสนันสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย ว่าได้ดำเนินการเป็นที่พอใจของสหรัฐฯ หรือไม่ โดยประเทศที่ถูกเพิกถอนสิทธิจีเอสพีในอดีตที่ผ่านมา เช่น

– ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ถูกเพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปี 2532 เนื่องจากมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง และมีความสามารถทางการแข่งขันแล้ว
– นิคารากัว ถูกเพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปี 2528 เนื่องจากละเมิดสิทธิแรงงาน
– อาร์เจนตินาถูกระงับสิทธิจีเอสพีครึ่งหนึ่งในปี 2540 และยูเครนถูกระงับสิทธิจีเอสพีชั่วคราว ในปี 2544 เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

มาเลเซียเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียนได้ถูกสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปี 2540 โดยสหรัฐฯ ระบุว่า มาเลเซียมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงและมีความสามารถทางการแข่งขันแล้ว ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมาเลเซียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีดังกล่าว (2540) มาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้สิทธิจีเอสพีสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปีนั้น

การที่มาเลเซียจะเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในกลางปี 2549 และสหรัฐฯ พยายามให้การเจรจากับมาเลเซียได้ข้อสรุปภายในปี 2549 มีแนวโน้มว่า สินค้าส่งออกของมาเลเซียไปสหรัฐฯ จะมีขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเป็นคู่แข่งกับไทยในหลายสินค้าในตลาดสหรัฐฯ เช่น บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก ซึ่งไทยกำลังจะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีในเดือนกรกฎาคมนี้ และเครื่องรับโทรทัศน์สี ซึ่งมาเลเซียครองตลาดเครื่องรับโทรทัศน์สีในสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ในปี 2548 (สัดส่วน 47% ของการนำเข้าสินค้านี้ทั้งหมดของสหรัฐฯ) ตามมาด้วยไทยเป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 40%)

สิทธิจีเอสพี … กดดันไทยเจรจา FTA & ข้อควรระวัง

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีบุช เสนอรายงานการประเมินสถานะทางการค้าของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ (National Trade Estimate : NTE) ในวันที่ 30 มีนาคม 2549 ต่อรัฐสภา และช่วงปลายเดือนเมษายน 2549 นี้ สหรัฐฯ จะออกรายงานประจำปี “Special 301” ระบุถึงความเพียงพอและความมีประสิทธิภาพในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ จะนำประเด็นนี้มาประกอบการพิจารณาในการต่ออายุสิทธิจีเอสพีให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย

ในรายงานการประเมินสถานะทางการค้าของไทย สหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ประสบอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการของไทย รวมทั้งความเสียหายที่อุตสาหกรรมสหรัฐฯ ได้รับจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯต้องการผลักดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าและบริการมากขึ้นโดยการลดภาษี และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดไทยรวมทั้งการกดดันให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น ผ่านการเจรจาจัดทำ FTA กับไทย

สรุปประเด็นสำคัญในรายงานของสหรัฐฯ ที่ประเมินสถานะทางการค้าของไทย

การค้า

– อัตราภาษีศุลกากรที่อยู่ในระดับสูงของไทยเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าสหรัฐฯ ในหลายๆ สาขา โดยภาษี MFN ของไทยมีอัตราเฉลี่ย 11.46% (อัตราภาษี MFN เฉลี่ยของสินค้าเกษตร 24.32% และสินค้าอุตสาหกรรม 9.48%) อัตราภาษีสูงสุดของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เส้นใย กระดาษและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ร้านอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า การส่งออกของสหรัฐฯ มาไทยจะเพิ่มขึ้น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (จากปัจจุบันที่ไทยนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ ราว 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548) หากอัตราภาษีและมาตรการบิดเบือนทางการค้าต่างๆ ของไทยลดลงหรือถูกยกเลิกไป

ภาคบริการ

– รายงานระบุว่า แม้ไทยจะมีความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเปิดเสรีภาคโทรคมนาคม โดยไทยผูกพันการเปิดเสรีโทรคมนาคมพื้นฐานในเดือนมกราคม 2549 ภายใต้ข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก แต่มีบางประเด็นที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปลงทุนของต่างชาติ เช่น บริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น mobile telephony และ broadband internet services สหรัฐฯ ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการในไทยได้อย่างเต็มที่

– บริการทางการเงิน
ปัจจุบันไทยยังคงจำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติในธนาคารไทยไม่เกิน 25% (หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ไทยผ่อนคลายสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นการชั่วคราว) และมีข้อจำกัดจำนวนใบอนุญาตแก่ธนาคารรายใหม่ของสหรัฐฯ ในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย นอกจากนี้ สาขาธนาคารต่างประเทศมีข้อเสียเปรียบในการแข่งขันหลายประการ เช่น ถูกจำกัดจำนวนสาขาซึ่งมีเพียง 1 สาขา และยังคงมีข้อจำกัดในเรื่อง ATM

– สาขาขนส่งที่รวมถึงบริการขนส่งด่วนพิเศษ (express delivery services)
การจำกัดสัดส่วนหุ้นต่างชาติที่ไม่เกิน 49% ในการขนส่งทางบก (รถบรรทุก) เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของการลงทุนให้บริการขนส่งด่วนพิเศษ นอกจากนี้ สหรัฐฯ เห็นว่า การผ่านกฎหมาย พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของไทยในเดือนกรกฎาคม 2548 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้ ก่อให้เกิดความไม่แน่ใจในข้อปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนส่งทางทะเลของต่างชาติ เนื่องจากในปัจจุบันกฎระเบียบในการปฏิบัติ (implementing regulations) ซึ่งร่างโดยกระทรวงคมนาคมยังไม่เสร็จสิ้น แม้ว่ากฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548

ทรัพย์สินทางปัญญา

– รายงานของอุตสาหกรรมด้านสิขสิทธิ์ของสหรัฐฯประมาณการ ว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าราว 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 โดยไทยถูกสหรัฐฯจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตา “Watch List” ตั้งแต่ปี 2537 สหรัฐฯ ระบุว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเคเบิลในไทยเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากผู้ให้บริการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ขยายการให้บริการไปถึงต่างจังหวัด ซึ่งมาตรการของภาครัฐในการป้องกันการละเมิดสิทธิ์หยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (National Broadcasting Commission) และรอการออกกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ดำเนินการด้านเคเบิล (cable operator)

– สหรัฐฯ เห็นว่า กฎหมายไทยด้าน optical disk ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2548 ยังบกพร่องในหลายด้าน เช่น บทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอที่จะยับยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ได้เพิ่มอำนาจของภาครัฐในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ในด้านการผลิตหนังสือ โดยเฉพาะการทำสำเนา ส่งผลให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ขาดทุนราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ปลายเดือนเมษายน 2549 สหรัฐฯ จะออกรายงานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะของประเทศคู่ค้าซึ่งจะมีรายละเอียดมากขึ้น

? สหรัฐฯ นำประเด็นเรื่องการทบทวนการให้สิทธิจีเอสพีในเดือนกรกฎาคม 2549 และการต่ออายุโครงการจีเอสพีที่จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2549 มากดดันไทยให้สานต่อการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วภายในปีนี้ ก่อนที่อำนาจการเจรจาการค้าของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งการถูกระงับสิทธิจีเอสพีจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เพราะปัจจุบันสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิจีเอสพีมีมูลค่าราว 3,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิจีเอสพี 20 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม หากสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ถูกตัดสิทธิจีเอสพี จะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เพราะสินค้าส่งออกของไทยที่เคยได้รับสิทธิจีเอสพีไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าสหรัฐฯ จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตรา MFN (Most-Favored Nation) โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่จะได้รับผลกระทบมาก เพราะมีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีสูงที่สุด โดยจะต้องเสียภาษี MFN เฉลี่ยราว 7% และต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีศักยภาพอย่างอินเดียและจีน

นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในสินค้าหลายรายการ ได้แก่ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ กำหนดจะเริ่มเจรจา FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในช่วงกลางปี 2549 โดยสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้การเจรจาดังกล่าวได้ข้อสรุปภายในปี 2549 คาดว่า หากสหรัฐฯ เจรจาจัดทำ FTA กับมาเลเซียและเกาหลีใต้ เสร็จสิ้นก่อน FTA ไทย-สหรัฐฯ จะทำให้สินค้าส่งออกจากมาเลเซียและเกาหลีใต้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยมีความได้เปรียบทางภาษีมากขึ้น รวมทั้งประเทศอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะเป็นคู่เจรจา FTA กับสหรัฐฯ รายต่อไป เพราะขณะนี้อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ หลังจากการศึกษาดังกล่าวหยุดชะงักไปหลายปี ซึ่งการสานต่อการศึกษา FTA นี้ เป็นผลมาจากแรงผลักดันจากภาคเอกชนอินโดนีเซียที่กลัวว่า หากอินโดนีเซียไม่เจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ จะสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างไทยในตลาดสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐฯ และการช่วงชิงความได้เปรียบก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อการขยายการส่งออกของไทยในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 และไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่การเจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และการต่อรองควรได้ประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน โดยไม่ควรเร่งรีบเจรจาจนละเลยผลประโยชน์ที่ไทยต้องการ แม้แต่มาเลเซียและเกาหลีใต้ก็มีท่าทีไม่ยอมรับเงื่อนเวลาที่สหรัฐฯ ต้องการให้การเจรจา FTA ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หากเห็นว่าการเจรจาไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ หากไทยตกลงจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ และความตกลง FTA มีผลบังคับใช้แล้ว สิทธิจีเอสพีที่ไทยเคยได้รับในลักษณะการให้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ จะถูกเพิกถอนไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์จากการเจรจาต่อรองเพื่อการเข้าสู่ตลาดซึ่งกันและกันภายใต้ FTA ไม่ใช่การให้ของสหรัฐฯ ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ดังเช่นกรณีของเม็กซิโกที่ถูกสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิจีเอสพีในปี 2537 เนื่องจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีอเมริการเหนือ (NAFTA) ร่วมกับสหรัฐฯ และแคนาดา แต่ประเด็นสำคัญ คือ การเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการลดภาษีศุลกากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปิดตลาดภาคบริการ และประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ไทยอาจจะต้องแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ โดยเปิดตลาดภาคบริการให้สหรัฐฯมากขึ้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

สหรัฐฯ ไม่เพียงต้องการใช้กลยุทธ์การจัดทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและสร้างโอกาสให้กับสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดประเทศคู่เจรจา FTA เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยปี 2548 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 766,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18% จาก 651,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2547 โดยขาดดุลการค้ากับไทย 8,380.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังต้องการขยายตลาดส่งออกสินค้าภาคบริการที่สหรัฐฯ มีศักยภาพ ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เกินดุลการค้าภาคบริการ (trade in services) และเป็นประเทศส่งออกบริการที่สำคัญของโลก เช่น บริการทางการเงิน การขนส่ง และการศึกษา สหรัฐฯ จึงต้องการให้ประเทศคู่เจรจา FTA ลด/เลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจให้บริการสาขาต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ หวังว่า การขยายตัวของการส่งออกบริการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐฯ ขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี โดยในปี 2548 สหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 6.3-6.4% ของ GDP (US Trade Policy Review, WTO, 2006)

การจัดทำ FTA ของไทยกับสหรัฐฯ จึงต้องพิจารณาทั้งประเด็นด้านผลดีจากการขยายการส่งออกของไทยในสหรัฐฯ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทย พร้อมกับเตรียมรับมือกับการเปิดตลาดสินค้าภายในประเทศที่ไทยต้องลดภาษีให้สหรัฐฯ รวมทั้งตั้งรับกับการเปิดตลาด ภาคบริการและการลงทุนของไทย โดยเร่งให้ภาคธุรกิจของไทยเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับบริษัทสหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับทุนและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมทั้งประเด็นความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่มีทั้งแง่ผลดีกับประเทศไทยด้านการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์/คิดค้นของคนไทยเอง สวัสดิการ/ความเป็นอยู่ของแรงงานที่ดีขึ้น และการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และแง่ผลเสียที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป โดยเฉพาะผลเสียจากการเข้าถึงยารักษาโรคได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดด้านการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ทำให้ราคายาในประเทศแพงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการดำเนินการของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น จากมาตรฐานที่สูงขึ้นของระดับการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม