โฆษณาเวิลด์คัพ 2006: ผู้บริโภคสามารถจดจำแบรนด์ แม้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อต่ำ

มหกรรมฟุตบอลโลก 2006 กำลังจะปิดฉากลงแล้วในวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 นี้ ซึ่งแฟนบอลลูกหนังคนไทยก็ได้สัมผัสถึงความสนุกสนานอย่างเต็มที่ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากต้องรอคอยมานานถึง 4 ปีเต็ม และคงจะได้เห็นลีลาที่หลากหลายของบรรดาแข้งทองระดับโลกจากหลายทวีป รวมถึงสีสันตระการตาจากเหล่ากองเชียร์ที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในส่วนของภาษา วัฒนธรรม และรูปแบบการเชียร์ แต่ก็สามารถสร้างความบันเทิงไม่น้อยให้แก่แฟนบอลที่ได้รับชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามชม/ชิงโชคของคนกรุงเทพฯในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ในระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2549 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 820 รายในกลุ่มอายุ 15-65 ปี พบว่ากระแสฟุตบอลโลกในปีนี้ได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯค่อนข้างมาก โดยสัดส่วนร้อยละ 86.7 ของกลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยมีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่ไม่สนใจดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯมีความตั้งใจในการติดตามชมการถ่ายทอดเกมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ในระดับที่สูงพอสมควร อีกทั้งกลุ่มแฟนบอลลูกหนังก็ยังกระจายตัวในวงกว้างมากขึ้นด้วยจากกลุ่มผู้ชายไปสู่กลุ่มแฟนบอลที่เป็นผู้หญิง ขณะเดียวกันแฟนบอลรุ่นเยาว์ที่มีอายุ 15-19 ปีก็ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวัยรุ่นไทยจะหันมาสนใจเล่นกีฬาฟุตบอล และขยายตัวไปสู่กีฬาอื่นกันมากขึ้นตามไปด้วย และจากการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ต้องการให้ให้แฟนลูกหนังชาวไทยได้รับชมเกมการแข่งขันอย่างเต็มอรรถรส โดยไม่มีโฆษณาคั่นในระหว่างเกมการแข่งขัน ทำให้บรรดาผู้ประกอบการสินค้าหลายรายที่ต้องการเกาะกระแสฟุตบอลโลกเพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย จึงเลี่ยงไปนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์โดยอิงกระแสฟุตบอลโลกครั้งนี้ในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาการถ่ายทอดสดทดแทน ซึ่งผลการสำรวจครั้งนี้ก็พบว่าภาพยนตร์โฆษณาอิงกระแสฟุตบอลโลกที่เผยแพร่นับตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ได้รับความสนใจไม่น้อยจากบรรดาแฟนลูกหนังจนสามารถจดจำตราสินค้าได้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาสินค้าต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้านั้นๆในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้มากนักก็ตาม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเม็ดเงินโฆษณาหมุนเวียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 43,500-44,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในปี 2549 ก็น่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 5-10

แฟนลูกหนังคนไทยกว่าร้อยละ 80 : ติดตามมหกรรมบอลโลก 2006
ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของกีฬาฟุตบอลติดอันดับต้นๆของแฟนลูกหนังทั่วโลก ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในครั้งนี้ก็พบว่ากระแสความสนใจติดตามชมเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังคงได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯค่อนข้างมาก โดยสัดส่วนร้อยละ 86.7 ของกลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยมีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่ไม่สนใจดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ส่งผลให้กลุ่มเจ้าของสินค้าและบริการหลายรายจึงต่างพยายามสรรหากลยุทธ์ต่างๆเพื่อเกาะกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์สำหรับการกระตุ้นยอดขาย ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์การโฆษณาด้วยที่พบว่า เจ้าของสินค้าและบริการหลายรายได้มีการนำเสนอเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับตราสินค้ามาตั้งแต่ต้นปี 2549 สำหรับรูปแบบการโฆษณาในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้ในเมืองไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.ภาพยนตร์โฆษณาของบรรดาผู้สนับสนุนรายการหลักของการถ่ายทอดสดมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ในช่วงเกมการแข่งขันที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2549 ซึ่งจะสามารถฉายโฆษณาได้เพียงช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ระหว่างพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขันเท่านั้น เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้มีนโยบายที่จะไม่มีการโฆษณาในระหว่างเกมการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ชมชาวไทยได้รับความสนุกสนานอย่างเต็มที่กับเกมฟุตบอลระดับโลกครั้งนี้ และ 2.ภาพยนตร์โฆษณาของบรรดาเจ้าของสินค้าที่หวังเกาะกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์ แต่เลือกนำเสนอในช่วงเวลาอื่นๆที่ไม่ใช่เวลาการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะการเป็นผู้สนับสนุนรายการในช่วงข่าวกีฬา หรือรายการวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่สถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุแต่ละสถานีต่างระดมทีมงานเพื่อจัดรายการเอาใจแฟนลูกหนังกันอย่างเต็มที่ ซึ่งภาพยนตร์โฆษณาในส่วนนี้ได้เริ่มเผยแพร่มาตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว

สำหรับประเด็นในด้านพฤติกรรมการชมโฆษณาของคนกรุงเทพฯกับฟุตบอลโลก 2006 ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
?ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาอิงกระแสฟุตบอลโลก 2006 นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ถึงร้อยละ 86.5 และมีเพียงร้อยละ 13.5 เท่านั้นที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเมื่อได้ชมภาพยนตร์โฆษณาสินค้าและบริการต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าว และประเภทสินค้าที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุดคือ กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมขบเคี้ยว ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการสำรวจที่พบว่ากลุ่มผู้ชายคือกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากการโฆษณามากกว่าหญิง

?อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจความคิดเห็นถึงความสนใจต่อโฆษณาที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ในระหว่างการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันในแต่ละนัด ที่แม้ว่าจะสามารถฉายภาพยนตร์โฆษณาได้เพียงในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ระหว่างพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขันเท่านั้นก็พบว่า กลุ่มที่ให้ความสนใจต่อภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 71.7 ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสนใจเลยนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 28.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสนใจต่อโฆษณาในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ระหว่างพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขันฟุตบอลโลกของคนกรุงเทพฯในปีนี้อยู่ในระดับที่สูงพอสมควร

?สำหรับภาพยนตร์โฆษณาที่อิงกระแสฟุตบอลโลกของสินค้าและแพร่ภาพทางโทรทัศน์นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 เป็นต้นมา ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จดจำได้มากส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในเครือของบรรดาผู้สนับสนุนหลักของการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกนั้นเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อย่างน้ำอัดลม ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยว และรองเท้ากีฬา ตามลำดับ นอกจากนี้ยังกระจายไปในกลุ่มผงซักฟอก อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และห้างสรรพสินค้า/ดิสเคานท์สโตร์ เป็นต้นด้วย

?เป็นที่น่าสังเกตว่า ชนิดของสินค้าและบริการที่มีการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และไม่ได้เจาะเฉพาะกลุ่มผู้ชายวัยทำงานเหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจาก ปัจจุบันกระแสความนิยมในเกมการแข่งขันฟุตบอลในเมืองไทยขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น ทำให้กลุ่มเป้าหมายของบรรดาผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆจึงเปิดกว้างมากขึ้น

กลุ่มเป้าหมายขยายตัว : ตามกระแสความนิยมฟุตบอลที่กว้างขวางขึ้น
จากการสำรวจพฤติกรรมการติดตามชม/ชิงโชคของคนกรุงเทพฯในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ครั้งนี้ พบประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มที่ติดตามชมฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

? แม้กลุ่มที่ติดตามดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.3 และที่เหลืออีกร้อยละ 41.7 เป็นกลุ่มคนดูผู้หญิง แต่หากเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ที่พบว่ากลุ่มผู้ชายที่ติดตามดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2002 เป็นสัดส่วนร้อยละ 60.8 และที่เหลืออีกร้อยละ 39.2 เป็นกลุ่มคนดูผู้หญิง ก็แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ผู้หญิงให้ความสนใจชมการถ่ายทอดเพิ่มมากขึ้นกว่า 4 ปีก่อน
? นอกจากนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมดังกล่าว ยังพบด้วยว่า ลักษณะการดูการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ของกลุ่มอายุ 15-19 ปีที่แม้ว่าจะเลือกชมตามวันเวลาที่สะดวกมากที่สุด แต่ลักษณะการเลือกชมเกมการแข่งขันที่เลือกตามมาเป็นอันดับสองเป็นการดูทั้ง 64 นัด แม้ว่าจะต้องรอคอยจนดึกดื่นจนกระทั่งเช้าของวันใหม่ก็ตาม แล้วจึงตามมาด้วยการเลือกติดตามดูเฉพาะทีมที่สนใจ และเลือกเริ่มต้นดูตั้งแต่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ตามลำดับ ขณะที่ผู้คนในวัยอื่นๆ หรือกลุ่มอายุ 20-65 ปี ส่วนใหญ่มักเลือกดูฟุตบอลโลกครั้งนี้ตามวันเวลาที่สะดวกมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 43.4 ตามมาด้วยการเลือกดูตามทีมที่สนใจ การเริ่มต้นดูตั้งแต่การแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศเท่านั้น และการติดตามดูทุกนัด

? โดยทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเกมการแข่งขันครั้งนี้คือทีมสิงโตคำรามอังกฤษ ตามมาด้วยบราซิล เจ้าภาพเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศสตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นทีมที่มีนักเตะแข้งทองที่แฟนบอลชาวไทยค่อนข้างคุ้นเคยจากเกมลูกหนังระดับสโมสรฟุตบอลลีกในกลุ่มประเทศยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษ บุนเดสลีกาของเยอรมนี ลา ลีกา สเปน ของประเทศสเปน รวมถึง กัลโช่ ซีรี่ อา ในอิตาลี และลีก เอิง ในฝรั่งเศส ซึ่งแม้ว่าทีมอังกฤษและทีมบราซิลจะตกรอบก่อนรองชนะเลิศ(รอบ 8 ทีมสุดท้าย) ไปแล้ว และสร้างความผิดหวังให้แก่แฟนลูกหนังชาวไทยไม่น้อย แต่ผู้ที่ชื่นชอบทั้งทีมอิตาลี และฝรั่งเศสก็ยังสามารถลุ้นเชียร์ทีมรักทีมโปรดต่อไปได้อีกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ เพราะทั้งสองทีมดังกล่าวเป็นคู่ชิงชนะเลิศสำหรับมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้

? กลุ่มแฟนบอลที่เลือกดูฟุตบอลโลกตามวันเวลาที่สะดวกนั้น พบว่า ส่วนใหญ่เลือกที่จะชมการถ่ายทอดสดเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่านั้นในระดับสัดส่วนร้อยละ 45.0 ตามมาด้วยการเลือกชมในวันหรือเวลาที่มีโอกาสตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.8 ส่วนกลุ่มที่เลือกชมเกมการแข่งขันเฉพาะวันธรรมดาตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์นั้นมีสัดส่วนร้อยละ 18.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการจะชมมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ยอมพลาดการดูการถ่ายทอดสดทั้งในวันธรรมดาและวันเสาร์อาทิตย์คือคู่แรกที่เริ่มแข่งขันในเวลา 20.00-22.00 น

? สำหรับการเลือกดูฟุตบอลโลกตามวันเวลาที่สะดวกเมื่อแยกตามอายุนั้น พบว่าในวันเสาร์-อาทิตย์กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี และกลุ่มที่มีอายุ 35-39 ปีนิยมเลือกดูคู่แรกเพียงคู่เดียวเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการเลือกดูสองคู่แรกควบ และการดูทั้งสามคู่ ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มที่มีอายุ 15-19 ปีนั้นในวันเสาร์-อาทิตย์นิยมที่จะเลือกดูเฉพาะคู่แรกที่แข่งขันในเวลา 20.00-22.00 น. มากที่สุด ตามมาด้วยการเลือกดูทุกคู่ ส่วนในวันธรรมดาจันทร์-ศุกร์นั้น พบว่าทุกกลุ่มอายุต่างนิยมที่จะเลือกดูคู่ที่เริ่มแข่งขันในเวลา 20.00 น.เป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 57.1 รองลงมาเป็นการเลือกดูการแข่งขันในคู่ที่ 1 และ 2 ควบคู่กัน(สัดส่วนร้อยละ 26.4) และการเลือกดูเฉพาะคู่ที่สองเท่านั้นสำหรับรอบแรกหรือคู่ที่ถ่ายทอดในเวลา 23.00 น.(สัดส่วนร้อยละ 11.4) ตามลำดับ

? ทั้งนี้กลุ่มที่ไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันในแต่ละนัดนั้นพบว่าร้อยละ 46.9 ของกลุ่มที่ไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดนั้นก็ไม่สนใจที่จะติดตามความเคลื่อนไหวผลการการแข่งขันเลย แต่ขณะเดียวกันอีกร้อยละ 53.1 ของกลุ่มที่ไม่ได้ชมการถ่ายทอดเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของเกมฟุตบอลโลกและผลการการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกติดตามจากหลายวิธีการควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นจากรายการวิเคราะห์เกมตามรายการต่างๆทางโทรทัศน์ และข่าวกีฬาผ่านสื่อต่างๆทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อหนังสือพิมพ์ (ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน และหนังสือพิมพ์กีฬา) รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต ที่คาดว่าน่าจะก้าวขึ้นมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับด้วย เนื่องจากสะดวกและรวดเร็วกว่าสื่อบางสื่อ

บทสรุป
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามชม/ชิงโชคของคนกรุงเทพฯในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ในระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2549 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 820 รายในกลุ่มอายุระหว่าง 15-65 ปี พบว่ากระแสติดตามชมเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ยังคงได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯค่อนข้างมาก และแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาตลอดช่วงกระแสฟุตบอลโลก 2006 นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในช่วงฟุตบอลโลก 2006 แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ากลุ่มคนกรุงเทพฯจดจำภาพยนตร์โฆษณาที่อิงกระแสฟุตบอลโลกและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ได้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันในแต่ละนัด ที่แม้ว่าจะฉายได้เฉพาะในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ระหว่างพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขันเท่านั้น หรือภาพยนตร์โฆษณาอิงกระแสฟุตบอลโลกที่เผยแพร่ในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงเวลาการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขัน ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกได้ถึงการรับรู้ในแบรนด์ของสินค้าหรือบริการนั้นๆในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเจ้าของกิจการมีการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลหลังจากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 สิ้นสุดลงแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดการสร้างและกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตราสินค้ากับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งเก่าและใหม่ ผู้จัดจำหน่าย และสาธารณชน มากขึ้นตามมาได้ และน่าจะนำไปสู่ความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว รวมถึงการกระตุ้นยอดขายของกิจการในที่สุด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เม็ดเงินโฆษณาในเมืองไทยจะเติบโตประมาณร้อยละ 4.5-5.0 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 ที่เติบโตร้อยละ 2.44 แต่มีความเป็นไปได้ว่ามหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ครั้งนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดเม็ดเงินโฆษณาสะพัดรุนแรงเท่าฟุตบอลโลก 2002 หรือฟุตบอลยูโร 2004 (ในปี 2545 เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมเติบโตร้อยละ 15.51 ขณะที่ในปี 2547 เติบโตร้อยละ 16.96 ) โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในปี 2549 จะมีอัตราการเติบโตในระดับร้อยละ 5-10 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยลบต่าง ๆนับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งของภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการหลายรายจึงต่างต้องวางแผนในการใช้จ่ายงบโฆษณาอย่างรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการคุ้มค่ามากที่สุดต่อการลงทุน