ฟิทช์ คงอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+’

ฟิทช์ เรทติ้งส์ –ฮ่องกง/สิงคโปร์- 24 เมษายน 2549: ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (“IDR”) ของประเทศไทยที่ ‘BBB+’ และ ‘A’ ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น IDR ที่ ‘F2’ และเพดานอันดับเครดิตของประเทศที่ ‘A-’ (A ลบ) แนวโน้มอันดับเครดิตทั้งหมดมีเสถียรภาพ

ความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทยได้ผ่อนคลายลงหลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศไม่รับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งในต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ยังไม่ชัดเจนก็ยังไม่ได้คลี่คลายไปเสียทั้งหมด จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยังไม่ครบองค์ประชุมส่งผลให้เกิดความครุมเครือเกี่ยวกับกำหนดการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ความไม่สงบทางการเมืองก็ได้ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจในระยะสั้นและฟิทช์ได้ปรับประมาณการการเติบโตของผลผลิตรวมภายในประเทศ (“Gross Domestic Product” หรือ GDP) เป็น 4.3% จาก 5.0% Vincent Ho, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ในทีมจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ในฮ่องกง กล่าวว่า “หากความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการสร้างสรรค์ทางนโยบายบางนโยบายเช่นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (“Mega Projects”) เกิดความล่าช้า”

ฟิทช์ ได้ระบุว่าเครื่องชี้ภาวะทางด้านเครดิตที่สำคัญของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’ แม้ว่าประเทศไทยจะยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ดำเนินต่อไป การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง Mr. Ho กล่าวว่า “ประเทศไทยได้สามารถผ่านพ้นแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2541 เมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ อัตราการว่างงานที่ต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น”

ความมั่นคงแข็งแกร่งของรายได้ของแผ่นดินยังคงดำเนินต่อเนื่องมาในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนกันยายน 2548 โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากรายได้จากภาคธุรกิจและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับปรุงวิธีการเรียกเก็บภาษีส่งผลให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ เมื่อประกอบกับการลดรายจ่ายลงทุนเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่างบประมาณรัฐบาลจะเกินดุลมาอยู่ที่ระดับ 0.6% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐานของกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’ เมื่อตั้งสมมุติฐานว่าการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ mega project เกิดความล่าช้า และไม่มีการปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจอีก ฟิทช์คาดว่าดุลงบประมาณในปี 2549 จะเกินดุลที่ระดับ 0.3% ของ GDP หนี้สินของภาครัฐ ซึ่งรวมหนี้สินโดยตรงของรัฐบาลและหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (“Financial Institutions Development Fund” หรือ “FIDF”) คาดว่าจะลดลงเป็น 27.8% ของ GDP ในปี 2549 จากระดับ 31.9% ในปี 2548 (โดยระดับหนี้สินดังกล่าวเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐานของกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’) นอกเหนือจากนั้น อัตราส่วนหนี้สินของภาครัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินต่อ GDP ก็คาดว่าจะลดลงเป็น 39.5% ในปี 2549 จาก 46.1% ในปี 2549

ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเริ่มขาดดุลอีกครั้งในปีที่แล้ว ที่ 3.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 2.1% ของ GDP ถือเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2541 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น Mr. Ho กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฟิทช์ สถานการณ์ดังกล่าว ถือว่ายังไม่น่าวิตกสำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ‘BBB+’ เช่นประเทศไทย ที่จะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด” กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในตลาดทุนจำนวนมากส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงในเงินสำรองในปี 2548 ยังคงเป็นบวก เงินสำรองระหว่างประเทศ (ซึ่งรวมทองคำด้วย) เพิ่มขึ้นถึง 4.6% ไปสู่ระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 52.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2548 ซึ่งเทียบเท่ากับ 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและเทียบเท่า 4.5 เดือนของรายจ่ายดุลบัญชีเดินสะพัด (“Current External Payment” หรือ “CXP”)

ยอดหนี้ต่างประเทศ (“Gross External Debt” หรือ “GXD”) ของประเทศไทยยังคงลดลงในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 51.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดหลังจากวิกฤตการณ์การเงิน อัตราส่วน GXD ต่อรายรับดุลบัญชีเดินสะพัด (“Current External Receipts” หรือ “CXR”) ลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีมาอยู่ที่ระดับ 37.8% ในปี 2548 ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับที่ต่ำที่สุดของกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ (“Net External Creditor”)ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’ และฐานะเงินปล่อยกู้ต่างประเทศสุทธิ (“Net External Credit Position”) ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 12.8% ของ CXR ในปีที่แล้ว สัดส่วนสภาพคล่องต่างประเทศ (“External Liquidity Ratio”) ก็คาดการณ์ว่าจะลดลงเป็น 289.4% ในปี 2549 จาก 299.4% ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ตั้งข้อสังเกตว่าระดับดังกล่าวยังคงเป็นระดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’

ติดต่อ
Vincent Ho/ vincent.ho@fitchratings.com, ฮ่องกง +852 2263 9921
Ai Ling Ngiam/ ailing.ngiam@fitchratings.com, ฮ่องกง +852 2263 9913
James McCormack, james.mccormack@fitchratings.com, ฮ่องกง +852 2263 9925

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน